Loading...

การศึกษาขับเคลื่อนสังคม : ทัศนะการนำของอดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้ฯ มธ.

การศึกษาที่มีคุณภาพเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ

แต่การจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้รับ‘ความรู้’ เพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพออีกแล้วสำหรับโลกปัจจุบันที่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โจทย์ท้าทายขององค์กรที่ทำงานด้านการศึกษาคือ วิธีจัดการเรียนรู้แบบไหน ระบบนิเวศการเรียนรู้แบบใด และบุคลากรทางการศึกษาควรปรับตัวหรือมีสมรรถนะอย่างไร เพื่อให้การทำหน้าที่ขององค์กรด้านการศึกษาสามารถจัดการเรียนรู้ที่มีความหมายสำหรับผู้เรียนได้

ในโอกาสที่คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีทีมบริหารชุดใหม่ นำโดย ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข  คณบดี จึงถือโอกาสมาแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ เป้าหมาย ความตั้งใจ และความท้าทายในอนาคตของคณะที่อายุเพียง 7 ปี แต่ได้ตกผลึกองค์ความรู้ วิธีการทำงาน และการจัดการเรียนการสอน จากการระดมความคิดและทำงานร่วมกันของทีมงานทุกระดับ โฉมใหม่ของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ที่ไม่ใช่แค่สถาบันผลิต “ครู” แต่เป็นหน่วยหนึ่งในสังคมที่เรียนรู้ทฤษฎีเพื่อเชื่อมร้อยกับประสบการณ์ ทั้งในชั้นเรียน ชุมชน และบริบทการทำงานจริง

ผ่านมา 7 ปีแล้ว อีก 3 ปีข้างหน้าคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์จะครบรอบ 1 ทศวรรษ คณะจินตนาการว่าจะเดินหน้าไปในทิศทางไหน ?

ก่อนจะจินตนาการถึงการเดินหน้าของคณะ เราคงต้องจินตนาการถึงอนาคตภาพรวมของสังคม รวมถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกด้วยว่าจะเป็นอย่างไร และกำลังจะดำเนินไปในทิศทางไหน ซึ่งถ้าให้คาดการณ์ จากนี้ไปอีก 3 ปี สังคมและโลกในอนาคตน่าต้องเผชิญกับสภาวะวิกฤตในหลายๆ เรื่อง เช่น ปัญหาด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สภาพเศรษฐกิจ การปะทะกันทางความคิดในเชิงวัฒนธรรมและการเมือง ผู้คนในสังคมจำเป็นจะต้องอยู่กับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ให้ได้ คำถามก็คือ แล้วคณะจะอยู่ในบทบาทไหนในวันที่สังคมเต็มไปด้วยวิกฤตและปัญหา ทีมบริหารจินตนาการร่วมกันว่า เราอยากเห็นคณะมีบทบาทในการสร้างความตระหนักรู้และการเปลี่ยนแปลงในสังคม ซึ่งเรามองว่าควรจะต้องทำในหลายระดับ

         " ระดับแรก ในฐานะสถาบันการศึกษา หน้าที่หลักของเราคือ การทำงานกับคนรุ่นใหม่ พัฒนาและบ่มเพาะพวกเขาให้มีศักยภาพในการขับเคลื่อนสังคม ผลิตบัณฑิตออกมาเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งในและนอกระบบการศึกษา รวมทั้งในองค์กรและภาคส่วนต่างๆ ของสังคม  เราอยากเห็นบัณฑิตของเราเป็นคนที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับบริบทความเปลี่ยนแปลงทางสังคม มีความสามารถในการพัฒนาและใช้เครื่องมือการเรียนรู้ใหม่ๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้สังคมดีขึ้น  "

อีกระดับหนึ่ง คือ ในฐานะที่เราเป็นองค์กรด้านวิชาการ เราจึงต้องทำหน้าที่สร้างความตระหนักรู้ในสังคม ด้วยการพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ที่ช่วยเปิดมุมมองความคิดและความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาและการเรียนรู้ของมนุษย์ในมิติและมุมมองที่หลากหลาย เพื่อแสวงหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ผ่านพื้นที่การเรียนรู้และช่องทางใหม่ๆ เพื่อสื่อสารกับสังคม

ทำไมถึงต้องแสวงหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในเรื่องการศึกษาและการเรียนรู้ของมนุษย์ ?

