เปิดรับ เปลี่ยนมุมมอง: สิทธิผู้พิการในประเทศไทย
เนื่องในโอกาสเดือนธันวาคมนี้มีวันสำคัญอย่าง “วันคนพิการสากล” LSEd Social Change จึงอยากชวนพูดคุยและตั้งข้อสังเกตในประเด็นเกี่ยวกับ “สิทธิผู้พิการในประเทศไทย” ในแง่ของกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ สิทธิ คืออำนาจอันชอบธรรมของบุคคลที่จะทำสิ่งใด ๆ ได้อย่างอิสระ และ ได้รับการรับรองทางกฎหมาย แต่การกระทำนั้นจะต้องไม่ไปละเมิดสิทธิหรือสร้างความเดือดร้อน เสียหาย ให้ผู้อื่น เมื่อผู้พิการเองก็ถือเป็นบุคคลภายใต้การปกป้อง คุ้มครองของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นผู้พิการก็มีสิทธิในการกระทำ ปฏิบัติ หรือเข้าถึงสิ่งต่าง ๆ ได้เฉกเช่นบุคคลทั่วไป
กฎหมายไทยมีบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิของผู้พิการไว้หลายประการ เช่น 1) กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในมาตรา 27 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะมีความแตกต่างในเรื่องภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ ฯลฯ และ มาตรา 71 รัฐพึงให้ความช่วยเหลือเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาสให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ 2) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD) ซึ่งมุ่งประสงค์เพื่อส่งเสริม คุ้มครองและประกันให้คนพิการ มีสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างเต็มที่และเท่าเทียม ส่งเสริมการเคารพในศักดิ์ศรีที่มีมาแต่กำเนิด และ 3) พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 กำหนดให้คนพิการมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ ตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพ และพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ (จุฬาพัฒน์ ช่างเกตุ, 2562, น. 3-6) เป็นต้น
ข้อสังเกตเกี่ยวกับสิทธิของผู้พิการในไทย
จากบทสัมภาษณ์ ผศ.ดร. ธิดา ทับพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้มีความสนใจและทำงานขับเคลื่อนเกี่ยวกับความเข้าใจและความเชื่อเกี่ยวกับความพิการในประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า ผู้พิการนั้นมีสิทธิ ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย แต่หากพูดถึงตัวอักษรบนกระดาษที่ระบุถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐที่มีให้ผู้พิการของไทยแล้ว ไม่ด้อยไปกว่าต่างประเทศเลย แต่ในภาคปฏิบัติกลับยังไม่สามารถทำได้จริงหรือทั่วถึง อย่างเช่น สิทธิในการได้รับการศึกษาของผู้พิการ กฎหมายไทยระบุไว้ว่าเด็กไทยทุกคนมีสิทธิในการเรียนหนังสือ แม้แต่กับเด็กพิการ โรงเรียนไม่สามารถปฏิเสธไม่ให้เด็กพิการเข้าศึกษาได้ แต่เมื่อรับเด็กพิการเข้ามาแล้ว กลายเป็นว่าเด็กไม่สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ที่เท่าเทียมเด็กคนอื่น ๆ อาจเป็นเพราะครูไม่มีความรู้ ความสามารถ หรือยังมีความตระหนักรู้ไม่เพียงพอที่จะปรับการเรียนการสอนให้เข้ากับการเรียนรู้ของเด็กพิการได้ หรืออย่างการเดินทางโดยใช้การขนส่งสาธารณะที่บางครั้งให้ขึ้นฟรี หรือมีที่นั่งเฉพาะให้ แต่ในความเป็นจริง ผู้พิการนั่ง Wheelchair ไม่สามารถเข็นรถขึ้นรถเมล์หรือขึ้นสถานีรถไฟฟ้าได้ “...สิทธิของผู้พิการมักจะเป็นอย่างนี้ มีแต่ใช้ไม่ได้ เข้าไม่ถึง”
“จริง ๆ กฎหมายสำหรับผู้พิการในไทยดูดีมาก มีทุกอย่างเลย แต่พอมาถึงภาคปฏิบัติ มันไม่เคยเกิดขึ้นจริง”
หากมาดูกันต่อในเรื่องของสิทธิในการพักผ่อน อ.ขวัญ กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยยังไม่ค่อยมีพื้นที่สันทนาการที่ให้ความบันเทิง หรือพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจที่สามารถรองรับความต้องการพิเศษของผู้พิการได้ สถานที่เหล่านี้ยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่รองรับให้กับกลุ่มผู้พิการได้อย่างทั่วถึง “...เรายังไม่มีโรงหนังสำหรับคนหูหนวกตาบอด ไม่มีสวนสาธารณะหรืออุทยานที่เปิดให้ผู้พิการนั่งวีลแชร์ ไม่มีพิพิธภัณฑ์ที่เปิดให้เด็กออทิสติกเข้าไปได้อย่างทั่วถึง” สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่า ประเทศไทยมีสิทธิให้ผู้พิการอย่างเพียบพร้อม แต่เขายังคงเข้าถึงบริการเหล่านั้นอย่างยากลำบาก
“สิทธิในการทำงานของผู้พิการในไทย” ประเด็นที่ยังคงต้องแก้ไขต่อไป…
ในการส่งเสริมให้คนพิการได้มีอาชีพเพื่อมีรายได้ในการดำรงชีวิตนั้น ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ในมาตรา 33 ได้บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐรับคนพิการเข้าทำงานตามลักษณะของงาน ในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการหรือหน่วยงานของรัฐ”
แต่ในทางปฏิบัติแล้ว เรื่องเหล่านี้ยังคงไม่เกิดขึ้นจริง อ.ขวัญ ยกตัวอย่างสถานประกอบการที่มีนโยบายรับพนักงานที่เป็นคนพิการ แต่เมื่อถึงเวลาทำงานจริงกลับไม่ได้ให้เขาทำงานอย่างเต็มศักยภาพ หรือในบางสถานประกอบการก็เพียงแค่นำชื่อคนพิการเข้ามาในระบบ แต่ไม่ได้ให้คนพิการเหล่านั้นเข้ามาทำงานจริง เพราะมีความเชื่อที่ว่าการรับคนกลุ่มนี้เข้ามาทำงานจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับบริษัทและเขาอาจทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับคนทั่วไป
รวมถึงในแง่ของทัศนคติและสภาพแวดล้อมที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของผู้พิการ อ.ขวัญ เล่าถึงบทสัมภาษณ์: “รู้ว่าพิการก็ปฏิเสธเลย” เมื่อทัศนคติและสภาพแวดล้อมเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของคนพิการ ซึ่งเป็นบทความที่ให้ผู้พิการได้มาแบ่งปันประสบการณ์การจ้างและทำงาน โดยเนื้อหาบางส่วนของบทความเล่าถึงประสบการณ์การถูกปฏิเสธการจ้างงานเพราะพิการ ผู้ให้สัมภาษณ์เล่าว่า เคยลองสมัครงานประกันที่หนึ่ง พอบอกว่าเราพิการ เขาก็ไม่รับเลย และบางที่พอไปสัมภาษณ์ เขาเห็นว่านั่งรถเข็นมา เขาก็ไม่ให้สัมภาษณ์และโดนปฏิเสธเลย แต่ก็มีบริษัทที่มีกฎเกี่ยวกับ Disability Harassment กำหนดไม่ให้กีดกันคนพิการออกจากการทำงาน ทำให้บรรยากาศในสถานที่ทำงานเป็นไปได้ด้วยดี สะท้อนให้เห็นว่า เมื่ออยู่ในสังคมที่เข้าใจ สถานที่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทุกคนสามารถใช้งานและเข้าถึงได้ ความพิการก็เป็นแค่เงื่อนไขหนึ่งในการดำเนินชีวิตเท่านั้น หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว สถานประกอบการที่พร้อมจะรองรับคนกลุ่มนี้มีเพียงไม่กี่ที่ที่สามารถสร้างสังคมเช่นนั้นได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการปฏิบัติต่อผู้พิการไม่เท่าเทียมกับคนทั่วไป อาจเป็นปัญหาที่เกิดจากความเข้าใจที่ไม่เพียงพอ และทัศนคติของคนในสังคมที่มีต่อผู้พิการ
สังคมไทยยังมองคนพิการว่าเป็นผู้ที่น่าสงสาร ควรได้รับการช่วยเหลือตลอดเวลา มองว่าเขาไม่สามารถมีส่วนช่วยใด ๆ ให้กับสังคมได้ ด้วยมุมมองเหล่านี้จึงทำให้ภาพของการออกมาบริจาคเงินให้กับผู้พิการยังคงปรากฎให้เห็นอยู่เสมอ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้พิการอาจไม่ได้ต้องการความสงสารหรือเงินบริจาค สิ่งที่เขาอยากได้รับ คือ “โอกาส” ที่จะแสดงให้คนอื่นเห็นว่าเขาเรียนรู้ได้ และเขาทำงานได้
สิ่งที่อยากบอกคนในสังคมเกี่ยวกับประเด็น “สิทธิของผู้พิการ”
“อยากให้สังคมเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้พิการมากกว่านี้ อยากให้มองว่าผู้พิการก็เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่มีความคิด ความรู้สึก ความสามารถเท่ากับคนอื่นๆ และเขาควรจะมีสิทธิเท่าเทียมและเสมอภาคกับผู้อื่น ถ้าเราทำให้มุมมองความพิการที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้หายไปได้ก็จะดี”
อ.ขวัญ กล่าวว่า อยากให้ลองมองกลุ่มคนเหล่านี้เหมือนเป็นเพื่อนคนหนึ่งที่ไม่ได้มีความผิดปกติทางร่างกายหรือมีสติปัญญาบกพร่อง มองเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่สามารถทำ หรือรู้สึกอะไรได้เหมือนเรา ถึงแม้วิธีการเรียนรู้ของเขาจะไม่เหมือนเราแต่ท้ายที่สุดแล้วเขาทำได้ เขาไม่ใช่ภาระของสังคม หากเราสามารถปลูกฝังมุมมองเหล่านี้ให้กับตนเองและตัวผู้พิการเอง อาจทำให้สังคมมีทัศนคติเชิงบวกต่อคนพิการ มีการยอมรับความหลากหลายในสังคม และเห็นคุณค่าของกลุ่มคนพิการในสังคมมากขึ้น อันจะส่งผลไปถึงการเพิ่มโอกาสการมีงานทำ การสร้างทักษะและความสามารถของคนพิการอีกด้วย
เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค