การเรียนรู้ต้องไม่แยกขาดจากสังคม และเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสังคม: คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ.
คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ วางเป้าหมายขับเคลื่อนสังคมตามวิสัยทัศน์ "สร้างสังคมแห่งการเคารพและเรียนรู้ร่วมกัน" ยุทธศาสตร์การดำเนินงานจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรในชุมชนแห่งการเรียนรู้นี้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับท้องถิ่น ประเทศและนานาชาติ เพื่อสานพลังเครีอข่ายความร่วมมือทั้งภายในและภายนอกสถาบันผ่านการออกแบบหลักสูตรและโครงการบริการสังคมที่จะสามารถเชื่อมโยงจุดแข็งขององค์กรทั้งในแง่นวัตกรรมการเรียนรู้และทรัพยากรต่างๆ เข้ากับแนวทางการขับเคลื่อนสังคมที่สอดรับกับสถานการณ์ความเป็นไปของโลกทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
จากวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ดังกล่าว นอกเหนือจากการพัฒนาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้และหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้และนวัตกรรมการศึกษา แนวคิดในการออกแบบกิจกรรมนอกหลักสูตรเพื่อผลิตนักขับเคลื่อนการเรียนรู้ของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ยังวางรากฐานเรื่อง "การเรียนรู้ที่ไม่แยกขาดจากสังคม" (Learning for social transformation) แก่นักศึกษาอย่างจริงจัง ด้วยกระบวนการ 4 ประการ ประกอบด้วย
1) เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ค้นหาศักยภาพของตนเอง โดยเตรียมความพร้อมทั้งในระดับปัจเจกและสิ่งแวดล้อม เพื่อเอื้อให้นักศึกษาสามารถพัฒนาตนเองบนพื้นฐานความสามารถหรือความสนใจที่มีได้อย่างสอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์โลกปัจจุบันที่เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และการเป็นผู้ประกอบการนั้นมีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนักศึกษาต้องก้าวเข้าสู่ร้ัวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำเป็นต้องพบเจอเพื่อน ครูอาจารย์และกิจกรรมใหม่ๆ มากมาย โจทย์สำคัญจึงเป็นการเปิดโอกาสให้สามารถเรียนรู้ สิ่งใหม่อย่างอิสระควบคู่ไปกับการใคร่ครวญตั้งคำถามเพื่อวางเป้าหมายของชีวิต
2) สนับสนุนให้นักศึกษาเข้าใจความเป็นไปของโลกปัจจุบันอย่างแท้จริงโดยการร่วมทำงานกับชุมชน หรือออกแบบกิจกรรมหรือโครงการที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมซึ่งมาจากโจทย์ทางสังคม โดยใช้ความถนัดหรือความสนใจประเด็นปัญหามาเป็นแรงขับเคลื่อน ก่อให้เกิดการคิดเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบค้นหาหรือพบมุมมอง/ วิธีการใหม่ที่จะสามารถสร้างการเรียนรู้ที่ดีแก่ตนเองและผู้อื่นตามมา
3) สร้างจุดยืนที่มั่นคงผ่านการผลักดันให้นักศึกษาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่สังคม ซึ่งมีคุณสมบัติสำคัญ 5 ประการ คือ 1) มีจิตสำนึกสาธารณะที่จะร่วมขับเคลื่อนสังคมให้มีคุณภาพและเป็นธรรม (Response & Equity) 2) เป็นนักเรียนรู้ผู้พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ (Active learner) 3) มีความริเริ่มที่จะลงมือทำและแก้ปัญหาในทางที่สร้างสรรค์ (Creative) 4) มีจุดยืนของตัวเองและเคารพในความแตกต่างของผู้อื่น (Self-confidence & Respect for others) และ 5) มีภาวะผู้นำที่สามารถ นำร่วมและร่วมนำ (Collective leadership)
4) นำแนวคิดการดำเนินงานแบบธุรกิจเพื่อสังคม (Social enterprise) มาเป็นเครื่องมือให้นักศึกษาฝึกฝน ทดลองสร้างโมเดลการทำงาน เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมที่สอดรับกับบริบทพื้นที่จริง สามารถเชื่อมโยงประสบการณ์ทำกิจกรรมนอกหลักสูตรเข้ากับทฤษฎีที่ได้เรียนรู้ในรายวิชาเรียน มีทักษะในการเป็นผู้ประกอบการสังคมที่พร้อมให้การสนับสนุนให้ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และองค์กรภาคประชาชน เติบโตไปด้วยกันอย่างสมดุล ให้การสนับสนุนกิจกรรมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกลไกที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม ทั้งระดับภายในตนเองและส่วนรวม คือ เน้นสร้างสำนึกทางสังคมผ่านการมองเห็นและเข้าใจว่าตนเองคือส่วนย่อยในระบบใหญ่ที่ประกอบกันเป็นครอบครัว ชุมชน เมืองประเทศ และโลก ผลักดันให้เห็นเส้นทางอาชีพ กล้าคิดริเริ่ม ลงมือทำ สามารถจัดการกับความผิดหวังหรือความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นตามมา
ด้วยให้ความสำคัญกับการสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมควบคู่กับการพัฒนานักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์จัดทำโครงการเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมการขับเคลื่อนทางการศึกษาและการเรียนรู้สู่สังคมหลายโครงการ ดังนี้