จากประสบการณ์ทำงานที่คณะมาตลอด 7 ปี เราพบว่า คนทำงานวิชาชีพส่วนใหญ่ รวมทั้งในฝั่งการศึกษา มักจะมีความเคยชินกับรูปแบบและวิธีการทำงานแบบเดิม ขณะที่สังคมวิ่งไปข้างหน้าค่อนข้างเร็ว มีปัญหาใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา ถ้าเรายังใช้วิธีคิดและวิธีการแก้ปัญหาแบบเดิม การทำงานจะตกร่องและวิ่งกลับมาในวงจรเดิม ทำแทบตายสุดท้ายไม่ไปไหนสักที

ปัจจุบันคำว่า ‘นวัตกรรม’ ถูกทำมาใช้ค่อนข้างพร่ำเพรื่อ เรามองว่านวัตกรรมที่ดีที่สุด คือ นวัตกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นบนปัญหาที่แท้จริง ทำให้คนเข้าใจว่าปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นคืออะไร แล้วจะช่วยกันจัดการปัญหาอย่างไร คณะพยายามค้นหานวัตกรรมที่ไม่ได้เป็นแค่สิ่งประดิษฐ์ แต่เป็นวิธีคิด กระบวนการ เครื่องมือการเรียนรู้ หรือเครื่องมือทางการศึกษา เพื่อช่วยกันพาสังคมทุกส่วนก้าวข้ามขอบเขตหรือข้อจำกัดซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าแก้ไขไม่ได้

สิ่งที่ทีมบริหารและคณะทำงานให้ความสำคัญ คือ การเปิดพื้นที่การทำงานร่วมกันซึ่งเป็นสิ่งที่คณะพยายามทำมาตลอด

         " เราพยายามสร้างเครือข่าย เพราะได้เรียนรู้ว่าการแก้ปัญหาด้านการศึกษาถ้าทำงานคนเดียว/ องค์กรเดียว ยังไงก็ไม่มีทางรอด แต่ต้องอาศัยวิธีคิด มุมมอง เครื่องมือ วิธีการจัดการจากหลากหลายภาคส่วนในสังคม เพื่อให้เราเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ และช่วยกันลงมือแก้ไขจากทุกฝ่าย "

กระบวนการบ่มเพาะบัณฑิตของคณะวิทยาการเรียนรู้ฯ เป็นอย่างไร ?

กระบวนการในการบ่มเพาะผู้เรียนไม่ว่าจะในระดับไหนไม่ได้เกิดเฉพาะในชั้นเรียน ไม่ใช่แค่สอนในห้องเรียนแล้วจบ เพราะกระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้นตลอดเวลาและต่อเนื่อง เราต้องสังเกตว่าเกิดอะไรขึ้นกับสิ่งต่างๆ รอบตัวในสังคมที่เราใช้ชีวิตอยู่ทุกวัน ดึงประเด็นเหล่านั้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ เราทำให้ผู้เรียนเข้าใจโลกและชีวิต บนโจทย์ที่ว่าเราจะเข้าใจปัญหาต่างๆ ผ่านมุมมองที่หลากหลายอย่างไรได้บ้าง กระบวนการคิดและอภิปรายเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในคณะของเรา  นอกจากนี้ จุดเด่นของคณะวิทยาการเรียนรู้ฯ คือ ให้ความสำคัญกับการรับฟัง สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้นักศึกษาได้แสดงออกทางความคิด ได้ทดลองใช้เครื่องมือ ไอเดีย และนวัตกรรมต่างๆ ด้วยตัวเอง เพื่อให้เขาเข้าใจและเห็นถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ความคิดหนึ่งๆ หรือเครื่องมือการเรียนรู้หนึ่งๆ

กระบวนการที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือ การสร้างชุมชนการเรียนรู้ที่ให้ความเคารพในความเท่าเทียมกัน ทั้งระหว่างอาจารย์ เจ้าหน้าที่ ผู้บริหาร นักศึกษา หรือใครก็ตามที่เข้ามามีส่วนร่วมในเครือข่าย เราพยายามรับฟังเสียง ทั้งเสียงของความคิด ความรู้สึก เสียงจากประสบการณ์ของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ดูแลความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของคนในองค์กรให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ภายใต้ทรัพยาการที่มีอยู่อย่างจำกัดในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้หลอมรวมระบบนิเวศทั้งหมดของคณะวิทยาการเรียนรู้ฯ

ผู้เรียนจะได้อะไรจากระบบนิเวศนี้ ?

