W-I-S-E 4 ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนสังคมผ่านการศึกษาและการเรียนรู้: คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ.
การก้าวขึ้นเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำที่ทำงานขับเคลื่อนสังคมผ่านการศึกษาและการเรียนรู้ของคนในสังคม คือแก่นยุทธศาสตร์ในระยะ 3 ปีนับจากนี้ ของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ และโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับทีมบริหารชุดใหม่ นำโดย ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดี
“ยุทธศาสตร์ใดบ้างที่จะเอื้ออำนวยให้การทำงานบรรลุเป้าหมายที่วางไว้?” เป็นโจทย์ที่คณะทำงาน ทั้งคณะครู คณาจารย์ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ ระดมความคิดแล้วออกแบบร่วมกัน จนเป็นที่มาของ WISE ยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่
W - Workplace adaptability and quality enhancement
สร้างองค์กรที่พร้อมปรับตัวและพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
I - Inter-National partnership and visibility
สร้างเครือข่ายและการเป็นที่รู้จักในระดับชาติและนานาชาติ
S - Social responsibility and collective change
สร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน
E –Education for the future
สร้างทรัพยากรมนุษย์เพื่อตอบโจทย์แห่งอนาคต
W - Workplace adaptability and quality enhancement
สร้างองค์กรที่พร้อมปรับตัวและพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
หัวใจของยุทธศาสตร์แรก คือ การสร้างองค์กรให้คนทำงานมองเห็นคุณค่าในตัวเอง เป็นองค์กรที่พร้อมปรับตัวและพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง จากการทำงานตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา คณะได้เรียนรู้ว่าการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ทำให้คณะก้าวข้ามอุปสรรคการทำงานภายใต้ข้อจำกัดทางทรัพยากร ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และสถานการณ์วิกฤติต่างๆ ได้
การดูแลคุณภาพชีวิตของบุคลากรทั้งทางด้านวิชาชีพและชีวิตส่วนตัว เช่น สุขภาวะทางร่างกายและความสุขทางจิตใจ รวมถึงการต่อยอดความรู้ให้แก่บุคลากร เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยผลักดันองค์กรให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า เมื่อคนทำงานมองเห็นคุณค่าในตัวเอง งานจะขับเคลื่อนไปได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งสามารถพัฒนาตัวเองไปถึงจุดหมายตั้งใจไว้หรือไปได้ไกลกว่านั้น
“คณะเชื่อว่าคนที่มีความสุขในการทำงาน มองเห็นว่าเป้าหมายการทำงานนั้นทำไปเพื่ออะไร และตอบโจทย์ชีวิตอย่างไร คือเครื่องมือที่สำคัญของยุทธศาสตร์แรก กระบวนการทำงานควรพยายามสร้างองค์กรให้คนทำงานมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่ตัวเองทำ รู้สึกถึงการได้รับการมองเห็น ได้รับการดูแลและพัฒนาศักยภาพในเชิงความรู้ ทักษะ และสมรรถนะ ต่อยอดวิชาชีพต่อไปได้ นำมาสู่การมองเห็นศักยภาพของตัวเอง และพัฒนาไปถึงจุดที่เหนือกว่าคำว่า “ที่สุด” ของเขา รวมถึงการสำรวจความเป็นไปได้ที่จะขยับขยายการเรียนรู้ไปยังบริบทใหม่ๆ ในที่ทำงาน”
นอกจากนี้ ด้านการปรับปรุงคุณภาพ คณะยังให้ความสำคัญกับ “การฟังเสียง” คนในองค์กร ให้เกียรติทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อช่วยกันมองภาพรวมว่าคณะจะพัฒนาไปในทิศทางไหน แล้วจะเดินทางไปข้างหน้าร่วมกันอย่างไร