โครงการผู้นำแห่งอนาคต-ก่อการครู ซึ่งมีภารกิจสำคัญ คือ 1) สานพลังเครือข่ายผู้นำที่มุ่งมั่นและเรียนรู้ร่วมกัน 2) การจัดการองค์ความรู้และนวัตกรรม และ 3) การสื่อสารเพื่อสร้างจินตนาการใหม่ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้และพัฒนาผู้นำที่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันทางสังคม มีพลังนำพาสังคมให้ฟื้นตัวกลับสู่ความปกติสุข
โครงการออกแบบเกม ออกแบบสังคม ที่มุ่งพัฒนาเยาวชนให้เป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ผลิตนวัตกรรมผ่านกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาทักษะการคิดเชิงออกแบบ "เกมการเรียนรู้" เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการทดลองใช้ความคิด ทักษะต่างๆอย่างเต็มศักยภาพ ทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจ ความรู้และความเข้าใจในทักษะการประยุกต์ใช้สื่อเพื่อสร้างการเรียนรู้อย่างยั่งยืนผ่านเครือข่ายของครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งในและนอกระบบโรงเรียน
โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา และ โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการโรงเรียนนำร่องการศึกษาฐานสมรรถนะ มีเป้าหมายสำคัญในการศึกษาแนวทางพัฒนาศักยภาพครูและผู้บริหารในการจัดการศึกษาฐานสมรรถนะ เพื่อปรับใช้ภายในโรงเรียนที่มีบริบทแตกต่างกัน รวมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับครู ผู้เรียน และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเมื่อได้ทดลองปรับใช้การศึกษาฐานสมรรถนะ
ตัวอย่างโครงการข้างต้นนับเป็นภาพสะท้อนจุดยืนเรื่องการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพต้องไม่แยกขาดจากสังคม จนเกิดเป็นผลลัพธ์ความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมหลายประการ เช่น
1. เกิดระบบพัฒนาบุคลากรทางการเรียนรู้และการศึกษาที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางพัฒนามนุษย์ในมิติต่างๆ โดยเฉพาะการทำงานสร้างการตระหนักรู้และเท่าทันตนเอง (Self-awareness)
2. เกิดงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมการเรียนรู้ สำหรับบุคลากรด้านการศึกษา นักเรียน และเครีอข่ายภาคประชาสังคม ตลอดจนสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมในแง่การตั้งคำถามเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเชิงนโยบายที่เหมาะสมกับสถานการณ์ความเป็นจริง
3. สร้างและขยายพื้นที่การเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกสถาบัน ด้วยการเชื่อมโยงเครื่อข่ายของผู้มีความต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงเข้าด้วยกัน สามารถยกระดับการขับเคลื่อนสังคมให้มีพลังมากยิ่งขึ้น ดังปรากฎเป็นการรวมกลุ่มก่อการครูรูปแบบต่างๆ หรือการหนุนเสริมจนองค์กรขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม จังหวัดพังงา สามารถก่อตั้ง "สถาบันการเรียนรู้พังงาแห่งความสุข" ขึ้นมาได้ เป็นต้น
ขณะที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากความมุ่งหมายของโรงเรียนที่ต้องการสร้างนวัตกรที่ร่วมขับเคลื่อนสังคม การเรียนรู้และวิถีชีวิตของนักเรียนและครูจึงถูกหล่อหลอมให้เห็นถึงความสำคัญของสังคม ความสัมพันธ์กับชุมชน มองเห็นบทบาทและหน้าที่ของตนในชุมชนและสังคมที่ตนอาศัยอยู่ การสร้างบรรยากาศให้นักเรียนมองเห็นตนเองในฐานะส่วนหนึ่งของชุมชนและสังคมที่แวดล้อมตนเองอยู่นั้นเกิดขึ้นทั้งในห้องเรียนในวิถีชีวิตประจำวัน และกิจกรรม เช่น ในรายวิชาที่คุณครูพิจารณาเห็นความเหมาะสมในการดึงเอาสถานการณ์สำคัญรอบตัวนักเรียนมาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้เนื้อหาในตำราเรียน นักเรียนจึงได้เรียนรู้หลักการและเนื้อหาพร้อมกับเข้าใจว่าสิ่งที่ตนเองเรียนนั้นเกี่ยวข้องกับสังคมและชีวิตจริงอย่างไร เช่น การเรียนรู้เรื่องโรคระบาดโคโรนาไวรัสกับบทบาทการทำงานของหน่วยต่างๆ ในทางการเมืองและการปกครอง การอ่านวรรณกรรมเพื่อเข้าใจประเด็นทางสังคม การเรียนรู้ชุมชนผ่านวิชาโครงงานพัฒนาชุมชน เป็นต้น
นอกจากการเรียนในห้องเรียนแล้ว โรงเรียนสาธิตฯ ยังจัดกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนได้เปิดประสบการณ์ ร่วมกับชุมชนทั้งใกล้และไกล เช่น Activity day เรียนรู้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทัศนศึกษาใน จ.ปทุมธานี ทัศนศึกษา อ.โคกสลุง จ.ลพบุรี กิจกรรมครอบครัวสาธิต ซึ่งมีกิจกรรมส่วนหนึ่งเป็นการเรียนรู้ ในพื้นที่ เช่น ป่าชายเลน เพื่อเป็นจุดตั้งต้นการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษาวัฒนธรรมชาวมอญในพื้นที่ปทุมธานี เป็นต้น
การเรียนรู้ที่นำชุมชนและสังคมเข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญทำให้ผู้เรียนและครูถูกหล่อหลอมให้เห็นถึงความสำคัญของสังคม ความสัมพันธ์กับชุมชน มองเห็นบทบาทและหน้าที่ของตนในชุมชนและสังคมที่ตนอาศัยอยู่ ผู้เรียนมองเห็นตนเองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและสังคมที่แวดล้อมตนเองซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นทั้งในห้องเรียนและในวิถีชีวิตประจำวันได้