เราเชื่อมั่นว่าระบบนิเวศการเรียนรู้ที่คณะพยายามสร้างให้เกิดขึ้นจะช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนทั้งในมิติวิชาชีพและมิติความเป็นมนุษย์ กระบวนการเรียนรู้ที่คณะ บวกกับสภาพแวดล้อมและปัจจัยต่างๆ รอบด้านจะช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนไม่หยุดที่จะเรียนรู้ ตั้งคำถาม และแสวงหาคำตอบใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญคือ คณะไม่ได้พยายามจะสอนทุกเรื่องให้จบเบ็ดเสร็จภายในช่วงเวลาที่เข้ามาเรียนเท่านั้น แต่เราเน้นที่การปลูกฝังจิตสำนึกและความตระหนักรู้ในตัวเขา เพราะมันคือต้นกล้าที่จะช่วยให้เขานำวิธีคิด องค์ความรู้ ทักษะ ความสามารถ และทัศนคติที่ได้พัฒนาในระหว่างเรียนไปใช้ต่อในชีวิตและหน้าที่การงาน เราคิดว่า นี่คือหลักการที่สำคัญในการบ่มเพาะศักยภาพมนุษย์

คณะมีความพร้อมด้านต่างๆ ที่เอื้ออำนวยต่อการบ่มเพาะผู้เรียนมากน้อยแค่ไหน ?

เรามีทรัพยากรหลายด้านที่มีคุณภาพและมีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรมนุษย์ เช่น ครู (โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษา) อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ เราเน้นย้ำเสมอเรื่องการเรียนรู้ระหว่างกัน ผมมั่นใจว่าแทบจะ 100% ของบุคลากรมีใจทำงานและอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้สังคม นอกจากนั้น เรายังมีความพร้อมด้านอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อม เพราะเราตระหนักดีว่า พื้นที่ทางกายภาพสำคัญพอๆ กับพื้นที่ทางความคิดในการบ่มเพาะผู้เรียน เราเลยให้ความสำคัญกับการออกแบบอาคารและพื้นที่การเรียนรู้ให้เอื้อต่อการสร้างปฏิสัมพันธ์ของผู้เรียนและผู้สอน มีพื้นที่ในการจัดการชั้นเรียนที่หลากหลาย เน้นพื้นที่โล่งและเปิดกว้าง สร้างบรรยากาศให้คนได้นั่งคุยกัน มีสภาพแวดล้อมที่ทำให้รู้สึกว่าอยู่แล้วสบายไม่ใช่ถูกกำกับควบคุมความคิด และสุดท้ายคือ เรามีความพร้อมด้านเครือข่ายของคนทำงานและองค์กรที่ช่วยเหลือสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียนให้สามารถพัฒนาตัวเองในด้านต่างๆ ตามที่ถนัดและสนใจ เพื่อให้เขามีโอกาสในการทดลองเรียนรู้และลงมือปฏิบัติในบริบทที่หลากหลาย ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับโลกยุคใหม่อย่างมาก

จุดแข็งของหลักสูตรคณะวิทยาการเรียนรู้ฯ คืออะไร ?

ที่ผ่านมาคณะมีการปรับปรุงหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง ทีมทำงานใช้เวลาคุยเรื่องนี้ค่อนข้างเยอะ ทั้งระดับโรงเรียนสาธิตและระดับคณะ สำหรับโรงเรียนสาธิต เราพัฒนาเนื้อหาหลักสูตรที่ตอบโจทย์ทั้งสภาพสังคมในปัจจุบันและในอนาคต มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญที่เป็นตัวจริงในโลกการทำงานและโลกวิชาการให้เข้ามาร่วมถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียนของเรา อย่างล่าสุด เรากำลังจะเปิดวิชา คริปโตเคอเรนซี (Cryptocurrency) ซึ่งเป็นความรู้และทักษะที่คนรุ่นใหม่สนใจมาก สำหรับคณะ เราพยายามคำนึงถึงสมดุลของโลกการทำงานและโลกวิชาการ รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ด้วยการเน้นให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงโลกการเรียนรู้ในชั้นเรียนเข้ากับโลกการทำงานทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ที่สำคัญคือ พวกเขาจะต้องสามารถสร้างองค์ความรู้ของตนเองจากการปฏิบัติจริงได้ 

