Loading...

เกี่ยวกับ

หลักการและเหตุผล
        จากกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและซับซ้อนหลากหลายเพิ่มขึ้น อันเป็นผลสืบเนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ กระแสโลกาภิวัตน์ที่หลอมรวมสังคมทั้งโลกให้เป็นสังคมเดียวสลายขอบเขตความเป็นพรมแดนของประเทศลง การพัฒนาเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดดภายในไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ก่อให้เกิดนวัตกรรมทางเทคโนโลยีขึ้นในโลกอย่างมาก ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งภาคการศึกษาที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นในการจัดการเรียนการสอน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากร ที่ประเทศไทยเป็นสังคมสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ โรงเรียนและมหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มปิดตัวลงหรือปรับเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายเพราะขาดผู้เรียนกลุ่มเด็กและเยาวชน ในขณะที่กลุ่มวัยแรงงานกลับเป็นกลุ่มที่มีความต้องการในการพัฒนาทักษะต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นทั้งการพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะให้ดีกว่าเดิมและสร้างทักษะขึ้นมาใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงาน และการระบาดของโรคอุบัติใหม่โควิด 19 ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ตลอดจนความขัดแย้งทางสังคมและวัฒนธรรม สถานการณ์ปัญหาสุขภาวะของทั้งระดับบุคคล องค์กร และสังคม  ล้วนส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ตลอดจนรูปแบบการเรียนรู้และการศึกษาของประชากรในสังคมโลกมาจนถึงปัจจุบันนี้และแนวโน้มในอนาคต

        สถานการณ์ข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงความจําเป็นในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีสมรรถนะในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มีความซับซ้อน ซึ่งต้องอาศัยการมองอย่างรอบด้าน ทำงานข้ามศาสตร์ ผสานเครือข่ายทางวิชาการด้านการศึกษา ทั้งนักการศึกษา นักวิจัย ครูอาจารย์ ตลอดจนบุคลากรการศึกษาที่มีบทบาทร่วมกันในการขับเคลื่อนการศึกษาไทย

        ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสถาบันคลังสมองของชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักวิชาศึกษาทั่วไป สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงมีกำหนดจัดโครงการสัมมนาวิชาการ การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ครั้งที่ 10 (Scholarship of Teaching and Learning: SoTL10) ประจำปี พ.ศ. 2568 ภายใต้หัวข้อ ขยายพรมแดนนวัตกรรมการเรียนรู้: สำรวจภูมิทัศน์แนวโน้มและแนวปฏิบัติร่วมสมัย (Frontier of Learning Innovation: Exploring Emerging Trends and Practices) โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางพัฒนาระบบการจัดการศึกษาให้ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมทั้งในปัจจุบัน และอนาคตต่อไป

วัตถุประสงค์
        1. เพื่อจัดกิจกรรมเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ บทเรียน กรณีศึกษา ตัวอย่างและแนวทางการศึกษาสมัยใหม่ เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเรียนการสอน ตลอดจนนโยบาย บทบาทและทิศทางของระบบการจัดการศึกษาที่เปลี่ยนไป

        2. เพื่อส่งเสริมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาผลงาน ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมการเรียนรู้ เทคโนโลยีการเรียนการสอน ตลอดจนบทเรียนจากการนำไปใช้ในห้องเรียนจริง

        3. เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือทางวิชาการระหว่างบุคลากรและสถาบันการศึกษา

ผลสำเร็จของโครงการ
        1. เกิดองค์ความรู้ด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน การนำนวัตกรรมการเรียนรู้ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน

        2. ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และเทคนิควิธีการจัดการเรียนการสอน การทำวิจัย และการสร้างสรรค์ผลงานวิชาการ เพื่อนำไปพัฒนากระบวนการเรียนการสอนต่อไป

        3. เกิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการจากสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมงานในด้านการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนและการทำวิจัย

ผู้รับผิดชอบโครงการ
        มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยกองบริหารงานวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้รับผิดชอบหลัก

ขอบเขตการดำเนินงาน
        โครงการสัมมนาวิชาการ การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ครั้งที่ 10 (Scholarship of Teaching and Learning: SoTL10) ประจำปี พ.ศ. 2568 ภายใต้หัวข้อ ขยายพรมแดนนวัตกรรมการเรียนรู้: สำรวจภูมิทัศน์แนวโน้มและแนวปฏิบัติร่วมสมัย (Frontier of Learning Innovation: Exploring Emerging Trends and Practices) มีขอบเขตดำเนินการ ดังนี้

        1. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหน่วยงานหลักในการจัดการ โดยมีกองบริหารงานวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้รับผิดชอบหลัก

        2. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำหนดจัดงาน โครงการสัมมนาวิชาการ การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ครั้งที่ 10 (Scholarship of Teaching and Learning: SoTL10) ในวันที่ 3 – 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

