Loading...

ก่อการครู : ครูบันดาลใจ จุดไฟการเรียนรู้

วิกฤตการศึกษา

ที่มาของ “ ก่อการครู ”

การพัฒนาการศึกษาเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในระดับรากฐาน สังคมไทยได้ฝากความหวังต่ออนาคตของประเทศไว้ที่การศึกษาในฐานะที่เป็นระบบหลักในการพัฒนาศักยภาพของพลเมืองให้มีคุณภาพ  แม้ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาสังคมไทยได้มีการพยายามปฏิรูปการศึกษาในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความพยายามในการกระจายอำนาจและทรัพยากรในการจัดการศึกษาไปยังภาคส่วนต่าง ๆ การพยายามลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ การเปิดโอกาสให้มีระบบการศึกษาทางเลือกใหม่ ๆ เพื่อแก้ปัญหา การพยายามผลักดันให้เกิดชุมชนวิชาชีพ (Professional Learning Community - PLC) แต่กระนั้นก็ดูเหมือนว่าการศึกษาของไทยยังคงเป็นความทุกข์ของสังคม กลไกของรัฐและโครงสร้างบริหารจัดการหลักก็ยังคงไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน กรอบวิธีคิด (Mindset) ของการจัดการศึกษาในระบบกระแสหลักยังคงผลิตซ้ำวาทกรรมและความเชื่อเดิมคือ การรวมศูนย์อำนาจ การควบคุมครอบงำ การใช้กรอบมาตรฐาน - ตัวชี้วัดที่ตายตัวและการจัดการเรียนการสอนแบบ   Passive learning ซึ่งไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไปของเยาวชนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน  อีกทั้งยังไม่ส่งเสริมให้ผู้เรียนและผู้สอนเกิดความคิดสร้างสรรค์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ ขาดความรู้และทักษะที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ช่วยให้คนค้นพบศักยภาพของตนเอง รวมทั้งตัดขาดการเรียนรู้ในชั้นเรียนออกจากบริบททางสังคม

คำถามที่เกิดขึ้น

เราจะสร้าง    การศึกษาที่ช่วยลดความทุกข์ของสังคมไทย

                     การเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียน

                     ห้องเรียนที่มีความหมายและมีความสุขต่อทั้งตัวครูและนักเรียน

                     .

                     .

                     ได้อย่างไร ?

        จากการดำเนินงานที่ผ่านมา โครงการก่อการครู โดยคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่านการทำงานร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคีที่ทำงานด้านการศึกษาและการพัฒนามนุษย์ โดยเล็งเห็นว่าแท้จริงแล้วกุญแจสำคัญในระบบการศึกษา  ครู คือ “ ผู้นำการเปลี่ยนแปลง ” (Change Agents) ผู้หล่อหลอมกรอบความคิด (Mindset) ในการสร้างการเรียนรู้ บ่มเพาะคุณลักษณะภาวะผู้นำและพัฒนาศักยภาพให้แก่เด็กและเยาวชน ซึ่งจะเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคมไทย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โครงการฯ ได้พัฒนาศักยภาพของครูแกนนำจนเกิดการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนสร้างความตระหนักและการสร้างแรงบันดาลใจให้กับครูหรือผู้ที่ทำงานด้านการศึกษา ที่ผ่านมาโครงการก่อการครูร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคีที่ทำงานด้านการศึกษาและการพัฒนามนุษย์พัฒนา “ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง” และ “บุคลากรทางการศึกษา” ทั่วประเทศกว่า 700 คน เพื่อพัฒนามิติด้านจิตใจ ความรู้ความเข้าใจ และทักษะในการจัดกระบวนการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่นำไปปรับใช้ในชั้นเรียนได้

นวัตกรรมการพัฒนาศักยภาพครูเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง 

 

โมดูล 1 ครูคือมนุษย์ สำรวจภูมิทัศน์ภายในของความเป็นครู

การกลับมามองเห็นตนเองและผู้อื่นในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง นำไปสู่การเชื่อว่าตนเองและผู้เรียนมีศักยภาพ เพื่อพร้อมสร้างสรรค์เปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่

โมดูล 2 ครูคือกระบวนกร 

การพัฒนาศักยภาพความเป็นนักจัดกระบวนการเรียนรู้ (Facilitator) ให้การเรียนรู้ในห้องเรียนสามารถเชื่อมโยงกับสภาพจริงของผู้เรียนได้ เกิดเป็น “ห้องเรียนที่มีความสุขและมีความหมาย” ต่อทั้งผู้เรียนและผู้สอน

โมดูล 3 ถอดบทเรียนการขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์และนิเวศการเรียนรู้

ถอดบทเรียนการเรียนรู้และการเติบโตตลอดการเข้าร่วมโครงการ รวมถึงแผนก้าวต่อไปของครูในเชิงการขับเคลื่อนห้องเรียนและเปลี่ยนแปลงการศึกษา

โมดูล 4 ตลาดวิชาการพัฒนาศักยภาพผู้นำสุขภาวะทางปัญญา 

       สร้างพื้นที่เรียนรู้เครื่องมือการขับเคลื่อนประเด็นทางทางสังคมและทักษะการจัดกระบวนการเรียนรู้ 9 เครื่องมือ คือ 1) คิด เห็น เป็นภาพ 2) การออกแบบประสบการณ์เพื่อการเรียนรู้ผ่านเกม 3) การออกแบบห้องเรียนสร้างสรรค์ 4) ทักษะวัฒนธรรม 5) เวทมนตร์คาถาในการสร้างการเรียนรู้ที่เปี่ยมความหมาย 6) ครูกล้าแสดง 7) ทักษะการโค้ชเพื่อครู 8) ห้องเรียนแห่งรัก: เครื่องมือการสะท้อนตนและสร้างสรรค์พื้นที่ของความสุข และ 9) การเงินส่วนบุคคล รู้ก่อน ทำก่อน รวยกว่า และตลาดวิชาอื่น ๆ ที่ปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมกับยุคการศึกษารูปแบบใหม่

        การดำเนินโครงการทำให้ได้ “นวัตกรรมในการพัฒนาศักยภาพครูอย่างเป็นองค์รวม” ที่พัฒนาครูทั้งในมิติด้านจิตใจ องค์ความรู้ และทักษะ จนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งระดับตนเอง ชั้นเรียน โรงเรียน และสังคมรอบตัว  ทั้งยังเกิด       “ชุมชนกัลยาณมิตรเครือข่ายก่อการครู” ทั่วประเทศ ที่สนับสนุนการเติบโตและพัฒนาทั้งมิติทางจิตใจและเชิงวิชาชีพให้กับครูอย่างมากมาย

Contact ก่อการครู
Facebook @Korkankru
Website https://korkankru.com/