Loading...

สิ่งแวดล้อมที่ดีสำคัญต่อคนทุกคนที่นี่ เพราะเราต่างเชื่อมถึงกันเสมอ ชวนฟังเสียงจากเจ้าหน้าที่คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ.

“กิจกรรมของเราทุกคนที่นี่ต่างส่งผลถึงกัน บทบาทในการช่วยดูแลกันและกันจึงไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง การดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเดียวกันกับการดูแลสุขภาพ การจัดการภาระค่าใช้จ่าย และการเคารพในเสียงของคนอื่น ๆ เจ้าหน้าที่ของคณะฯ มีบทบาทที่หลากหลายในการร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อม ทั้งตามหน้าที่ของตนเองและตามความตั้งใจของแต่ละคน”

        การเรียนรู้ของคนแต่ละคนเป็นผลลัพธ์จากองค์ประกอบที่หลากหลาย เช่นเดียวกับสิ่งที่เกิดขึ้นที่คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ได้เกิดจากเฉพาะการลงมือทำของนักศึกษาและการทำงานของอาจารย์เท่านั้น แต่บุคลากรที่อยู่เบื้องหลังของทุกกิจกรรมในคณะฯ อย่างเจ้าหน้าที่และพนักงานแผนกต่าง ๆ ก็มีบทบาทที่สำคัญมากต่อการช่วยสนับสนุนให้การเรียนรู้และการขับเคลื่อนสังคมของคณะฯ เดินหน้าไปได้อย่างราบรื่น บทความนี้เราเปิดพื้นที่สำรวจความคิดของเจ้าหน้าที่คณะฯ ว่ามีความเห็นต่อการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรของคณะฯ อย่างไรบ้าง

เสียงจากเจ้าหน้าที่คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ.

        “พี่เป็ด” - ภัททิรา เรืองเวช เลขานุการคณะฯ ได้กล่าวถึงการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมของคณะฯ ว่า ไม่ใช่หน้าที่ความรับผิดชอบของคนใดคนหนึ่ง สิ่งที่พี่เป็ดให้ความสำคัญมากคือการทิ้งขยะหรือเศษอาหารให้ถูกที่เพื่อไม่ให้เกิดเชื้อโรคและกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ รวมถึงการใช้เสียงซึ่งหากดังเกินจำเป็นก็จะส่งผลต่อสมาธิในการทำงานด้วยเช่นกัน

          “การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีได้นั้น ไม่สามารถเกิดจากบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ เพราะทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นผู้ที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่มากก็น้อยด้วย ดังนั้น การสร้างให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญดูแลสิ่งแวดล้อมจึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวให้เกิดความเหมาะสม เพื่อลดปัญหา และอันตรายจากการปฏิบัติงาน อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น”

        “พี่ชู” - ชูศักดิ์ ยิ้มฟุ้งเฟื่อง นักวิชาการพัสดุ อยากเชิญชวนให้ทุกคนได้มีสุขภาพที่ดีไปพร้อมกับการช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม โดยพี่ชูได้บอกกับเราว่า “ขอเชิญชวนทุกคนเป็นส่วนหนึ่งในการลดใช้พลังงาน เดินขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟต์ เป็นการออกกำลังกาย” ด้วยลักษณะงานของพี่ชูซึ่งดูแลเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างซึ่งส่งผลต่อผลลัพธ์ในการเลือกใช้สิ่งของประเภทต่าง ๆ ของคณะฯ การจัดซื้อจัดจ้างที่พี่ชูตั้งใจนี้ไม่ได้ทำไปเพื่อตอบสนองความต้องการของคนแต่ละคนในคณะฯ เท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อการช่วยดูแลด้านงบประมาณของทั้งคณะฯ และใช้เงินที่มาจากหยาดเหงื่อของประชาชนทุกคนในฐานะผู้เสียภาษีให้คุ้มค่าที่สุดด้วย

        “พี่หน่อย” - วิภพ พวงศิริ นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ และตัวแทนคณะกรรมการโครงการสำนักงานสีเขียว (LSEd Green Office) ได้กล่าวถึงการมีส่วนร่วมในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีและมีความปลอดภัยต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ ซึ่งปัจจุบันพี่หน่อยได้เข้ามามีส่วนร่วมทำงานพร้อมกับอาจารย์และเจ้าหน้าที่ในหลากหลายรูปแบบ เช่น นำเสนอนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ ช่วยเผยแพร่ข้อมูลที่ให้ความรู้และเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น หรือให้ความร่วมมือปฏิบัติตามแนวทางการรณรงค์รักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของโครงการฯ โดยมุ่งหวังให้โครงการนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์

        ขณะนี้มีหลายกิจกรรมที่เกิดขึ้นในคณะฯ เพื่อส่งเสริมจิตสำนึกที่ดีและหาแนวทางปฏิบัติที่ทันสมัยในการรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เช่น การติดตั้งเครื่องย่อยสลายเศษอาหารภายในคณะฯ ให้กลายเป็นปุ๋ยที่มีชื่อว่า “LSEd Natural Fertilizer” โดยบุคคลทั่วไปที่สนใจสามารถมารับได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย รวมถึงการกำหนดจุดรับขวดน้ำพลาสติกเพื่อส่งต่อให้โครงการ “แยกขวด ช่วยหมอ” สำหรับการนำไปผลิตเป็นชุด PPE และส่งมอบให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ใช้ในการปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

