Loading...

เสริมสร้างสุขภาพจิต: แนวทางการดูแลกายและใจเพื่อชีวิตที่สมดุล

      ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ข่าวการปลิดชีวิตตัวเอง กลายเป็นเรื่องที่พบเห็นได้บ่อยขึ้นในสังคม สถิติการฆ่าตัวตายที่รายงานในแต่ละปีสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่กำลังขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้คนจำนวนมากเลือกที่จะจบชีวิตด้วยตนเองจากหลากหลายปัจจัย ทั้งจากความเครียดทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ซับซ้อน หรือแม้กระทั่งปัญหาสุขภาพจิตที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง สาเหตุของการฆ่าตัวตายนั้นมีความหลากหลาย แต่สิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นปัจจัยหลักที่พบได้บ่อยคือเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจของตัวเอง การที่บุคคลไม่สามารถดูแลหรือรับมือกับปัญหาทางจิตใจได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้เกิดการตัดสินใจที่น่าเศร้าตามมา

      การดูแลสุขภาพกายและใจจึงกลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากทั้งสองสิ่งนี้มีความเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง สุขภาพกายที่ดีจะช่วยเสริมสร้างพลังงานและความแข็งแรงในการเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ในชีวิต ขณะเดียวกัน สุขภาพจิตที่แข็งแรงจะช่วยให้เราสามารถจัดการกับความเครียด ความกังวล และปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การดูแลตนเองในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การออกกำลังกาย การพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงการหมั่นตรวจสอบสุขภาพจิตใจของเราเอง จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการป้องกันและลดความเสี่ยงต่อปัญหาทางจิตใจที่อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ไม่คาดคิด

      ในโอกาสนี้ LSEd Let’s Talk จึงขอชวนทุกคนร่วมเรียนรู้ประเด็น “การดูแลกายและใจของตนเอง” กับ ผศ.ดร.สุรวิทย์ อัสสพันธุ์ (อ.เฮ้าส์) อาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมศาสตร์ และ Cognitive Behavioral Therapy (CBT) ซึ่งเป็นวิธีการทำจิตบำบัดที่ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงความคิด ความเชื่อ หรือการรับรู้ที่อาจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและแนวคิดให้ดีขึ้น

        อ.เฮ้าส์ กล่าวถึงปัญหาการฆ่าตัวตายในประเทศไทยว่ามีแนวโน้มแย่ลง ในขณะที่การเข้าถึงการให้บริการทางจิตเวชเป็นไปอย่างยากลำบาก รวมถึงผู้คนจำนวนมากยังขาดความเข้าใจในอาการและโรคทางจิตเวชอีกด้วย

        ปัญหาการฆ่าตัวตายของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ในปี 2566 มีคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จถึง 25,578 คน โดยมีอัตราเพิ่มขึ้น จากปี 2562 ที่มีคนฆ่าตัวตายสำเร็จจำนวน 7.26 คน ต่อประชากรหนึ่งแสนคน มาเป็น 7.94 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนในปี 2566 ข้อมูลนี้มาจากใบมรณบัตร ซึ่งคาดว่าต่ำกว่าความเป็นจริงที่อาจสูงเกิน 100 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยรุ่นที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงถึง 116.81 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน ข้อมูลนี้สอดคล้องกับสถานการณ์สุขภาพจิต ที่เราพบว่าจำนวนผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นเช่นกัน

        ในทางตรงกันข้าม การเข้าถึงบริการทางสุขภาพจิตยังคงทำได้ยาก ประเทศไทยมีบุคลากรด้านสุขภาพจิตเพียงไม่ถึง 7,000 คน ซึ่งรวมจิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช และนักจิตวิทยาแล้ว หรือมีเพียง 8.99 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน ถ้านับเฉพาะนักจิตวิทยาประเทศไทยมีเพียง 1.5 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน จึงเห็นได้ว่านักจิตวิทยาขาดแคลนอย่างมาก ในขณะที่สิงคโปร์มีนักจิตวิทยา 9.7 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน

        การเข้าใจในปัญหาสุขภาพจิตของคนในสังคมยังมีอยู่อย่างจำกัด มีคนจำนวนมากเข้าใจว่าปัญหาสุขภาพจิตเป็นเพราะคนนั้นอ่อนแอเอง หรือไม่มีความเข้มแข็งเอง ซึ่งแตกต่างจากโรคทางกายที่เรามักจะเข้าใจมากกว่า เช่นเราจะไม่บอกคนป่วยเป็นหวัดว่าให้สู้ หรือทำใจเข้มแข็งไว้ เราจะอยากให้เขาไปทานยาและพักผ่อน แต่เวลาคนเครียดเราจะเข้าใจว่าเขาต้องการกำลังใจ จึงอาจจะบอกเขาว่า ‘อย่าไปคิดมาก’ และทำงานต่อไป ซึ่งไม่ได้เป็นการช่วยเหลืออะไร