“3 ปีต่อจากนี้ เราตั้งใจอยากจะสร้างพื้นที่รับฟังเสียงของคนในองค์กรให้สม่ำเสมอมากขึ้น รวมทั้งให้สำคัญกับกระบวนการและพลวัตการทำงานที่ไม่ตายตัว ปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ความตั้งใจของทีมบริหาร คือ การสร้างพื้นที่ให้ทุกคนในองค์กรรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและพร้อมเดินไปข้างหน้าด้วยกัน รู้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะแค่ตัวเองแต่มีประโยชน์ต่อสังคม และต่อระบบการศึกษาและการเรียนรู้ของคนในบริบทที่แตกต่างหลากหลาย”
I - Inter/national partnership and visibility
สร้างเครือข่ายและการเป็นที่รู้จักในระดับชาติและนานาชาติ
คำว่า Inter/national มีขีดคั่นกลาง แสดงให้เห็นหัวใจสำคัญที่ไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรในต่างประเทศ แต่รวมถึงภายในประเทศด้วย
“ ยุทธศาสตร์ใน 3 ปีข้างหน้านับจากนี้ คือ การสร้างเครือข่ายทางวิชาการทั้งในระดับชาติและนานาชาติให้มากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง สร้างความร่วมมือในมิติใหม่ๆ และสนับสนุนการทำงานร่วมกับเครือข่ายให้เกิดการเผยแพร่ความคิด องค์ความรู้ และความเข้าใจด้านการศึกษาและการเรียนรู้ เพื่อสร้างการตระหนักรู้เหล่านี้ออกไปในวงกว้าง ”
เช่น
- การหยิบยกข้อมูลเชิงวิชาการมาสื่อสารให้เข้าใจง่ายและเข้าถึงสาธารณะมากขึ้น
- การเป็นตัวแทนหรือพื้นที่สร้างการพูดคุย การแสวงหาความรู้ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงนโยบาย
ทั้งหมดนี้เป็นการต่อยอดกระบวนการทำงานของคณะวิทยาการเรียนรู้ฯ ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ที่ได้นำองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัย และบทเรียนการทำงานในพื้นที่จริงของคณาจารย์และเครือข่ายมาเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง
“การสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริงในสังคมไม่ได้อาศัยเฉพาะคนทำงานเชิงวิชาชีพเท่านั้น แต่ต้องการผู้คนที่มองเห็นความสำคัญต่อเรื่องต่างๆ แล้วร่วมกันเป็นแรงผลักดัน กระตุ้น หรือสนับสนุนให้การแก้ปัญหาเกิดขึ้น สิ่งที่คณะจะทำอย่างเร่งด่วน คือ การทำงานในระดับนานาชาติให้มากขึ้น พยายามเปิดพรมแดน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ รวมถึงการผลักดันและเผยแพร่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการศึกษาบนฐานงานวิจัย ซึ่งมักจะเป็นสิ่งที่ขาดหายไปในวงวิชาการด้านการศึกษา เพื่อจะเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับสังคมต่อไป”
S - Social responsibility and collective change
สร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน
คณะวิทยาการเรียนรู้ฯ ก่อตั้งขึ้นจากการมองเห็นปัญหาในระบบการศึกษาและการเรียนรู้ของคนในสังคม ด้วยการเริ่มต้นตั้งคำถามกับประเด็นปัญหารอบตัว จากนั้นจึงเชิญชวนผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ มาช่วยกันระดมความคิด ทำความเข้าใจปัญหา และแสวงหาทางออกร่วมกัน จุดนี้ถือเป็นจุดยืนที่สำคัญของคณะ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการการทำงานเพื่อตอบโจทย์ประเด็นปัญหาทางสังคม เช่น ความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมกันในระบบการศึกษา การพัฒนาศักยภาพของครู ตลอดจนวิธีคิดและวิถีปฏิบัติที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการศึกษาทั้งในและนอกระบบ เป็นต้น