        นอกจากนี้พี่หน่อยยังมีบทบาทสำคัญในการดูแลด้านการจัดการอาคารสถานที่ของคณะฯ อีกด้วย  พี่หน่อยให้ความสำคัญต่อการดูแลด้านความปลอดภัยที่จะส่งผลต่อสุขภาพของนักศึกษา อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ โดยพี่หน่อยได้บอกเราว่า  สารเคมีไตรคลอโรเอทธิลีน เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์หลายชนิด เช่น น้ำยาลบคำผิด น้ำยาฆ่าแมลง น้ำยาทำความสะอาด น้ำยาซักแห้ง ถ้าสูดดมจะทำให้ผนังกั้นหลอดเลือดสมองออกฤทธิ์กดสมองได้อย่างรุนแรง ถ้าสูดดมเข้าไปปริมาณมาก อาจเกิดจากการกระตุ้นให้สมองหลั่งสารเคมีออกมามากผิดปกติ ถ้าดูดซึมเข้าทางผิวหนังทำให้เกิดผื่นแพ้และออกฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อหัวใจ อาคารคณะจำกัดการทำกิจกรรมที่ใช้สารเคมีพวกนี้ให้มีในจำนวนที่น้อย และมีถังขยะอันตรายไว้ทิ้งพวกนี้”

        ขณะเดียวกันยังมีการดำเนินการสำนักงานสีเขียวในหลากหลายรูปแบบ โดยมีการกำหนดนโยบาย การวางแผนการดำเนินงานและการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องนี้ ขึ้นอยู่กับผู้บริหารเป็นผู้กำหนดให้ทางคณะดำเนินการจัดการสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารจะต้องรู้ประเด็นปัญหาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในการนำมาแก้ปัญหา ทราบถึงกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและในคณะ ในแต่ละเดือนแต่ละปีจะต้องรับทราบมีปริมาณก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าคณะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าใดเพื่อใช้ในการควบคุมการใช้ทรัพยากรและพลังงานรวมถึงการจัดการของเสีย ซึ่งจะนำไปสู่การทบทวนและการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

        คณะยังมีบทบาทสำคัญในการนำข้อมูลด้านการใช้ทรัพยากรและพลังงานมาสื่อสารให้ทุกคนได้รับทราบในการสร้างจิตสำนึกในการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างประหยัดและรู้คุณค่า ให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการของเสียใน มีการอบรมให้ความรู้ด้านการเตรียมความพร้อมต่อสภาวะฉุกเฉินด้านการดับเพลิงและอพยพหนีไฟ  มีการรู้จักเลือกใช้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อให้รู้จักหลีกเลี่ยงไม่ใช้วัสดุสำนักงาน สารเคมี ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ช่วยกันคิดค้นแหล่งพลังงานทดแทนอื่น ๆ มาใช้ในการประหยัดพลังงาน  เช่น การใช้กระดาษสองหน้า การใช้สื่ออิเล็กทรอนิคส์แทนกระดาษ การใช้สวิทซ์ไฟฟ้าอัตโนมัติเพื่อกันการลืมปิดไฟฟ้าแสงสว่าง การใช้ Timer ตั้งเวลาเปิด-ปิด ไฟฟ้า การนำขยะออกไปจัดการได้อย่างถูกต้องไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น การทิ้งขยะอันตราย E- Waste  การคัดแยกเศษอาหารเป็นปุ๋ย การจัดทำโรงพักขยะที่ถูกต้อง

        ขณะเดียวกันยังมีเรื่องการเฝ้าระวังน้ำเสียจากบ่อบำบัดรวมของคณะก่อนปล่อยน้ำเสียลงสู่คลองของมหาวิทยาลัย ด้วยการตรวจวัดคุณภาพน้ำที่ปล่อยลงคลองไม่ให้เกิดการน้ำเน่าเสีย หรือมีสารเคมีต่าง ๆ เจือปนกับน้ำลงสู่คลอง การวัดแสงในห้องต่าง ๆ ให้มีค่ามาตรฐาน การล้างเครื่องปรับอากาศให้มีอากาศและอุณหภูมิที่ดี  การกำหนดพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่และพื้นที่สูบบุหรี่  ลดการใช้วัสดุสำนักงานที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น ผู้ให้บริการจัดเลี้ยงมีจัดเลี้ยงแบบลดการใช้ภาชนะกล่องพลาสติก กล่องโฟม ขวดพลาสติก แก้วกระดาษ รวมถึงใช้กระดาษที่มีสัญลักษณ์กรีน ผู้ให้บริการด้านการทำความสะอาดแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม งานการคลังของคณะยังได้จัดทำบัญชีวัสดุสำนักงานที่เป็น Green และบัญชีผู้รับจ้าง เพื่อประเมินการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไว้อีกด้วย

        “การพูดคุยกับพี่เป็ด พี่ชู และพี่หน่อยในครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นบทบาทการขับเคลื่อนด้วยงานของเจ้าหน้าที่คณะฯ และความตั้งใจที่ทุกคนมีต่อการร่วมกันดูแลนักศึกษา อาจารย์ และกระบวนการเรียนรู้ของทุกคนในคณะฯ  นอกจากจะได้ยินเสียงสะท้อนที่ทำให้เราได้เห็นบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนแล้ว เรายังได้รับรู้ถึงความห่วงใยและการเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของภาคส่วนอื่น ๆ ในคณะฯ ด้วย ซึ่งทำให้เรายิ่งเกิดความเชื่อมั่นว่า คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. จะเติบโตต่อไปอย่างยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พร้อมกันนั้นก็ยังสามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ด้วยหัวใจที่รักษ์สิ่งแวดล้อม”