สำหรับในปีนี้ เราจะเปิดหลักสูตรใหม่อีกสองหลักสูตร คือ ปริญญาโทสาขาวิชานวัตกรรมการเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นหลักสูตรออนไลน์ 100% และหลักสูตรปริญญาเอกสาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้ ซึ่งเรามุ่งเน้นการสร้างผู้นำทางการศึกษาและการเรียนรู้ที่จะร่วมขับเคลื่อนสังคมต่อไป นอกเหนือจากสองหลักสูตรใหม่ เราก็ยังมีปริญญาตรีและปริญญาโท รวมทั้งหลักสูตรออนไลน์ระยะสั้น ที่เปิดโอกาสให้ครูอาจารย์ และคนทำงานด้านการศึกษาเข้ามาเรียนรู้ได้โดยอิสระ

จุดแข็งอีกด้าน คือ หลักสูตรของเรามีความเป็นสหวิทยาการ ที่พยายามเชื่อมโยงศาสตร์หลากหลายสาขาวิชามาร่วมกันแสวงหาแนวทางในการพัฒนาและแก้ปัญหาด้านการศึกษาและการเรียนรู้ของมนุษย์ อาจจะกล่าวได้ว่า คณะวิทยาการเรียนรู้ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นคณะด้านการศึกษาคณะเดียวในประเทศไทยที่มีอาจารย์เรียนจบจากหลากหลายสาขาวิชา ทั้งวิทยาศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ สถาปัตยกรรมศาสตร์ จิตวิทยา ประชากรศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และอื่นๆ อีกจำนวนมาก ซึ่งข้อดีของการมีอาจารย์ที่หลากหลายคือ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้กับอาจารย์ที่มีแนวคิดและมุมมองต่อประเด็นด้านการศึกษาและการเรียนรู้ที่กว้างขวาง ทำให้เกิดการวิเคราะห์ มองเห็นปัญหาและทางออกจากแง่มุมที่แตกต่างออกไป ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ในลักษณะนี้มีความจำเป็นต่อการทำความเข้าใจความซับซ้อนของปัญหาในโลกปัจจุบันอย่างมาก

ได้ยินมาว่าการเรียนการสอนในชั้นเรียนเป็นรูปแบบ Active learning ทำให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ของตัวเอง ไม่ใช่เป็นแค่ผู้รับทางเดียว ทางคณะวางแนวคิดเรื่องนี้อย่างไร ?

คณะให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของผู้เรียนมากที่สุด เราตั้งคำถามเสมอว่าการเรียนรู้แบบไหนที่ได้ผล การสอนแบบไหนที่กระตุ้นผู้เรียนให้เกิดความเข้าใจและพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งคณะ เราวางหลักการในจัดการเรียนการสอนในลักษณะ ‘Team Teaching’ มาโดยตลอด คือ แต่ละรายวิชาจะมีทีมผู้สอนทำหน้าที่ออกแบบกระบวนการเรียนรู้โดยคำนึงถึงเป้าหมายของรายวิชา และเป้าหมายรวมของหลักสูตรร่วมกัน ทีมอาจารย์เหล่านี้จะช่วยกันดูแลกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนให้มีประสิทธิภาพดีที่สุด ไม่ใช่เเค่แบ่งงานสลับกันเข้าชั้นเรียน ส่วนรูปแบบในการจัดการเรียนการสอน เราอาจจะเคยได้ยินแนวคิด ‘Active learning’ ‘Transformative learning’ หรือ ‘Collaborative learning’ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนมุ่งเน้นไปที่การเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ

นอกเหนือไปจากนั้น สิ่งที่เราตั้งใจจะทำในปีนี้ คือ การจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านการสอนและการเรียนรู้ เพื่อทำงานกับคณาจารย์ทั้งในมหาวิทยาลัยและนอกมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการสอนและการประเมินผลในระดับอุดมศึกษา เนื่องจากที่ผ่านมาคณะได้รับเชิญให้ไปช่วยจัดอบรมด้านการจัดการเรียนการสอนให้กับคณะและมหาวิทยาลัยภายนอกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แนวทางที่เราทำมาตลอดนั้นได้รับการยอมรับและประสบความสำเร็จพอสมควร เพราะฉะนั้น เราจึงตั้งใจที่จะทำงานในเชิงลึกด้านการพัฒนาองค์ความรู้และชุดทักษะในเรื่องนี้อย่างจริงจัง รวมทั้งทำงานเผยแพร่ขยายผลของสิ่งที่เราทำไปสู่สังคมต่อไป

อ่านบทความต่อไป w-I-s-e 4 ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนสังคมผ่านการศึกษาและการเรียนรู้: คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ.ได้ที่..https://lsed.tu.ac.th/published-message-content-02