“LSEd Learning Innovator” เป็นหนึ่งตัวอย่างของการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน ในรูปแบบของ “คลับ” (club) / “พื้นที่” (space) สำหรับผู้เรียนที่สนใจทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านมิติทางการศึกษาและการเรียนรู้ พื้นที่นี้เปิดให้ผู้เรียนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ต่อยอดวิธีคิด พัฒนานวัตกรรมที่ช่วยสร้างรายได้ รวมทั้ง พยายามผลักดันให้ผู้เรียนเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเปลี่ยนแปลง
“ผู้เรียนสามารถนำประสบการณ์จากการเรียนรู้ไปใช้งานต่อได้จริง คณะมองเห็นว่าคนรุ่นใหม่หลายคนไม่ได้อยากเข้าไปทำงานในระบบ พวกเขาอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงจากองค์กรเล็กๆ เพื่อไปขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เพราะฉะนั้นการเตรียมตัวผู้เรียนให้มีความรู้ความเข้าใจ มีประสบการณ์จากการลงมือทำจริง และได้เจอกับคนที่ทำงานในสาขาอาชีพต่างๆ จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของพวกเขาได้”
E –Education for the future
สร้างทรัพยากรมนุษย์เพื่อตอบโจทย์แห่งอนาคต
ในฐานะสถาบันการศึกษา คณะให้ความสำคัญกับการสร้างทรัพยากรมนุษย์ออกไปสู่สังคมเพื่อตอบโจทย์อนาคต ด้วยการพัฒนาศักยภาพให้ผู้เรียนไม่ว่าจะอยู่ในระดับใดให้สามารถทำงานและสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ตามเป้าหมายของแต่ละบุคคล
“ ภายใน 3 ปีนี้ คณะให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตร ทั้งในระดับมัธยมฯ (โรงเรียนสาธิตฯ) ระดับปริญญาตรี โท และเอก รวมทั้งหลักสูตรออนไลน์ต่างๆ นอกจากนั้น เรายังมุ่งสร้างและพัฒนาระบบนิเวศที่สนับสนุนการเรียนรู้ของผู้คนที่เกี่ยวข้อง เช่น ครอบครัว ชุมชน ผ่านการทำงานทั้งในและนอกห้องเรียน รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้เรียนแต่ละคนพัฒนาสมรรถนะที่เหมาะสมต่อการใช้ชีวิตในอนาคตด้วย ”
การพัฒนาหลักสูตร
ระดับมัธยมศึกษา
โรงเรียนสาธิตฯ ได้พัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยจากการทำงานอย่างต่อเนื่องของทีมผู้สอน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ทั้งในแนวลึกและแนวกว้าง เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความตื่นตัวในการเรียนรู้ และค้นพบศักยภาพของตนเองในด้านต่างๆ
“การเรียนการสอนของโรงเรียนสาธิตมุ่งเน้นให้ผู้เรียนพัฒนาตนเองทั้งในด้านวิชาการและวิชาชีวิต เราให้ความสำคัญกับกระบวนการค้นหาตัวเองของผู้เรียน เพราะรากฐานความเข้าใจเหล่านี้จะช่วยให้เขามีเครื่องมือในการเลือกทางเดินในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเรียนต่อ ทำงาน หรือทำสิ่งที่อยากทำตามความถนัดและความสนใจ กระบวนการเหล่านี้มักจะไม่ได้รับความความสำคัญในสังคมไทย เพราะที่ผ่านมาระบบการศึกษาเน้นไปที่การสร้างให้เด็กเรียนเก่งเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ตามความต้องการของสังคม แต่โรงเรียนสาธิตของเรามุ่งเน้นการสร้างศักยภาพให้นักเรียนได้เติบโตเป็นรายบุคคล ให้แต่ละคนได้สร้างการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองตามความถนัดและความสนใจของเขาภายใต้การสนับสนุนจากระบบนิเวศการเรียนรู้ในมิติต่างๆ”
ระดับปริญญาตรี
หลักสูตรระดับปริญญาตรีมีการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยในการปรับปรุงล่าสุดนั้น คณะให้ความสำคัญกับการบ่มเพาะการเรียนรู้ของผู้เรียนให้มีความพร้อมทั้งในด้านความรู้ ทักษะวิชาชีพและทักษะชีวิต ตลอดจนทัศนคติที่สามารถรับมือกับความผันผวนในโลกปัจจุบันและอนาคต เพื่อให้สามารถนำการเรียนรู้ดังกล่าวไปต่อยอดกับการทำงานหลังจบการศึกษาได้ ใน 3 ปีข้างหน้านี้ คณะจะสนับสนุนให้ผู้เรียนออกไปฝึกงานในองค์กรต่างๆ ด้านการศึกษาและการพัฒนามนุษย์เพื่อทดลองนำความรู้และทักษะที่ได้เรียนมาไปประยุกต์ใช้ในโลกการทำงานจริง โดยสามารถนำชั่วโมงการทำงาน รวมทั้งประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้กลับมาเทียบโอนเป็นหน่วยกิตได้
