ส่งเสริม Self-care ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
เยาวชนไทยขาดอะไร? “พื้นที่โอกาส-ความปลอดภัย”
ทำไมไม่กล้าสื่อสารแสดงความคิดทัศนคติของตัวเอง หรือเพราะสังคมมีคำตอบอยู่แล้ว !!!
หัวเลี้ยวหัวต่อของเด็กไทยคงไม่พ้น ช่วงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย หลายคนคงผ่านวัยนั้นมาแล้วและทราบกันดีว่ามีความกดดันและความตึงเครียดเกิดขึ้นอย่างมากมาย โดยเฉพาะการสื่อสารระหว่างครอบครัวความต่างของอายุและความคิดของพ่อแม่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างวัย การพูดคุย การปรึกษา การแสดงออกทางความคิด จึงเป็นไปได้ยาก ก่อให้เกิดความกดดันส่งผลต่อนักเรียนมีภาวะเครียด ขาดความมั่นใจในตัวเอง
ปัญหาที่เด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายมักพบ คือความกดดันจากความคาดหวังของครอบครัวที่อยากจะให้เด็กเรียนในคณะที่มีชื่อเสียงและอนาคตจะได้ประกอบอาชีพที่มั่นคงตามทัศนคติของแต่ละครอบครัว ทำให้เด็กถูกตีกรอบไม่มีสิทธิ์เลือกเรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบและถนัด ส่งผลให้ตัวเด็กเองไม่อยากที่จะเรียนต่อ หรือเมื่อเข้าเรียนแล้วไม่มีความสุข
นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ จึงได้ทำแบบสอบถามผ่าน Google Forms และนำไป สัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายโดยตรง ได้ผลลัพธ์ว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่อยากที่จะให้เด็กนักเรียน ประกอบอาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล หรืออาชีพที่รับราชการ เพราะ ผู้ปกครองมีความคิดว่าการรับราชการและได้สวัสดิการต่าง ๆ เป็นความมั่นคงทางอาชีพและชีวิต
ด้วยเหตุนี้ทำให้เด็กนักเรียนไม่สามารถเลือกทางเดินของชีวิตตัวเองได้ตามที่หวัง และไม่กล้าตัดสินใจเลือก ภายใต้ความกดดันของครอบครัว เช่น คำพูด สถานะทางการเงินของครอบครัว และที่สำคัญที่มีอิทธิพลมากที่สุดคือค่านิยมของสังคม เมื่อครอบครัวไม่รู้ความต้องการจริง ๆ ของเด็ก จะส่งผลให้เกิดปัญหาด้านต่าง ๆ ทั้งด้านอารมณ์ จิตใจ ร่างกาย และมนุษยสัมพันธ์ เกิดภาวะเครียด เสี่ยงโรคซึมเศร้า และอาจนำไปสู่การคิดสั้นฆ่าตัวตาย
จากปัญหาทั้งหมดเราได้จัด โครงการส่งเสริม Self-care ให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพื่อพัฒนาความมั่นใจในการสื่อสาร ทำให้พวกเขาไม่รู้สึกเกร็งหรือประหม่าเวลาที่ต้องสื่อสารกับคนอื่น สามารถที่จะรับรู้ถึงความต้องการของตัวเองอย่างแท้จริง มีจุดยืนในความคิดความเชื่อของตัวเอง และยังสามารถนำสิ่งเหล่านี้สื่อสารแก่คนในครอบครัวอย่างไม่บิดเบือน รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจ และพร้อมที่จะส่งต่อแก่คนรอบข้างในอนาคต
โดยการทำกิจกรรม เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ ให้กับผู้เข้าร่วมเพื่อทำความเข้าใจตัวเอง ให้ได้ยินเสียงตัวเองให้มากขึ้น มีพื้นที่แสดงจุดยืนทางความคิดและทัศนคติ มีสิทธิ์ที่จะเลือกเส้นทางด้วยตัวเองดังนี้
