Loading...

 

หลักการและเหตุผล

“โครงการจ้างที่ปรึกษาสร้างหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อระดับอุดมศึกษา” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาหลักสูตรและแผนการสอนเกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านการรู้เท่าทันสื่อในระดับอุดมศึกษา

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 มีวัตถุประสงค์หลักในการรณรงค์ ส่งเสริม และสนับสนุน การพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้มีการพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตสื่อ ส่งเสริมให้เกิดการรู้เท่าทันเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัย พัฒนาความรู้ และนวัตกรรมด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ตลอดจนส่งเสริมให้มีสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง โดยมีคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกันดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อให้กับนิสิต/นักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะหลักที่สำคัญและจำเป็นในศตวรรษที่ 21 อาทิ ทักษะการคิด ทักษะการสื่อสาร การรู้เท่าทันสื่อ และความเป็นพลเมืองดี โดยการพัฒนาผ่านหลักสูตร ฐานสมรรถนะเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อ และการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งเพื่อพัฒนาอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาให้เป็นครูยุคใหม่ มีศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรฐานสมรรถนะด้านการรู้เท่าทันสื่อ และมีความรู้ความสามารถในการใช้สื่อเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ของผู้เรียน

การรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) ถือเป็นกระบวนการที่สำคัญในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในการสื่อสารของคนทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเยาวชนและวัยรุ่น ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันกลุ่มเยาวชนและวัยรุ่นเติบโตท่ามกลางเทคโนโลยีสื่อที่ก้าวหน้าและใช้เวลาในแต่ละวันอยู่กับสื่อสังคมออนไลน์ที่เต็มไปด้วยข่าวปลอม (Fake News) ประทุษวาจา (Hate Speech) การระรานทางไซเบอร์ (Cyberbullying) เยาวชนและวัยรุ่นจึงจำเป็นที่จะต้องมีทักษะการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล (Media Information and Digital Literacy – MIDL) เพื่อเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถสร้างและใช้สื่อได้อย่างสร้างสรรค์และ มีประสิทธิภาพ

การส่งเสริมทักษะการรู้เท่าทันสื่อและการพัฒนาระบบเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ เป็นภารกิจตามนโยบายของคณะกรรมการกองทุนฯ และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะต้องดำเนินการพัฒนาทักษะการรู้เท่าทันสื่อให้กับประชาชน เพื่อพัฒนาไปสู่การสร้างระบบการเฝ้าระวังฯ ให้กับสังคม

ดังนั้น กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เห็นควรให้จัดทำโครงการจ้างพัฒนาหลักสูตร การรู้เท่าทันสื่อระดับอุดมศึกษา เพื่อศึกษา วิจัย รวบรวม/บูรณาการ ข้อมูลและองค์ความรู้ เพื่อจัดทำหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อ โดยมีเป้าหมายเพื่อรวบรวมข้อมูล องค์ความรู้ด้านการรู้เท่าทันสื่อและเป็นแนวทางในการเฝ้าระวังและรู้เท่าทันสื่อ แก่ประชาชนในสังคมโดยเฉพาะประชาชนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษาที่เป็นกำลังสำคัญในการสร้างสรรค์สังคมในอนาคต

วัตถุประสงค์

• เพื่อสร้างหลักสูตรด้านการรู้เท่าทันสื่อและเฝ้าระวังสื่อรวมถึงความฉลาดทางดิจิทัล สำหรับนิสิต/นักศึกษาในระดับอุดมศึกษา
• เพื่อขยายองค์ความรู้และแนวทางปฏิบัติในการเฝ้าระวังและการรู้เท่าทันสื่อ รวมถึงเสริมสร้างความฉลาดทางดิจิทัล สำหรับนิสิต/นักศึกษาในระดับอุดมศึกษา
• เพื่อให้เกิดการบูรณาการกลไกความร่วมมือด้านการส่งเสริมทักษะการรู้เท่าทันสื่อที่เหมาะสมกับนิสิต/นักศึกษาในระดับอุดมศึกษา

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
อาคารสิริวิทยลักษณ์ 99 หมู่ 18 ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12121
โทรศัพท์: 02 696 6721