ระดับปริญญาโทและเอก
ในปีนี้ ทางคณะจะเปิดหลักสูตรใหม่ ระดับปริญญาโท (ออนไลน์) สาขานวัตกรรมการเรียนรู้ (Learning innovation) และปริญญาเอก สาขาวิทยาการเรียนรู้ (Learning sciences) เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาบุคคลากรของประเทศทั้งในด้านวิชาการและการปฏิบัติ ซึ่งคณะหวังว่า บัณฑิตที่จบการศึกษาจากหลักสูตรดังกล่าวจะช่วยสร้างองค์ความรู้ใหม่ รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ต่อสังคมในประเด็นปัญหาต่างๆ ทางด้านการศึกษาและการเรียนรู้ เพื่อช่วยกันแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหา และริเริ่มพัฒนานวัตกรรมและกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมต่อบริบทต่างๆ ของสังคม
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากฟันเฟืองเล็กๆ
“ทุกคนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเปลี่ยนแปลง”
สังคมตอนนี้กำลังเผชิญกับวิกฤตมากมาย โดยเฉพาะเรื่องระบบการศึกษาและการเรียนรู้ของผู้คน ตลอดจนปัญหาและความขัดแย้ง ทั้งด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเมืองและสิ่งแวดล้อม การศึกษาและการเรียนรู้ของผู้คนถือเป็นหัวใจสำคัญมากต่อการก้าวข้ามปัญหา วิกฤต และความขัดแย้งเหล่านี้ คณะวิทยาการเรียนรู้ฯ เชื่อมั่นในศักยภาพที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันสังคมให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ เรามองว่า คณะครู คณาจารย์ เจ้าหน้าที่และทีมผู้บริหาร ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้คณะเเละโรงเรียนเติบโตขึ้นอย่างมั่นคง ไม่ว่าจะอีก 3 ปีข้างหน้าหรือไกลกว่านั้น เราหวังว่าทุกคนจะเห็นว่าที่นี่ คือ “บ้าน” หรือพื้นที่ปลอดภัยที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้ใช้ศักยภาพในตัวได้อย่างเต็มที่ เพื่อร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม ขณะเดียวกันก็ช่วยกันสร้างให้ที่ทำงานเป็นบ้านที่น่าอยู่ร่วมกัน
“ต่อให้ผู้บริหารมีนโยบายออกมามากมายแต่ถ้าบุคลากรไม่เห็นตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงก็คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าเรามองเห็นคุณค่าในสิ่งที่ตัวเองทำ มองเห็นว่างานที่ทำนั้นตอบโจทย์สังคมและโจทย์ชีวิตของตัวเองอย่างไร รวมทั้งเข้าใจว่า งานของแต่ละคนคือส่วนหนึ่งของฟันเฟืองใหญ่ที่กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ในสังคม สุดท้ายแล้ว เราจะพบว่า ถ้าสังคมดีขึ้น คุณภาพชีวิตของเราแต่ละคนก็จะดีขึ้นตามเช่นกัน
การจะทำให้สังคมดีขึ้นต้องใช้พลังการมีส่วนร่วม พลังการส่งเสียง และพลังของการดูแลสนับสนุนซึ่งกันและกัน เราหวังที่จะเห็นความมุ่งมั่นของบุคลากรทุกคนในการช่วยกันแสวงหาทางออกให้กับสังคมไทย และร่วมกันขับเคลื่อนไปในฐานะองค์กรที่ชื่อว่า คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ และโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”
อ่านบทความต่อไป จัดการเรียนรู้อย่างไรให้มีความหมายกับผู้เรียน: คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. .ได้ที่..https://lsed.tu.ac.th/published-message-content-03