ทีมอาสากู้ใจ จาก LSEd Well-being Center

        ในปัจจุบัน ปัญหาด้านสุขภาพจิตได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนในทุกภาคส่วนของสังคม อย่างไรก็ตาม เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว คณะของเราได้จัดตั้ง "LSEd Well-being Center" ขึ้นมา เพื่อให้บริการแก่บุคลากรและนักศึกษาอย่างครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการส่งเสริมการเรียนรู้และฟื้นฟูสุขภาวะ เพื่อให้ทุกคนสามารถดูแลตัวเองได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกาย สมอง จิตวิญญาณ และการใช้ชีวิต เพื่อการเดินทางไปสู่ชีวิตที่มีความสมดุลและยั่งยืน

        ทีมอาสากู้ใจ เป็นการรวมตัวของอาจารย์ที่มีความสนใจด้านสุขภาวะและคุณภาพชีวิต โดยมีบทบาทในการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถดูแลตัวเองได้ในทุกมิติ นอกจากนี้ อาจารย์ยังทำหน้าที่เป็นเพื่อนรับฟัง และสร้างพื้นที่ปลอดภัย พร้อมทั้งส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพจิตให้แก่นักศึกษา

        อ.เฮ้าส์ กล่าวถึงทีมอาสากู้ใจเพิ่มเติมว่า ทีมได้ให้บริการด้านสุขภาพจิตแก่ทั้งนักศึกษาและบุคลากรของคณะ รวมถึงจัดเวิร์กช็อปเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับตนเองและการสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น Energy Cleansing และ Bio Energetics and Psychodrama นอกจากนี้ ทีมอาสากู้ใจยังให้บริการพูดคุยและให้คำปรึกษาเฉพาะบุคคลสำหรับนักศึกษาและบุคลากรที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เพื่อช่วยให้พวกเขาผ่านพ้นปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ได้

การทำจิตบำบัดด้วยวิธีต่าง 

        กระบวนการจิตบำบัดมีหลากหลายวิธีที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้บุคคลพัฒนาสุขภาวะทางจิตใจ ตัวอย่างเช่น Person-Centered Therapy ที่เน้นการฟื้นฟูความสามารถในการพัฒนาตนเองของบุคคล หรือ Logo Therapy ที่เน้นการหาความหมายของชีวิต

        อ.เฮ้าส์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ตนเองทำงานผ่านกระบวนการบำบัดแบบ Cognitive Behavioral Therapy (CBT) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ช่วยให้ผู้รับบริการค่อย ๆ เห็นกลไกที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่าง ความรู้สึก ความคิด และพฤติกรรม นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งความเชื่อ และการกระทำของบุคคลนั้น ซึ่งจะช่วยให้เขาใช้ชีวิตได้อย่างสบายใจและมีความสุขขึ้น

        การบำบัดแบบ CBT เป็นความร่วมมือระหว่างผู้รับบริการและนักบำบัด ที่มีเป้าหมายร่วมกันในการเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมของผู้บริการ พร้อมกับการฝึกทักษะในการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ และความคิดที่บิดเบือนของตัวเอง ถือเป็นกระบวนการมาตรฐานในการบำบัดโรคทางจิตเวชหลายโรค เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ เป็นต้น

แนวทางการดูแลสุขภาพกายและจิตใจ

        อ.เฮ้าส์ กล่าวว่า การดูแลสุขภาพกายและใจเบื้องต้นนั้นควรเริ่มจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น การทำกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกพอใจและภูมิใจ รวมถึงการฝึกผ่อนคลาย เช่น การทำ Bodyscan การฝึกลมหายใจ หรือการเจริญสติ นอกจากนี้ การทำงานอาสาสมัครตามกำลังความสามารถของตนเองก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นได้ ทั้งนี้หากพบว่าตนเองเริ่มมีปัญหาสุขภาพกายหรือจิตใจที่ไม่ปกติ ควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้การช่วยเหลือสามารถทำได้ง่ายและได้ผลดี

        ไม่เพียงเท่านั้น การดูแลคนใกล้ชิดก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยการหมั่นพูดคุย สังเกตพฤติกรรมของเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัว หากพบว่าพวกเขามีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น ไม่ค่อยพูดคุย ไม่ทำกิจกรรมที่เคยชอบ หรือเริ่มแยกตัวออกจากสังคม ควรสอบถามและแนะนำให้พวกเขาไปพบผู้เชี่ยวชาญ

        สุดท้ายนี้ อ.เฮ้าส์ ฝากถึงผู้ที่สนใจบริการจากทีมอาสากู้ใจว่า หากยังลังเล ขอแนะนำให้ลองเข้ามาพูดคุยหรือเข้าร่วมกิจกรรมก่อน เพราะปัญหาหลายอย่างสามารถแก้ไขได้ง่ายกว่าที่คิด การมาร่วมกิจกรรมอาจช่วยให้คุณพบแนวทางแก้ปัญหาได้ นอกจากนี้ หากไม่สะดวกยังมีช่องทางอื่น ๆ ในการขอรับบริการ เช่น Vivacity แผนกจิตเวชโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ หรือสายด่วนสุขภาพจิต 1323 สำหรับผู้ที่สนใจรับการบำบัดแบบ CBT ก็สามารถรับบริการจาก Therapist จิตอาสาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเช่นกัน

เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค