Loading...

LSEd Well-being Center รวมทีมอาจารย์กู้ใจ ช่วยนักศึกษา ให้เติบโตภายในคู่ขนานกับการเรียน

        ปัจจุบัน ปัญหาด้านสุขภาวะทางจิตใจกลายเป็นเรื่องที่พบได้มากขึ้นในชีวิตประจำวัน ทั้งในกลุ่มนักศึกษาและคนทั่วไป ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตมีหลากหลาย ตั้งแต่ความขัดแย้งในความสัมพันธ์ ความเครียดจากการทำงานร่วมกับผู้อื่น แรงกดดันจากครอบครัว สภาวะเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งปัญหาทางการเมือง และสำหรับบางคนความทุกข์ใจเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างรุนแรง จนต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจากผู้เชี่ยวชาญ

        LSEd Let’s Talk จึงขอพาทุกคนมารู้จักกับ LSEd Well-being Center ศูนย์ที่ตั้งขึ้นเพื่อดูแลสุขภาพใจนักศึกษาและบุคลากรในคณะ และร่วมพูดคุยถึงประเด็นสุขภาวะทางจิตกับ อ.กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร (อ.โจ้) อาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในทีมอาจารย์ที่อยู่เบื้องหลังการทำงานของศูนย์

สถานการณ์สุขภาพใจนักศึกษา

        เริ่มต้นกันที่สถานการณ์สุขภาพใจของนักศึกษาซึ่งเป็นที่มาของการจัดตั้งศูนย์นี้ขึ้น ซึ่งอาจารย์ได้บอกกับเราว่า ในชีวิตประจำวันของนักศึกษามีสิ่งรบกวนจิตใจได้หลายอย่าง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ เช่น ความขัดแย้งในความสัมพันธ์ นักศึกษาอาจจะพบเรื่องรบกวนจิตใจจากการทำงานร่วมกับเพื่อน การทำงานที่ไม่เข้าขากัน ความแตกต่างทางความคิด รูปแบบการทำงานที่ไม่เหมือนกัน นำมาสู่ความไม่เข้าใจกันได้ หรืออาจมีความรู้สึกเครียดจากแรงกดดันของครอบครัว ความเครียดและความกังวลที่เกิดจากการเรียน ความเครียดที่เกิดจากสภาวะทางเศรษฐกิจ สภาพคล่องทางการเงิน หรือแม้กระทั่งเรื่องเครียดจากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความไม่แน่นอนและแตกต่างทางความคิด รวมถึงความขัดแย้งภายในตัวเอง บางคนอาจมีปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดจากปัญหาส่วนตัวจนมีสภาวะจมดิ่ง มีความทุกข์ทางใจที่จิตใจถูกกระทบรุนแรงซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากปมปัญหาอื่นๆ ในชีวิตที่สะสมและทำงานในระดับจิตใต้สำนึก ประกอบกับความสามารถในการปรับตัวและความทนได้ต่อแรงกดดันของแต่ละคนไม่เท่ากัน ซึ่งนักศึกษาที่มีปัญหาทางใจสะสมอาจนำไปสู่ภาวะความป่วยไข้ทางจิตใจเรื้อรัง ซึ่งเขาต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจากผู้เชี่ยวชาญ

        อ.โจ้ เล่าว่า จากประสบการณ์ที่ได้พูดคุยกับนักศึกษาหลายคนที่ผ่านมา ปัญหาหลักที่พบกลับไม่ใช่เรื่องการเรียนหรือความสามารถทางวิชาการอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นความเครียด ความกังวล และความกดดันทางจิตใจที่เกิดจากความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว หรือจากการที่นักศึกษาต้องปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนใหม่และสังคมใหม่ หลายครั้ง นักศึกษาเหล่านี้รู้สึกเหมือนตัวเองแปลกแยก ไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มหรือสังคมได้ และเกิดความขัดแย้งกับตัวเองและผู้อื่น บางคนยึดติดกับความเป็นตัวเองมากจนไม่สามารถปรับตัวเข้ากับกฎเกณฑ์หรือกรอบทางสังคม ทำให้พวกเขารู้สึกโดดเดี่ยว เข้ากับคนอื่นไม่ได้ และกังวลว่าจะไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม นอกจากนี้ นักศึกษาบางคนยังมีแนวโน้มที่จะกดดันตัวเองมากเกินไป คิดว่าตัวเองต้องเก่ง ต้องดีพอสำหรับคนอื่น โดยมองเห็นแต่จุดอ่อนหรือข้อด้อยของตัวเอง จนถึงขั้นวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองอยู่ตลอดเวลา จนลืมที่จะชื่นชมและมองเห็นคุณค่าในตัวเอง ส่งผลให้อาหารใจไม่ได้เติมเต็ม และความทุกข์ทางใจที่เกิดจากการไม่สามารถเป็นตัวเองตามที่คาดหวังจึงเพิ่มพูนขึ้น จนทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองไม่มีพื้นที่ให้ค้นหาหรือแสดงออกถึงตัวตนที่แท้จริง พออยู่กับความคิดลบต่อตัวเองมากเกินไป ความคิดเหล่านี้ก็จะวนเวียนอยู่ในหัวโดยไม่มีทางออก