I know who I am เป็นกิจกรรมที่สุ่มแบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็นบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันและสร้างสถานการณ์สมมติขึ้นมาเพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสในการฝึกที่จะสื่อสารกับคนอื่น รวมไปถึงฝึกคิดในแง่มุมที่แตกต่างและทำเข้าใจมุมมองของผู้อื่นที่ต่างจากตนเอง ได้เรียนรู้ที่จะสื่อสารบนพื้นฐานความคิดที่แตกต่างแม้ว่ามีความต้องการคล้ายกัน
I am who I am เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เข้าร่วมได้ลองทำงานกับตัวเองมากขึ้น ทั้งด้านการชื่นชมตัวเอง ทำความเข้าใจความคิดของตัวเอง บรรยายความเป็นตัวเองผ่านการจินตนาการอย่างอิสระแล้วนำมาแลกเปลี่ยนกับผู้เข้าร่วมคนอื่น ๆ เป็นกิจกรรมที่เน้นให้น้อง ๆ ได้ทบทวนตัวเองในช่วงที่ผ่านมาในหลายๆด้าน รวมถึงมีการสร้างเว็บไซต์ที่จะทำให้น้อง ๆ ได้ทบทวนตัวเองผ่านตัวตนสมมุติท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความกังวลใจ
My sound become from My soul เป็นกิจกรรมที่จะพาผู้เข้าร่วมได้ลองอยู่กับตัวเองพูดคุยกับตัวเองเกี่ยวกับประเด็นความเห็นต่างของคนในครอบครัว ที่ว่าด้วย “จะทำอย่างไรหากตัวเองต้องพูดถึงความต้องการ หรือ แสดงจุดยืนของตนเองออกมา” ผ่านตัวละครสมมติเพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้มีอิสระในการคิดว่าหากเป็นพวกเขาเอง พวกเขาจะเลือกที่จะสื่อสารอย่างไร
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือเราได้สร้างสิ่งที่เรียกว่า soft skill ให้กับผู้เข้าร่วมหรือน้อง ๆ นักเรียนชั้น ม.6 ในด้านการกลับมารักตนเอง เห็นคุณค่าภายในตัวเองอีกครั้ง รวมถึงให้พวกเขาลองนึกย้อนกลับไปถึง “ความคิดความต้องการ และจุดยืนของตนเอง” ในมิติต่าง ๆ ว่าสิ่งที่ตนเชื่อตนต้องการอยู่นั้นมีปัจจัยอะไรเป็นองค์ประกอบอยู่บ้างไม่ว่าจะเป็นความชื่นชอบโดยส่วนตัวก็ดี ความต้องการจากคนในครอบครัวก็ดี หรือเงื่อนไขของชีวิตในรูปแบบต่าง ๆ ก็ดี อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมความมั่นใจด้านการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงน้อง ๆ สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับตนเองได้มากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่นในอนาคต
สุดท้ายนี้ สิ่งที่เราคาดหวังที่อยากให้เกิดขึ้นจริงคือ “ครอบครัว” มองเห็นความสำคัญ เห็นถึงปัญหาของเด็กนักเรียนไม่ว่าเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ ให้ใส่ใจ และสังเกตพฤติกรรมต่าง ๆ ทำความเข้าใจปัญหาอย่างไม่ละเลยและเคารพการตัดสินใจของเด็กนักเรียน รวมถึงหาจุดร่วมกันในการตัดสินใจของทั้งเด็กนักเรียนและครอบครัว ลดความกดดันที่เกิดจากครอบครัว สร้างความมั่นใจให้กับตัวเด็กนักเรียน พร้อมกับการพัฒนาด้านการสร้างแรงบันดาลใจ ทั้งนี้ยังต้องการให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถ สร้าง แรงบันดาลใจให้เกิดขึ้นกับตัวเองในระยะยาว หรือสามารถนำแรงบันดาลใจดังกล่าวไปส่งต่อแก่คนรอบ ข้างได้ในอนาคต
ที่มา : โครงการนวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลง (Innovative Project for Change) ของนักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ่านบทความต่อไป ---- How to Find ค้นหาอย่างไรให้ใช่สำหรับคุณ---