Loading...

การจัดการขยะพลาสติกในคณะ: จากปัญหาสู่การเป็นสำนักงานสีเขียว

        ขยะพลาสติกเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และส่งผลกระทบต่อทั้งธรรมชาติและสุขภาพของมนุษย์ ในประเทศไทย ปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีเป็นสัญญาณที่ชัดเจนถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดการปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพ ขยะพลาสติกที่ไม่ถูกจัดการอย่างถูกต้องมักจะกลายเป็นมลพิษที่สะสมอยู่ในแหล่งน้ำ ดิน และอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ

        แม้ว่าจะมีมาตรการและโครงการต่าง ๆ ที่รัฐบาลและองค์กรพยายามดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก แต่ยังคงมีความท้าทายและอุปสรรคมากมายในการลดปริมาณขยะพลาสติกและผลกระทบที่เกิดขึ้น ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทุกคนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการสร้างระบบการจัดการขยะที่ยั่งยืน นอกจากนี้ การให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกในการลดการใช้พลาสติก การรีไซเคิล และการจัดการขยะอย่างถูกวิธีก็เป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้

        LSEd Let’s Talk ชวนอ่านบทสัมภาษณ์จากเจ้าหน้าที่คณะฯ ผู้อยู่เบื้องหลังการดำเนินงานจัดการขยะพลาสติกภายในคณะ ทั้ง 2 ท่าน ได้แก่ คุณวิภพ พวงศิริ (พี่หน่อย) หัวหน้างานอาคารสถานที่และสารสนเทศ และ คุณชูศักดิ์ ยิ้มฟุ้งเฟื่อง (พี่ชู) รักษาการในตำแหน่งหัวหน้างานยุทธศาสตร์และการคลัง ที่ร่วมพูดคุยถึงปัญหาขยะพลาสติกในคณะ รวมถึงแนวทางการปฏิบัติ ป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก สู่การเป็น Green Faculty หรือสำนักงานสีเขียว (Green Office) ตามมาตรฐานของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม แห่งแรกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ปัญหาขยะพลาสติกในอดีตของคณะ

        พี่หน่อย - วิภพ พวงศิริ หัวหน้างานอาคารสถานที่และสารสนเทศ เล่าว่า เมื่อก่อนทางคณะยังไม่ได้มีการจัดการขยะพลาสติก ขยะพลาสติกที่พบเห็นได้บ่อยคือ ขวดน้ำพลาสติก แก้วพลาสติกจากร้านกาแฟ ขวดนมพลาสติกที่ใช้ผสมเครื่องดื่มในร้านกาแฟ รวมถึงขวดแกนลอนพลาสติกที่ใช้ในการทำความสะอาด ขยะพลาสติกเหล่านี้สร้างผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ผลกระทบทางตรงคือ เมื่อมีขยะแล้วไม่รู้ว่าจะนำไปทิ้งที่ไหนหรือควรจะกำจัดอย่างไร ส่วนผลกระทบทางอ้อมคือ การเพิ่มจำนวนขยะพลาสติกเพราะไม่มีการรณรงค์ให้ลดใช้พลาสติก และหากมีการใช้ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นทุกวัน ก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน เพราะตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการเผาทำลายพลาสติก ล้วนทำให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อนและมลพิษทางอากาศ ดังนั้น การผลิตและการทำลายขยะที่ผิดวิธีย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้

        พี่ชู - ชูศักดิ์ ยิ้มฟุ้งเฟื่อง รักษาการในตำแหน่งหัวหน้างานยุทธศาสตร์และการคลัง เล่าว่า ก่อนหน้านี้ คณะยังไม่มีการแยกขยะ ทำให้ในถังขยะถังเดียวมีทั้งเศษอาหาร น้ำ กล่องกระดาษ ขวดพลาสติก และขยะอื่น ๆ ปะปนกัน เมื่อแม่บ้านจัดการขยะหรือเทขยะออกจากถัง มักจะมีน้ำไหลตามพื้น ทำให้สภาพแวดล้อมและพื้นคณะสกปรก นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องกลิ่นตามมาอีกด้วย