        ความทุกข์ทางใจเหล่านี้เกิดขึ้นได้ในวัยที่นักศึกษากำลังพยายามค้นหาและประกอบสร้างตัวตน หลายครั้งเราปล่อยให้ความทุกข์เหล่านี้กัดกินหัวใจของเรา จนเราไม่สามารถรู้เท่าทันตัวเองได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ ปัญหาที่นักศึกษาประสบอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มนักศึกษาเท่านั้น แต่ยังเกิดกับคนทั่วไปในสังคมเช่นกัน เพราะความทุกข์เหล่านี้เป็นผลพวงมาจากสิ่งแวดล้อมและสังคมที่กดดันเราโดยไม่รู้ตัว หนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลอย่างมากคือ ภาวะกดทับจากค่านิยมและกรอบความเชื่อที่ฝังลึกในสังคม สิ่งเหล่านี้บางครั้งไม่ได้ปรากฏเป็นรูปธรรมให้เราเห็นชัดเจน แต่กลับทำงานอย่างเงียบ ๆ กับระบบความคิดของเรา ทำให้เราคิดแตกต่างจากกระแสหลักไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ค่านิยมที่เชื่อมโยงความสำเร็จในชีวิตเข้ากับการมีเงิน มีชื่อเสียง มีสถานภาพทางสังคมที่น่าเชื่อถือ หรือการเป็นที่ยอมรับของผู้อื่นในบทบาทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของลูกที่ดี พ่อแม่ที่ดี นักเรียนที่ดี หรือแม้แต่การมีครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ เมื่อใดที่เรารู้สึกแตกต่างออกไปจากความเชื่อเหล่านี้ ความกดดันทางจิตใจจึงเริ่มเข้ามาโดยไม่รู้ตัว และเรามักไม่เคยได้รับการสอนให้เข้าใจหรือรับมือกับสิ่งเหล่านี้อย่างแท้จริง

        ดังนั้น เราจึงควรเริ่มจากการรับฟังตัวเองอย่างแท้จริง หาเวลาพิจารณาและทำความเข้าใจปัญหาที่เราเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยปรึกษากับคนที่สามารถรับฟังเราได้ หรือสำรวจตัวเองเพื่อค้นหาพลังภายในที่พร้อมจะนำไปใช้ในการลงมือทำสิ่งที่ทำให้เราค้นพบและเชื่อมโยงกับตัวตนที่แท้จริงของเรา

การเกิดขึ้นของ LSEd Well-being Center

        “จุดเริ่มต้นของ LSEd Well-being Center เกิดขึ้นจากการที่อาจารย์ในคณะเริ่มสังเกตเห็นสถานการณ์สุขภาพจิตของนักศึกษาที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นตามที่กล่าวไปข้างต้น” อ.โจ้ เล่าต่อว่า อาจารย์หลายคนเริ่มพูดคุยกันบ่อยครั้งเกี่ยวกับความยากลำบากที่นักศึกษาต้องเผชิญ ซึ่งหลายปัญหาเป็นผลมาจากปัญหาภายในตัวนักศึกษาเอง ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับเพื่อนและการเรียน แต่ยังเป็นปัญหาที่สื่อสารและทำความเข้าใจได้ยากอีกด้วย

        ด้วยความกังวลต่อสถานการณ์นี้ ทีมอาจารย์ที่สนใจด้านสุขภาวะทางจิตจึงร่วมมือกัน โดยมองว่าหากรวมกลุ่มอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้ภายในจิตใจ การคลี่คลายความขัดแย้ง จิตวิทยาการให้คำปรึกษา และการพัฒนาจิตใจแบบองค์รวม อาจจะสามารถสร้างระบบที่ช่วยเหลือนักศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ การรวมตัวนี้มีแนวคิดที่จะพัฒนาพื้นที่ปลอดภัยที่นักศึกษาสามารถเข้ามาระบายและได้รับการรับฟังเบื้องต้น และหากจำเป็น ก็สามารถส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญได้อย่างตรงจุด กลุ่มนี้จึงเกิดขึ้นภายใต้ชื่อ 'อาสากู้ใจ' ซึ่งเป็นทีมอาจารย์อาสาสมัครที่คอยรับฟังนักศึกษา ช่วยให้พวกเขาได้ระบายความรู้สึก และคลี่คลายความเครียดที่สะสมมา

        อีกอย่าง คณะนี้เป็นคณะที่ให้ความสำคัญการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ให้เรียนรู้ได้อย่างเต็มความสามารถ จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาที่ช่วยให้เขามีสมรรถนะ ความรู้ และทักษะในการทำงานในโลกภายนอก พอๆ กับที่เขาได้รู้จักตัวเองภายในและเรียนรู้ตัวเองด้านในอย่างเป็นองค์รวม (Inner development) เพื่อที่จะตระหนักรู้และเข้าใจตัวเองอย่างรอบด้าน ดังนั้นเขาจึงต้องเรียนรู้การแก้ปัญหาสังคม สร้างนวัตกรรมไปแก้ปัญหาสังคม พอๆ กับที่เขาต้องพัฒนาตัวเองจากมิติด้านในด้วย

        ดังนั้น LSEd Well-being Center จึงถูกพัฒนาเป็นพื้นที่ช่วยเติมเต็มการเรียนรู้ของนักศึกษาจากมิติภายใน คู่ขนานไปกับการเรียนรู้ในห้องเรียน หากนักศึกษาทำงานกับตัวเอง คลี่คลายปัญหาของตัวเองได้ พวกเขาก็จะมีความพร้อมที่จะนำการเรียนรู้ไปใช้เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นและสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้กับสังคม มิติของการเติบโตภายในควบคู่ไปกับความสำเร็จทางการเรียนจึงเป็นสิ่งที่คณะให้ความสำคัญอย่างยิ่ง และจัดให้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นไปพร้อมกัน

การสร้างชุมชนที่ดูแลสุขภาวะภายใน LSEd

        ชุมชนภายในคณะประกอบไปด้วยนักศึกษา อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ ซึ่งทุกคนล้วนแต่มีความเป็นมนุษย์ที่มีทั้งสุขและทุกข์เหมือนกัน LSEd Well-being Center จึงถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ที่ช่วยดูแลทุกคนในคณะ ผ่านการจัดสรรพื้นที่สำหรับการรับฟัง โดยมีอาจารย์เป็นอาสากู้ใจ นอกจากนี้ ยังมีการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่จะช่วยให้นักศึกษาได้สร้าง เลิร์นนิ่งเจอร์นี่ (Learning journey) หรือประสบการณ์ในการเรียนรู้โลกภายในตนเองที่พบเจอจากโลกภายนอก การจัดกิจกรรมเหล่านี้มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้ คลี่คลายปัญหา ป้องกันและฟื้นฟูสุขภาวะภายใน ผ่านเวิร์กชอปที่จัดขึ้นตลอดทั้งปี

        LSEd Well-being Center ทำหน้าที่เป็นเหมือนชุมชนการเรียนรู้ที่ทุกคนในคณะสามารถเข้ามาใช้บริการได้ตลอดเวลา ซึ่งภารกิจของศูนย์นี้ประกอบไปด้วยทั้งการตั้งรับและเชิงรุก ในส่วนของการตั้งรับ ระบบ ‘อาสากู้ใจ’ จะทำหน้าที่เป็นเหมือน First Aid ทางด้านจิตใจ เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับนักศึกษาและบุคลากรที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยเริ่มตั้งแต่การรับแจ้ง ติดต่ออาสากู้ใจ ระบบคัดกรอง พูดคุยให้คำปรึกษา และส่งต่อไปยังหน่วยบริการที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น ศูนย์ดูแลสุขภาพจิต VIVACITY ศูนย์ให้บริการสุขภาพ Thammasat Well Being Center หรือโรงพยาบาลธรรมศาสตร์

        ในขณะเดียวกัน ภารกิจเชิงรุกของศูนย์นี้คือการจัดกระบวนการเรียนรู้ภายใต้ธีม ‘HERO เจอนี่ เจอโน่น เจอนั่น’ ซึ่งชวนให้นักศึกษามาค้นพบ ‘ยอดมนุษย์ในตัวเอง’ ผ่านการดูแลทุกมิติของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย สมอง จิตใจ จิตวิญญาณ และการใช้ชีวิต เพื่อการเดินทางสู่ชีวิตที่สมดุล