        3. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำหนดจัดกิจกรรมภายในงานดังนี้

                1.1. กิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากวิทยากรในประเทศ และต่างประเทศ

                1.2. กิจกรรม Workshop ด้านการพัฒนาการเรียนการสอนและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียน

                1.3. Keynote Speakers จากภาครัฐ และเอกชน

                1.4. กิจกรรม Show and Share เกี่ยวกับนวัตกรรมด้านการเรียนการสอนในรูปแบบต่าง ๆ

                1.5. นิทรรศการแสดงนวัตกรรมการเรียนรู้และเทคโนโลยีทางการศึกษา

หน่วยงาน และมหาวิทยาลัยร่วมจัด
            1. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม

            2. สถาบันคลังสมองของชาติ

            3. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

            4. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

            5. มหาวิทยาลัยมหิดล

            6. มหาวิทยาลัยขอนแก่น

            7. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

            8. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

            9. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

            10. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

            11. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

            12. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

            13. มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

ระยะเวลาดำเนินงาน
            วันพฤหัสที่ 3 และ วันศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 รวมจำนวน 2 วัน

สถานที่ดำเนินงาน
            มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

รูปแบบกิจกรรมภายในงาน
        กิจกรรมภายในงานโครงการสัมมนาวิชาการ การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ครั้งที่ 10 (Scholarship of Teaching and Learning: SoTL10) ประจำปี พ.ศ. 2568 ภายใต้หัวข้อ ขยายพรมแดนนวัตกรรมการเรียนรู้: สำรวจภูมิทัศน์แนวโน้มและแนวปฏิบัติร่วมสมัย (Frontier of Learning Innovation: Exploring Emerging Trends and Practices) ครอบคลุม 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) การจัดการเรียนการสอนตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพ (Professional Standard Framework) 2) แนวคิดการพัฒนาหลักสูตร การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ และการวัดและประเมินผลเชิงสร้างสรรค์ 3) นวัตกรรมการเรียนรู้และเทคโนโลยีทางการศึกษา และ 4) บทบาทมหาวิทยาลัยไทยกับการเสริมสร้างสุขภาวะองค์กรและสังคม โดยมีรูปแบบกิจกรรมในงานและการดำเนินการ ดังนี้

        1. พิธีเปิด-ปิดงาน

        เรียนเชิญผู้บริหารระดับสูงที่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม มาเป็นประธานในพิธีเปิดงาน โดยมีการปาฐกถาให้เหมาะสมกับรูปแบบการจัดงานและประธานในพิธีเปิดงาน และจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงช่วงพิธีเปิด สำหรับพิธีปิดจัดให้มีการมอบรางวัลจากกิจกรรม Show & Share และพิธีการส่งมอบเจ้าภาพปีถัดไป

        2. การจัดประชุม/เสวนาวิชาการ/กิจกรรม Workshop/กิจกรรม LSEd Special Workshop และกิจกรรม Show & Share

        ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการทั้งในรูปแบบการจัดประชุม เสวนาวิชาการ กิจกรรม Workshop หัวข้อต่าง ๆ จากสถาบันเครือข่าย กิจกรรม Show & Share ที่ให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องทางการศึกษาทั้งอาจารย์ระดับอุดมศึกษา ครู ตลอดจนบุคคลทั่วไปได้นำนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนของตนเองมาประกวดเพื่อชิงรางวัลและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม LSEd Special Workshop ซึ่งเป็น Workshop ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบกระบวนการเรียนรู้และการดูแลสุขภาวะทั้งของผู้เรียนและผู้สอน ที่ส่งเสริมการสร้างนิเวศการเรียนรู้อย่างเหมาะสมให้แก่ผู้เรียน ที่คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ได้ดำเนินการจัดอยู่อย่างต่อเนื่องให้แก่อาจารย์ทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั่วประเทศ รวมกิจกรรมทั้งหมด ไม่ต่ำกว่า 20 หัวข้อ และประมาณการผู้เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 200 คน

        3. นิทรรศการ

        ในงานจะประกอบด้วยนิทรรศการการจัดแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา (Modern Education Expo) โดยมีผู้เข้าร่วมชมนิทรรศการไม่น้อยกว่า 200 คน ดำเนินการจัดพื้นที่การจัดแสดงในพื้นที่ขนาด 2 x 2 x  2.5 เมตร ประมาณ 10 – 20 บูธ และจัดให้มีพื้นที่วางแผ่นผับและเอกสาร เพื่อเผยแพร่ผลงานและเนื้อหา

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อีเมล sotl_10@lsed.tu.ac.th
โทรศัพท์ 02-696-6719 และ 084-073-0853 (นางสาวปชาบดี ปุ่มสีดา)
โทรศัพท์ 02-696-6713 และ 094-179-6945 (นางสาวณัฐริกา ปฐวีไพสิฐ)