การริเริ่มจัดการขยะพลาสติก

        คณะฯ ได้เริ่มพัฒนาแนวทางในการจัดการขยะพลาสติก โดยนำระบบการจัดการแบบสำนักงานสีเขียวหรือ Green Office มาใช้ตั้งแต่ปี 2565 โดยหนึ่งในกิจกรรมที่ทำให้สามารถจัดการปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมคือมีระบบการจัดการขยะที่ชัดเจน เช่น การมีถังขยะแยกประเภทต่าง ๆ เพื่อรองรับขยะหลายรูปแบบ และจัดวางถังขยะประจำจุดต่าง ๆ ให้ครอบคลุมทั่วทั้งตึกและเพียงพอต่อปริมาณขยะที่ต้องทิ้งในแต่ละวัน อีกทั้งคณะฯ ยังมีการรวบรวมและจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการตรวจสอบว่าขยะแต่ละประเภทสามารถนำไปสร้างประโยชน์ต่อได้หรือไม่ รวมถึงคำนึงถึงเรื่องของกฎหมาย ตรวจสอบว่าหน่วยงานที่เราส่งขยะไปปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ รวมถึงคณะฯ ยังมีภาคีเครือข่าย เช่น หน่วยงานที่นำขยะพลาสติกไปรีไซเคิลและสร้างประโยชน์ต่อ และมีการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการจำแนกขยะประเภทต่าง ๆ ส่งผลให้ปัญหาขยะพลาสติกที่เคยเกิดขึ้นในอดีตได้รับการแก้ไขจนหมดไป

บทบาทในการดำเนินงาน Green Office

        ในช่วงเริ่มต้นของการแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการ Green Office พี่หน่อย หัวหน้างานอาคารสถานที่และสารสนเทศ ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการในโครงการ โดยมีภาระหน้าที่ดูแลเรื่องการจัดการขยะพลาสติก พี่หน่อยได้เล่าถึงบทบาทการทำงานในช่วงเริ่มต้นโครงการว่า ได้ดำเนินการจัดหาวิทยากรมาให้ความรู้ จัดหาภาชนะที่เหมาะสมกับอาคาร และหาแนวทางที่สามารถสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนทิ้งขยะอย่างถูกต้องและเข้าใจง่าย นอกจากนี้ ยังดูแลจัดการพนักงานทำความสะอาดหรือแม่บ้าน โดยให้แม่บ้านเป็นผู้จัดเก็บรวบรวมขยะและนำส่งหน่วยงานที่รับขยะต่อ และติดตามตั้งแต่กระบวนการแรกจนถึงกระบวนการทำลายสุดท้าย ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คือ โรงขยะด้านหลัง รวมไปถึงหน่วยงานเทศบาล โดยตรวจสอบว่ามีการจัดการขยะอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

        พี่ชู รักษาการในตำแหน่งหัวหน้างานยุทธศาสตร์ฯ มีบทบาทในการดูแลเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างเป็นหลัก ในขณะที่ดำเนินโครงการ Green Office งานยุทธศาสตร์และการคลังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการในด้านการจัดการขยะพลาสติกจากตลับหมึกพิมพ์ ทางทีมผู้บริหารในขณะนั้นได้ให้คำแนะนำว่าอาจมีหน่วยงานที่รับขยะพลาสติกจากตลับหมึกพิมพ์เพื่อนำไปรีไซเคิลต่อได้ จึงได้ดำเนินการติดต่อ HP Thailand และได้ทราบข้อมูลว่า HP รับตลับหมึกที่ไม่ใช้แล้วเพื่อนำมารีไซเคิล โดยเขาจะส่งกล่องสำหรับบรรจุตลับหมึกที่ใช้แล้วมาให้คณะฯ เพื่อรวบรวมและส่งให้ HP เพื่อนำไปรีไซเคิลต่อ

สำนักงานสีเขียว คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ (LSEd Green Office)

        คณะฯ ได้ดำเนินนโยบายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมในรูปแบบสำนักงานสีเขียว โดยได้รับการสนับสนุนและการร่วมแรงร่วมใจจากผู้บริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่ บุคลากร และนักศึกษาทุกคน ดำเนินกิจกรรมด้านต่าง ๆ โดยคำนึงถึงความยั่งยืนทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมร่วมกัน  ทำให้คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์เป็น “Green Faculty” หรือ “Eco-Friendly Faculty” แห่งแรกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยนำ Sustainable Development Goals (SDGs) มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานอย่างสอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

        ในด้านทิศทางการดำเนินงานด้านการจัดการของเสีย ด้วยความตระหนักถึงปัญหาด้านของเสียและมลพิษที่อาจแพร่กระจายออกสู่สิ่งแวดล้อม คณะฯ จึงมุ่งเน้นทั้งการลดปริมาณการเกิดของเสียและการควบคุมคุณภาพของของเสียก่อนที่จะถูกปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม คณะฯ ให้ความสำคัญอย่างมากต่อการจัดการขยะจากการอุปโภคบริโภคและน้ำที่ผ่านการใช้งานแล้ว ปัจจุบันได้ส่งเสริมให้บุคลากรของคณะฯ คัดแยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อช่วยลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทาง และทำให้การจัดการขยะของคณะฯ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการจัดการน้ำที่ใช้แล้วภายในคณะ โดยนำน้ำที่ใช้แล้วมาใช้งานอีกครั้ง เช่น การรดน้ำต้นไม้ และตรวจสอบคุณภาพของน้ำเสียรวมถึงบำบัดน้ำเสียก่อนที่จะปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม

        พี่หน่อย เล่าเพิ่มเติมว่า หลังจากเริ่มดำเนินการโครงการ Green Office คณะฯ ได้จัดอบรมให้ความรู้และรณรงค์ต่าง ๆ เพื่อสื่อสารและสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่ประชาคม มีการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับการแยกขยะประเภทต่าง ๆ ผ่านทางช่องทางออนไลน์และการติดประกาศ นอกจากนี้ ในห้องเรียน อาจารย์ยังมีส่วนในการปลูกฝังแนวคิดการลดใช้ขยะพลาสติกให้นักศึกษา รวมถึงการกำหนดนโยบาย การวางแผนการดำเนินงาน และการปรับปรุงนโยบายสิ่งแวดล้อมของคณะฯ อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน นับเป็นความโชคดีของชาวประชาคม LSEd ที่มีนโยบายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ทำให้ทุกคนได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีอีกด้วย

        พี่ชู กล่าวเสริมถึงการประหยัดพลังงานไฟฟ้าภายในตึกคณะว่า คณะได้ติดตั้ง Solar Roof โดยพี่ชูเป็นผู้ดูแลเรื่องการจ่ายค่าน้ำและค่าไฟ พี่ชูเล่าว่า หลังจากติดตั้ง Solar Roof ค่าไฟลดลงจากหลักแสนเหลือเพียงหลักหมื่น ในส่วนงานอาคารยังได้ติดตั้งหลอดไฟพลังงานแสงอาทิตย์บริเวณลานจอดรถและโถงกลาง นอกจากนี้ ยังมีการติดสติกเกอร์รณรงค์ให้ปิดน้ำและปิดไฟหลังใช้งานในห้องเรียน ห้องทำงาน และห้องน้ำ ซึ่งช่วยเตือนและส่งเสริมให้ทุกคนประหยัดพลังงานอย่างได้ผล

        “สิ่งแรกที่เราทุกคนควรช่วยกันทำคือการแยกขยะ ตัวอย่างเช่น เมื่อซื้อน้ำมา 1 แก้ว ก็ต้องแยกน้ำแข็งและนำน้ำที่เหลือไปรดน้ำต้นไม้ก่อนทิ้งแก้ว พี่คิดว่าเราต้องจัดการตัวเองก่อน เพราะพฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเรา จะช่วยทำให้ขยะพลาสติกถูกนำไปใช้ประโยชน์ต่อ และไม่เป็นการสร้างภาระให้กับผู้จัดการขยะ เช่น แม่บ้าน ทั้งในเรื่องน้ำหนักและความสะอาด แทนที่ในถังขยะจะมีสิ่งสกปรกจากการบริโภคของเรา ขยะก็จะสะอาดขึ้น รวมถึงลดเชื้อโรคจากขยะด้วย ดังนั้น การรักษ์สิ่งแวดล้อมต้องเริ่มจากตัวเราก่อนแล้วค่อยขยับไปในวงที่ใหญ่ขึ้นจนถึงระดับสังคม” พี่ชู กล่าว

        “หลังจากที่เริ่มดำเนินโครงการ Green Office พี่อยากให้ทุกคนตระหนักและใส่ใจในการลดการใช้ทรัพยากรและการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน สิ่งเหล่านี้ควรเป็นสิ่งที่เรารู้โดยอัตโนมัติและปฏิบัติเอง ตัวอย่างเช่น ในการใช้ขวดพลาสติก เราสามารถลดปริมาณการใช้หรือใช้กระบอกน้ำของตนเองแทนได้หรือไม่ เพื่อช่วยลดขยะพลาสติกและการเกิดภาวะโลกร้อน ไม่ว่าจะเป็นในการจัดประชุม การอบรมสัมมนาต่าง ๆ หรือการจัดเลี้ยงอาหารว่าง หากเราใช้แก้วหรือจานแทนพลาสติก มันจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า หากเราเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเอง มันจะเป็นสิ่งที่ดีและสามารถนำสิ่งเหล่านี้มาปรับใช้ที่บ้านได้ด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณขยะพลาสติกในชุมชนและสังคมลดน้อยลง” พี่หน่อย กล่าว

        ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า การจะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืนต้องเริ่มจากตัวเราเอง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเราและทำอย่างต่อเนื่องจะเป็นก้าวแรกสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนของสังคมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนขึ้นไปอีก

ติดตามหรือแจ้งข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของคณะได้ที่ LINE Official “LSEd Green Faculty” คลิก: https://lin.ee/x3HwDPi 

เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค