Loading...

ประชาธิปไตยไทยยังหยั่งรากไม่สำเร็จ (?)

                                          ภาพจาก: รวมภาพในอดีตเล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ All Old Pictures In The Past.

        เดือนตุลาคมถือเป็นเดือนที่สำคัญอีกเดือนหนึ่งของประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เนื่องจากในเดือนนี้เคยเกิดเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง ซึ่งเป็นบทเรียนต่อการสร้างประชาธิปไตยให้มั่นคงในประเทศไทย

        การที่ผู้คนจำนวนมากออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้สะท้อนถึงความกล้าหาญที่จะเผชิญกับอำนาจเผด็จการ การให้ความสำคัญต่อความยุติธรรมและความเท่าเทียม การชุมนุมประท้วงที่มีผู้เข้าร่วมนับร้อยนับพันชีวิตได้กลายเป็นสิ่งที่แสดงถึงการยืนหยัด ไม่ย่อท้อ และเชื่อมั่นในประชาธิปไตย แต่การเคลื่อนไหวเหล่านั้นได้ทำให้ประชาธิปไตยหยั่งรากลึกอย่างมั่นคงในประเทศไทยแล้วหรือไม่ ?

        LSEd Social Change ชวนย้อนรำลึกเหตุการณ์แห่งชัยชนะของประชาชนในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลให้ประชาธิปไตยอาจยังคงตั้งมั่นไม่สำเร็จในสังคมไทย พร้อมทั้งถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม อย่างเช่น เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ผ่านบทสัมภาษณ์ของ อาจารย์ตะวัน ย้อยเมือง หรือ อ.ฮัลเล่ย์ คุณครูประจำกลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้มนุษย์กับสังคม โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีความสนใจและเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง (Politics and Government)

                                           ภาพจาก: รวมภาพในอดีตเล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ All Old Pictures In The Past.

        อ.ฮัลเล่ย์ เล่าว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดในระบอบการเมืองไทยสมัยใหม่ เพราะประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475 แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ได้ยั่งยืนตั้งมั่นอยู่ในสังคม ภายในระยะเวลาเพียง 10 - 20 ปี ก็ได้มีเผด็จการทหารเข้ามาปกครอง ในช่วงปี 2490 เกิดการแตกหักทางการเมืองภายใน นำมาสู่การขึ้นสู่อำนาจของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งครองอำนาจอยู่นานสิบกว่าปี สุดท้ายก็เกิดความขัดแย้งนำไปสู่การรัฐประหารโดยลูกน้องของตนเอง คือ จอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์

        หนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่บ่งชี้ให้เห็นว่า จอมพลสฤษดิ์ใช้การปกครองแบบเผด็จการ คือธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 มีอยู่ทั้งหมด 20 มาตรา โดยเฉพาะมาตราสำคัญคือ มาตรา 17 ที่กล่าวถึงการให้อำนาจนายกรัฐมนตรีสามารถสั่งลงโทษประหารชีวิตผู้ที่มีความผิดได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการของศาลยุติธรรม หมายความว่าหากผู้ใดมีความผิดฐานทำลายความมั่นคงของประเทศ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นหรือ จอมพลสฤษดิ์ สามารถใช้อำนาจสั่งประหารชีวิตได้ทันที โดยผู้ถูกกล่าวหาจะไม่มีสิทธิต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมผ่านทางศาลได้

        หลังจากจอมพลสฤษดิ์ เสียชีวิต จอมพลถนอม กิตติขจร ก็ได้ขึ้นมาสืบทอดอำนาจเผด็จการต่อ เป็นช่วงเวลาของเผด็จการทหารที่ยาวนานถึง 16 ปี หรือที่เรียกกันว่า “ระบอบสฤษดิ์-ถนอม” ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เป็นเผด็จการมากที่สุดสำหรับการเมืองไทยสมัยใหม่ ส่งผลให้ในช่วงนั้นประชาชนไม่มีส่วนร่วมและเสรีภาพทางการเมือง

เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516

        เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เกิดขึ้นด้วยสาเหตุที่สะสมมาก่อนหน้านี้หลายประการทั้ง ข่าวการทุจริตในรัฐบาล การพบซากสัตว์ป่าจากอุทยานในเฮลิคอปเตอร์ทหาร การถ่ายโอนอำนาจเผด็จการจากจอมพลสฤษดิ์ สู่ จอมพลถนอม และการจับกุมนักศึกษา อาจารย์ และนักการเมือง 13 คนที่ออกมาเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ฉบับถาวร ซึ่งกลุ่มคนที่ไม่ได้ถูกจับตามองจากทหารแต่กลับมีบทบาทสำคัญ คือ กลุ่มนักศึกษา เพราะช่วงเวลานั้นประเทศไทยเริ่มมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยมากขึ้น ทำให้เกิดกลุ่มชนชั้นนักศึกษาที่เพิ่มขึ้น เมื่อพวกเขาได้เรียนหนังสือ ได้เห็นประเทศอื่นที่พัฒนามีประชาธิปไตย และย้อนมองกลับมาที่ประเทศตนเองก็เห็นว่ายังคงอยู่ในวังวนของเผด็จการ นักศึกษาจึงได้ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในการล้มระบอบเผด็จการ จนสามารถนำประชาชนถึง 5 แสนคน เริ่มเดินขบวนจากในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไปบนถนนราชดำเนิน จนเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในเช้าวันที่ 14 ตุลาคม 2516 มีการปะทะระหว่างนักศึกษา ประชาชน และเจ้าหน้าที่ตำรวจทหาร หลังจากนั้นเหตุการณ์ได้กลับคืนสู่สภาพปกติในวันที่ 15 ตุลาคม 2516 หลังจากที่อดีตผู้นำ 3 คนสำคัญของระบอบเผด็จการทหารในช่วงเวลานั้น คือ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ได้เดินทางหนีออกจากประเทศไทย ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จของประชาชนที่สามารถออกมาเรียกร้องขับไล่เผด็จการออกไปจากประเทศได้

               ภาพจาก Getty Images

ทำไมชัยชนะนี้จึงดำรงอยู่เพียง 3 ปี และนำไปสู่การกวาดล้างชีวิตผู้คนในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519

        “จากที่เล่ามาก่อนหน้านี้จะเห็นว่าประชาชนชนะ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราแค่ขับไล่ ตัวหัว เพราะเราไม่สามารถกำจัดกลุ่มอำนาจเดิมออกไปให้หมดได้”

        อ.ฮัลเล่ย์ อธิบายเพิ่มเติมว่า กลุ่มหลักที่มีอิทธิพลและนำพาประเทศไปสู่เผด็จการในช่วงเวลานั้นคือ ทหาร ซึ่งกลุ่มนักศึกษา หรือ ประชาชนทั่วไป อาจไม่ได้มีกำลังมากพอในการขับไล่ทหารออกไปได้ เพราะระบบโครงสร้างเดิมแบบอำนาจนิยมยังคงอยู่ แม้จอมพลถนอมจะออกไปแล้ว แต่ตัวองค์กร หรือ กองทัพ ยังคงมีบทบาทอยู่ อีกทั้งในภายหลัง กลุ่มอำนาจเก่าก็ใช้ยุทธวิธีตั้งม็อบชนม็อบ โดยทหารได้เข้ามาช่วยจัดตั้งกลุ่มมวลชนอื่นขึ้นมา เช่น กลุ่มนวพล กลุ่มกระทิงแดง กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มนักเรียนอาชีวะ และ กลุ่มคนว่างงาน ซึ่งจะมีทหารตำรวจเข้าไปฝึกการใช้อาวุธต่าง ๆ คอยให้เงิน ให้การสนับสนุน ให้อาวุธเพื่อคอยไปปั่นป่วนเวลานักศึกษาชุมนุมประท้วง ทำให้การชุมนุมของนักศึกษาในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม เป็นไปอย่างไม่ราบรื่น และพบว่าในช่วงเวลานั้นคนที่เป็นผู้นำของกลุ่มนักศึกษา กรรมกร ชาวนา ถูกลอบสังหารหลายคน อีกทั้งประเด็นสำคัญที่นำมาสู่การกวาดล้างกำจัดกลุ่มนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คือ การใส่ร้ายกลุ่มนักศึกษาว่าเป็นคอมมิวนิสต์หรือผู้ล้มชาติ

นักศึกษาถูกใส่ร้ายเป็นคอมมิวนิสต์ คนล้มชาติ

        ในตอนนั้นนักศึกษามักออกมาเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมให้กับสังคม และลัทธิที่มองเรื่องความเท่าเทียมเป็นสำคัญ คือ คอมมิวนิสต์ ซึ่งพัฒนามาจากแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) นักปรัชญาชาวเยอรมัน ที่ไม่อยากเห็นชนชั้นนายทุนกดขี่ชนชั้นแรงงาน ต้องการสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม และขจัดความความเหลื่อมล้ำกดขี่ให้หมดไป สำหรับในช่วงยุคนั้นแล้ว การถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงมาก เพราะเป็นยุคของสงครามเย็น ผู้คนมีความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์กันมาก โดยตัวอย่างของประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์อย่างสหภาพโซเวียต จีน เวียดนาม และ ลาว ที่อดีตเคยมีกษัตริย์ แต่เมื่อปฏิวัติเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว กษัตริย์ก็ถูกโค่นล้มให้สิ้นอำนาจไป เพื่อสร้างความเท่าเทียม ขจัดความความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น  สังคมไทยในเวลานั้นจึงเกิดความหวาดกลัวว่าคอมมิวนิสต์จะเข้ามาล้มล้างระบบกษัตริย์ แต่ในขณะเดียวกัน กลุ่มนักศึกษาอาจไม่ได้คิดถึงขั้นนั้น มองแค่ต้องการให้ทุกคนเท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำกดขี่ในสังคม จึงเกิดการนิยามความหมายของคำว่า “คอมมิวนิสต์” ที่ไม่เหมือนกัน รัฐไทยจึงอาศัยข้อกล่าวหานี้เพื่อใส่ร้ายป้ายสี สร้างภาพลักษณ์เพื่อลดทอนคุณค่า และกล่าวหาว่านักศึกษาเป็นผู้ร้าย สุดท้ายแนวคิดนี้ทรงพลังมากเสียจนสามารถเรียกเสียงสนับสนุนจากประชาชนให้ต่อต้านนักศึกษาได้อย่างมาก

        “กลุ่มนักศึกษาจากที่เป็นพระเอกในช่วง 14 ตุลา กลับถูกใส่ร้าย สร้างภาพลักษณ์เพื่อลดทอนคุณค่า และกล่าวหาว่าเป็นผู้ร้ายในช่วงเวลาไม่กี่ปี จากภาพการเป็นผู้นำประชาธิปไตย กลายเป็นผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์”

               ภาพจาก Getty Images

จุดเริ่มต้นเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519

        จุดปะทะที่ทำให้เกิดการกวาดล้างครั้งใหญ่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 คือ จอมพลถนอม ได้เดินทางกลับประเทศไทยด้วยการบวชเป็นสามเณร เหตุการณ์นี้ทำให้กลุ่มนักศึกษาไม่พอใจ จึงเกิดการชุมนุมประท้วงต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอม ทำให้เหตุการณ์ลุกลามใหญ่โต จนนำไปสู่การล้อมปราบกลุ่มนักศึกษาที่ชุมนุมอยู่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 46 ราย (บางแหล่งอ้างถึงหลักร้อยราย) ในช่วงนั้นเองได้มีแนวคิดของพระกิตติวุฑโฒ ที่มองว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ได้บุญมากกว่าบาป” สะท้อนถึงแนวคิดการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของกลุ่มนักศึกษา อันนำไปสู่การปลุกปั่นยุยงจนทำให้สามารถล้อมปราบกลุ่มนักศึกษาได้โดยไม่รู้สึกว่า “ตนเองกำลังทำอะไรผิดอยู่ แต่ตนเองกำลังทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพื่อความมั่นคงของชาติต่างหาก"

         จากเหตุการณ์นี้ได้กลายเป็นข้ออ้างให้ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น ทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศ หลังจากนั้นก็มีการดำเนินคดีกับนักศึกษา 3,000 คน ที่ถูกจับกุมในธรรมศาสตร์ และต่อมาในสมัยรัฐบาลของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้มีมติของคณะปฏิวัติเพื่อนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ทำให้นักศึกษาพ้นจากการดำเนินคดี แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงไม่ต้องกังวลว่า จะได้รับโทษในภายหลังเช่นกัน

 

 ภาพจาก: note thanun

 ถอดบทเรียนจากอดีต เผชิญหน้ากับอนาคต

        อ.ฮัลเล่ย์ มองว่าบทเรียนที่เราสามารถถอดได้จากทั้งเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 คือ หลังจากทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ ก็ยังคงมีเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเกิดขึ้นอยู่เรื่อยมา เช่น เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 การชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง 2553 และ การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. 2556 ซึ่งความรุนแรงทางการเมืองนี้มีความสัมพันธ์กับการที่เราสร้างภาพลักษณ์ หรือด้อยค่าความเป็นมนุษย์ของฝั่งตรงข้าม แนวคิดเหล่านี้ไม่เคยหายไป แน่นอนว่าในปัจจุบันความหมายของแนวคิดคอมมิวนิสต์ได้เปลี่ยนไป แต่จะเห็นได้ว่ายังคงมีการด้อยค่าฝั่งตรงข้ามอยู่ อย่างวลีที่อาจเคยได้ยินกัน อย่างเช่น “สลิ่ม” “ควายแดง” “ส้มเน่า” ซึ่งการสร้างวลีเหล่านี้เป็นบทเรียนที่เคยเกิดขึ้นให้เห็นแล้วในช่วง 6 ตุลา จากการที่คนด้อยค่าอีกฝ่าย จนไม่ได้มองว่าอีกฝ่ายเป็นมนุษย์ มองว่าอีกฝ่ายเป็นแค่สิ่งที่ไร้คุณค่า เป็นสิ่งที่สามารถด่าทอ หรือใช้ความรุนแรงได้โดยที่ไม่ต้องรู้สึกผิด

         สิ่งหนึ่งที่เราต้องคำนึงเวลาเราต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายใด คือ เรากำลังด้อยค่าอีกฝ่ายอยู่หรือเปล่า เพราะถ้าหากเรากำลังด้อยค่าอีกฝ่ายอยู่ การใช้ความรุนแรงก็จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตามมา

        “ถ้าเราจะมองเหตุการณ์ในอดีตให้เป็นบทเรียน คือ เราจะต้องไม่ให้ความเกลียดชังเกิดขึ้นไปมากกว่านี้ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์นำไปสู่ความรุนแรง การปะทะ และนำไปสู่การกำจัดหรือต่อต้าน กวาดล้างอีกฝ่าย เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับเหตุการณ์ 6 ตุลา” 

         อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ แม้ว่าประชาชนจะสามารถเรียกร้องจนได้รับชัยชนะในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 แต่เราก็เห็นได้ว่า ประชาธิปไตยยังไม่ได้เดินทางพัฒนาเติบโตต่อมาได้อย่างเต็มที่ อันเนื่องมาจากอำนาจเผด็จการของชนชั้นนำยังไม่ได้หมดไป เหตุการณ์ 14 ตุลา กำจัดขับไล่ได้แต่ตัวผู้นำเท่านั้น ตัวองค์กรอำนาจของชนชั้นเดิมอย่างทหารยังคงดำรงอยู่ และยังคงเห็นอำนาจบทบาทของทหารที่เข้ามาแทรกแซงทางการเมืองผ่านการทำรัฐประหารได้อีกหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา ยกตัวอย่างเหตุการณ์ร่วมสมัยปัจจุบันเมื่อปี 2557 ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาทำรัฐประหาร ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่า องค์กรอำนาจดั้งเดิมอย่างทหารไม่ได้หายไปไหน ซึ่งการจะปฏิรูปประชาธิปไตย สิ่งหนึ่งที่เราต้องทำควบคู่ไปกับการสร้างความตื่นตัวทางการเมืองให้กับประชาชนด้วย คือ การจำกัดการแทรกแซงทางการเมือง ให้กองทัพเข้ามามีบทบาทแทรกแซงทางการเมืองน้อยลง แต่ด้วยด้วยภูมิทัศน์การเมืองไทยปัจจุบัน ต้นทุนของการแทรกแซงการเมืองด้วยการรัฐประหาร จะเป็นต้นทุนที่สูงอย่างยิ่ง ได้ไม่คุ้มเสีย เราจึงได้เห็นการปรับตัวของฝ่ายอำนาจนิยมมาเข้าสู่เกมการเมืองของระบอบประชาธิปไตย เพื่อรักษาอำนาจเดิมของตัวเองเอาไว้

        “ถ้าเราอยากมีประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น หยั่งรากลึกได้ในสังคมไทย สิ่งสำคัญที่ต้องทำให้ได้อย่างหนึ่งก็คือ จะต้องจำกัดบทบาทของทหาร จะต้องมีการปฏิรูปกองทัพให้ได้”

 เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค

 

                                           ภาพจาก: รวมภาพในอดีตเล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ All Old Pictures In The Past.