        สำหรับปีแรกของการตั้งศูนย์ เราคาดหวังว่าการทำภารกิจทั้งในเชิงตั้งรับและเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง จะสามารถดูแลชุมชนในคณะได้ในระยะยาว และหากเราศึกษาและทำความเข้าใจปัญหาของผู้ที่เข้ามารับบริการหรือเข้าร่วมเวิร์กชอป ก็จะช่วยให้เรานำปัญหาที่พบมาพัฒนาและออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น

อาจารย์อาสากู้ใจ: การสนับสนุนทางจิตใจที่หลากหลาย

        อาจารย์อาสากู้ใจทำหน้าที่เป็นเพื่อนรับฟังที่พร้อมจะอยู่เคียงข้างในช่วงเวลาที่นักศึกษาต้องการการสนับสนุน โดยมีแนวทางการพูดคุยที่หลากหลาย เช่น การรับฟังอย่างลึกซึ้ง (Active Listening) ซึ่งเป็น ‘คนคุย’ ที่ช่วยสะท้อน ตั้งคำถาม และชวนพูดคุยในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย เพื่อให้นักศึกษาได้เป็นตัวของตัวเองมากที่สุด โดยไม่เน้นที่การแก้ปัญหาโดยตรง แต่เน้นการอยู่ข้าง ๆ ช่วยให้นักศึกษาได้เข้าใจและสำรวจทางเลือกของตนเองเมื่อมีการตัดสินใจที่สำคัญ หรือเมื่อต้องการแรงสนับสนุนในการเดินทางสู่เป้าหมายของชีวิต นอกจากนี้ยังมีการให้คำปรึกษาในแนวทางต่าง ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างการรับมือกับปัญหาความหลากหลายทางเพศ การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) จิตวิทยาเชิงกระบวนการ (Process oriented psychology) การให้คำปรึกษาแนวจิตวิญญาณ (Spiritual Counseling) และจิตวิทยาเชิงบวกแนวซาเทียร์ผ่านการเล่นเพื่อการบำบัดในถาดทราย (Neuroscience and the Satir Model in the Sand Tray: NSST)

        นอกจากการรับฟังและให้คำปรึกษาเบื้องต้นแล้ว อาจารย์อาสากู้ใจยังมีหน้าที่ส่งต่อผู้ที่มีปัญหาสุขภาวะทางจิตใจที่ซับซ้อนหรือเร่งด่วน ไปยังผู้เชี่ยวชาญที่เหมาะสม เพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีและปลอดภัยทางจิตใจ ตัวอย่างของปัญหาที่อาจพบได้บ่อยคือ อาการเครียดเรื้อรัง แก้ปัญหาไม่ได้ นอนไม่หลับ หรือวิตกกังวลจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

        ในปีการศึกษา 2567-2568 ได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาวะทางจิตใจ อาทิ ‘Energy Cleansing’ เทคนิคในการชำระล้างพลังงานเพื่อฟื้นฟูความเหนื่อยล้าและความเครียด ‘Visualization’ การใช้ภาพในจิตใจเพื่อสร้างความมั่นคงภายใน และ ‘Working with the Inner Critic’ การทำงานกับเสียงวิจารณ์ภายในตัวเอง โดยกิจกรรมเหล่านี้จะถูกประชาสัมพันธ์ผ่านเฟสบุ๊กเพจของคณะ ให้ผู้ที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมได้ตลอดทั้งปี

        นักศึกษาและบุคลากรที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนสามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับการสนทนาแบบตัวต่อตัวกับอาจารย์อาสากู้ใจได้ตลอดเวลา โดยสามารถเลือกอาจารย์ที่ตนเองรู้สึกสะดวกใจในการพูดคุย ทั้งนี้ การลงทะเบียนและขอรับการสนับสนุนสามารถทำได้ตามช่องทางการประชาสัมพันธ์ที่แจ้งไว้ภายในคณะ ซึ่งหลังจากแจ้งความประสงค์เข้ามา อาจารย์อาสากู้ใจจะติดต่อกลับไปเพื่อนัดหมายการพูดคุยอย่างรวดเร็ว

        นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมเวิร์คชอปหรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นโดย LSEd Well-being Center สามารถติดตามรายละเอียดและลิงก์ลงทะเบียนผ่านเฟซบุ๊กและช่องทางสื่อสารภายในคณะ ซึ่งจะมีการประชาสัมพันธ์ทุกเดือนและสามารถลงทะเบียนได้ตลอดทั้งปี

#LsedWellbeingCenter #LSEd

💌ช่องทางติดตามคณะฯ ในสื่อสังคมออนไลน์

Facebook: https://www.facebook.com/tu.lsed

Twitter: https://twitter.com/lsedtu_official

Instagram: https://www.instagram.com/lsedtu.official

เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค