Loading...

อยู่คนเดียว..แต่ไม่เดียวดาย: โครงการพัฒนาระบบพื้นที่เป็นมิตรสำหรับผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ

        ในสังคมไทย แนวคิดเรื่องความกตัญญูฝังรากลึกในวัฒนธรรม ครอบครัวมักถูกมองว่าเป็นหลักประกันของชีวิตบั้นปลาย และการดูแลจากลูกหลานถูกใช้เป็นกลไกหลักในการประกันความมั่นคงด้านสุขภาวะของผู้สูงอายุ แต่สำหรับผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ เส้นทางชีวิตของพวกเขามักแตกต่างออกไป หลายคนไม่มีลูกหลานที่จะดูแล ไม่มีครอบครัวในรูปแบบดั้งเดิมที่ให้การสนับสนุน และอาจเคยเผชิญการถูกกีดกันจากครอบครัวตั้งแต่วัยหนุ่มสาว ทำให้พวกเขาเผชิญความเสี่ยงที่จะถูกมองข้ามเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ

        ปัญหานี้สะท้อนความไม่เท่าเทียมที่ซ่อนอยู่ในโครงสร้างสังคมไทย เมื่อความกตัญญูถูกใช้เป็นกลไกหลักในการดูแลผู้สูงอายุ ทำให้ผู้ที่อยู่นอกกรอบครอบครัวดั้งเดิมต้องเผชิญความท้าทายที่แตกต่างโดยสิ้นเชิง ผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศจำนวนไม่น้อยต้องพึ่งพาตนเอง ในขณะที่ระบบการสนับสนุนจากภาครัฐหรือชุมชนยังมีช่องว่างอยู่มาก โครงการพัฒนาระบบพื้นที่เป็นมิตรสำหรับผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศจึงเกิดขึ้นเพื่อเติมเต็มช่องว่างนี้ โดยสร้างเครือข่ายการดูแลที่ไม่ได้ยึดโยงอยู่กับความสัมพันธ์ทางสายเลือด แต่ตั้งอยู่บนความเข้าใจ การยอมรับ และความเคารพในคุณค่าของชีวิตแต่ละบุคคล

        บทความนี้ชวนสำรวจประเด็นเกี่ยวกับความเหงาและวิธีการจัดการปัญหาต่าง ๆ ที่ผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศกำลังเผชิญ ผ่านบทสัมภาษณ์ของอาจารย์ 3 ท่านที่ดูแล “โครงการพัฒนาระบบพื้นที่เป็นมิตรสำหรับผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ” ได้แก่ รศ.ดร.ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล (อ.แต้ว) ผศ.ดร.อัครา เมธาสุข (อ.นอร์ท) และ ผศ.ดร.ญาดา อรรถอนันต์ (อ.อ๋อม)

ผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ กำลังเผชิญกับปัญหาอะไรบ้าง

อ.แต้ว: “ผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นหนึ่งในกลุ่มประชากรที่มีอัตลักษณ์ทับซ้อน (intersectionality) ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 9 และคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ให้ความสำคัญกับการทำงานเพื่อส่งเสริมสุขภาวะที่ดีให้กับประชากรกลุ่มนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดในการทำงานเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว คือ การขาดข้อมูลทั้งในเชิงภาพกว้าง และลงลึก เกี่ยวกับสถานการณ์สุขภาวะและความต้องการของประชากรกลุ่มนี้ เนื่องจาก เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ยาก หลายคนไม่ค่อยอยากแสดงตัว เพราะเติบโตมาในยุคที่สังคมปิดกั้นเรื่องความหลากหลายทางเพศ การอยู่แบบเงียบ ๆ อาจทำให้ตนเองรอดอยู่ในสังคมนี้ได้มากกว่า รวมทั้งมิติการทำงานเชิงวิชาการและเชิงขับเคลื่อนมักมุ่งไปที่ประชากรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ หรือ กลุ่ม LGBT อย่างเดียว

        ในช่วงปีที่ผ่านมา ทางทีมจึงได้เริ่มทำโครงการเก็บข้อมูลพื้นฐานเพื่อฉายภาพสถานการณ์สุขภาวะ ประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติ และความต้องการของกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ (สามารถอ่านรายงานวิจัยปีที่ 1 ได้โดย คลิกที่นี่ ) โดยเก็บทั้งข้อมูลเชิงปริมาณและคุณภาพเพื่อให้เห็นทั้งภาพรวมของสถานการณ์ และประสบการณ์ในระดับปัจเจก

        ในงานพบข้อค้นพบที่น่าสนใจอยู่หลายประเด็น เช่น ผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศอาศัยอยู่ลำพังในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้สูงอายุทั่วไป มีแหล่งรายได้หลักจากการทำงานในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้สูงอายุทั่วไป การถูกเลือกปฏิบัติอันสืบเนื่องมาจากอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง ทั้งด้านการทำงาน การบริการทางสาธารณสุข สุขภาพและการประกัน ขาดช่องทางและโอกาสในการเข้าถึงชุมชนหรือองค์ความรู้เฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ตลอดจนความโดดเดี่ยวและความเหงาของประชากรกลุ่มนี้จากการอยู่ลำพังและรู้สึกขาดความเป็นส่วนหนึ่งกับสังคมรอบข้างจากการถูกกีดกันในการเข้ากลุ่มทางสังคม”

โครงการในปีนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องใดเป็นพิเศษ

อ.แต้ว: “ในโครงการปีที่ 2 นี้ เรานำข้อค้นพบมาทำงานขับเคลื่อนต่อ โดยหยิบประเด็นเรื่อง “ความเหงา” ของผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการทำงานในปีนี้ เนื่องด้วย มีงานวิจัยหลายงานที่พบว่าความเหงาส่งผลกระทบกับทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต เช่น เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ภาวะความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือด ส่งผลต่อคุณภาพการนอน ทำให้มีคุณภาพในการนอนไม่ดี และรบกวนการนอนหลับ เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า และความวิตกกังวล มีความพึงพอใจในชีวิตต่ำ เป็นต้น โดยโครงการจะทดลองสร้างระบบพื้นที่เป็นมิตรขึ้นมาที่พยายามเชื่อมโยงกิจกรรมแบบออนไซต์ และแพลตฟอร์มออนไลน์ไว้ด้วยกัน และให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเครือข่ายของคนทำงานด้านนี้”

ความเหงาควรได้รับการดูแลอย่างไร

อ.นอร์ท: “เมื่อความเหงาเป็นประเด็นสำคัญที่พบในผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ การแก้ปัญหานี้อาจต้องใช้หลายภาคส่วนมาช่วยกันดูแลอย่างเป็นระบบ แต่ในด้านการดูแลตนเองจะทำได้อย่างไร โครงการนี้มองว่ามีอยู่ 2 แนวทางที่อาจช่วยดูแลประเด็นเรื่องนี้ได้

        หนึ่งคือ ทำงานกับโจทย์ที่ว่า “จะทำอย่างไรให้การอยู่คนเดียวไม่ใช่ความเหงา” เวลาเราพูดถึงการอยู่คนเดียวจะมีคำอยู่สองคำ คำแรกคือ Loneliness ซึ่งการอยู่คนเดียวแสดงออกเป็นการขาดพร่อง เป็นความเหงา ความอยากมีใครสักคนมาอยู่ด้วย กับอีกคำคือ Solitude ซึ่งการอยู่คนเดียวแสดงออกเป็นความสงบเยือกเย็น สุขุม ความไม่วุ่นวาย เพราะไม่ถูกรบกวนจากสิ่งต่าง ๆ ภายนอก เราคงอยากให้ผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศมีสิ่งที่เรียกว่า Solitude มากกว่า Loneliness เพราะแม้จะเป็นการอยู่คนเดียว แต่สภาวะนั้นมีความมั่นคงและเหมาะสมต่อการเติบโตและพัฒนาภายใน แต่แนวทางนี้ถ้าจะทำให้เกิด Solitude โดยตรงอาจจะยากสักหน่อย เพราะต้องทำงานระดับความคิดและความเชื่อ และแม้แต่ในคนที่มี Solitude บางทีก็อาจเผลอข้ามมาฝั่ง Loneliness ได้ เพราะอารมณ์มนุษย์เปลี่ยนแปลงได้ง่าย ไม่มีอะไรมั่นคงถาวร

        อีกแนวทางหนึ่งคือ ทำงานกับโจทย์ที่ว่า “จะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ต้องโดดเดี่ยว” วิธีนี้เป็นการไปตัดปัญหาและแก้ที่ระดับพฤติกรรมก่อน ซึ่งเป็นที่มาของการสร้างพื้นที่เป็นมิตร (Friendly Space) ซึ่งโครงการที่ทำอยู่นี้กำลังทดลองดูว่าจะสามารถสร้างขึ้นได้อย่างไร เราหวังว่าเมื่อผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศได้มาเจอกัน แลกเปลี่ยนความรู้สึก ความคิด ประสบการณ์ที่แตกต่างกัน จะช่วยให้ความเหงาลดน้อยลง และเราเชื่อว่าความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้จะนำไปสู่การสานต่อความสัมพันธ์หลังจบกิจกรรม เพื่อช่วยดูแลจัดการกับความโดดเดี่ยวให้มีผลกระทบน้อยลงในระยะยาว เราเชื่อว่าในความเป็นมิตรที่มีต่อกันนี้ ถ้าแต่ละคนได้เห็นคุณค่าในตนเองว่าเราต่างสำคัญต่อคนอื่นอย่างไร ความมั่นคงนี้จะแผ่ขยายมาสู่การเปลี่ยนแปลงของคุณภาพภายในโดยอัตโนมัติ ซึ่งนั่นหมายถึงว่าเราได้พากันข้ามเส้นจาก Loneliness มาสู่ Solitude ได้ด้วยกระบวนการนี้”

การสร้าง “พื้นที่เป็นมิตร” ในโครงการนี้ขับเคลื่อนด้วยวิธีการอย่างไร

อ.นอร์ท: “วิธีการสร้างพื้นที่เป็นมิตรอาจทำได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับบริบทและกลุ่มประชากร สิ่งที่เรากำลังทดลองทำกันในโครงการนี้เกี่ยวกับพื้นที่เป็นมิตรประกอบด้วยกิจกรรมหลากหลายแบบที่ทำต่อเนื่อง 4 เดือน แบ่งกิจกรรมออกเป็น 4 ช่วง

        ช่วงที่ 1 เป็นการติดตั้งทักษะในการสำรวจและทำความเข้าใจตนเอง ทักษะนี้จำเป็นมาก เพราะการรู้สึกภายในตัวเองและการได้เติมเต็มใจของตัวเองก่อนเป็นจุดเริ่มต้นแรกที่จะทำให้สามารถขยายพื้นที่การรับรู้ออกไปหาคนรอบข้าง ช่วงที่ 2 เราถึงจะขยับไปที่การสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบตัว ในโครงการนี้เราขยายขอบเขตออกไปมากกว่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง เพื่อให้เห็นสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงทุกปรากฏการณ์ในสังคมเอาไว้ ช่วงที่ 3 จะเป็นการขยายความเป็นไปได้ที่จะมองเห็นคุณค่าในตนเองที่เชื่อมโยงกับผู้อื่น การสร้างสรรค์สังคม ศักยภาพภายในที่เราทุกคนมีอยู่และอาจไม่เคยถูกนำมาใช้ ช่วงที่ 4 ช่วงสุดท้ายจะเป็นการกลับมามองทบทวนภาพรวมการเปลี่ยนแปลงของตนเองที่เกิดขึ้น และดูว่าแต่ละคนจะก้าวเดินอย่างไรต่อไป จะร่วมกันทำอะไรต่อได้อีก

        การเสร็จสิ้นของกิจกรรมจึงไม่ใช่การจบสิ้นของพื้นที่เป็นมิตร แต่เป็นการสานต่อของพื้นที่เป็นมิตร ซึ่งแต่ละคนจะได้ทำให้เกิดขึ้นกับตัวเองต่อไป อย่างน้อยที่สุดคือพื้นที่บนตัวตนของเขาซึ่งรู้สึกเป็นมิตรกับตัวเองได้อย่างสนิทใจ และความเป็นมิตรนี้อาจแผ่ขยายไปยังผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศคนอื่น ๆ ที่เขารู้จักต่อไปอีก”

“พื้นที่เป็นมิตร” ยังถูกสร้างขึ้นในรูปแบบใดอีกบ้าง นอกจากกิจกรรมกระบวนการ

อ.อ๋อม: “เราได้พัฒนาแฟลตฟอร์มสำหรับสำรวจความเหงาและสุขภาวะของผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ  (Wellbeing Profile Report System) เป็นระบบที่ให้บริการที่สนับสนุนปัจเจกบุคคลให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ชุมชนที่มีความเข้าอกเข้าใจตนเอง เป็นช่องทางการดูแลเบื้องต้นเกี่ยวกับสุขภาพจิต พัฒนาความสัมพันธ์ องค์ความรู้ และทักษะที่จำเป็น โดยสร้างความเข้าใจ ยอมรับ และตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาวะทางกาย (Physical Wellbeing) สุขภาวะทางจิต (Mental Wellbeing) สุขภาวะทางสังคม (Social Wellbeing) และ สุขภาวะทางปัญญา (Intellectual/Spiritual Wellbeing) ของตนเองเพื่อการมีสุขภาวะที่ดีอย่างองค์รวมอย่างแท้จริง

        การพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับสำรวจความเหงาและสุขภาวะของผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ (Wellbeing Profile Report System) ถูกออกแบบบนพื้นฐานแนวคิดในการสร้างพื้นที่ที่เป็นมิตรบนโลกออนไลน์สำหรับผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศให้สามารถเข้าถึงบริการในการดูแลและประเมิน สุขภาวะของตนเองประกอบด้วย สุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางจิต สุขภาวะทางสังคม และสุขภาวะทางจิตวิญญาณ โดยในระบบจะประมวลผลรายงานคะแนนแต่ละด้านพร้อมคำอธิบายและข้อเสนอแนะในการพัฒนาต่อในมิติต่าง ๆ เพื่อให้กลุ่มผู้สูงอายุสามารถจัดการตนเอง เห็นคุณค่าในตนเอง และสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว อีกทั้งยังสร้างเครือข่ายผู้สูงอายุบนโลกออนไลน์ผ่านแฟลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้น”

โครงการมีหลักการอะไรบ้างในการพัฒนาพื้นที่ออนไลน์ครั้งนี้

อ.อ๋อม: “การออกแบบ UX & UI ในระบบแฟลตฟอร์มออนไลน์ จะเน้นการสร้างประสบการณ์การใช้งานที่เป็นธรรมชาติสำหรับผู้ใช้งานสูงอายุให้ใช้งานง่ายโดยรองรับอุปกรณ์สมาร์ทโฟนด้วยตนเอง โดยเน้นการออกแบบที่มีผู้ใช้เป็นศูนย์กลางให้เหมาะกับกลุ่มผู้สูงอายุ คำนึงถึงการออกแบบอักษรที่เหมาะสม และกราฟิกที่ชัดเจนและสื่อความหมาย รวมทั้งมีการออกแบบโครงสร้างของข้อมูลในการวิเคราะห์และนำเสนอผลข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความเหงา ทั้งในเชิงของอารณ์และสังคม สุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางจิต สุขภาวะทางสังคม และสุขภาวะทางจิตวิญญาณอย่างรอบด้าน เพื่อให้ได้ข้อมูลเพื่อการพัฒนาตนเองในมิติต่างๆ โดยสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงของสุขภาวะของตนเองผ่าน Report System”

อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรในอนาคต ในประเด็นผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ

อ.แต้ว: “ในระยะต้นช่วง 3- 5 ปี ภาพความสำเร็จที่อยากเห็น คือ ผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย สามารถเข้าถึงพื้นที่ชุมชนที่มีความเข้าอกเข้าใจตนเอง ได้พัฒนาความสัมพันธ์ องค์ความรู้ และทักษะที่จำเป็น เพื่อการมีสุขภาวะที่ดีอย่างองค์รวม นอกจากนี้เครือข่ายที่ทำงานเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศจะมีความเข้มแข็งมากขึ้นในการประสานความร่วมมือขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ร่วมกับบุคคลและองค์กร

        สำหรับในระยะยาว คือ อยากเห็นสังคมที่มีพื้นที่เป็นมิตรสำหรับประชากรทุกคน ไม่ใช่แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ซึ่งสังคมจะเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นได้ ในระดับบุคคลจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะเคารพในความแตกต่างหลากหลายและเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ในระดับโครงสร้าง คือ ระบบที่เอื้อให้บุคคลทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงการมีสุขภาวะที่ดีได้อย่างเท่าเทียม โดยสุขภาวะที่ดีนั้นครอบคลุมทั้ง สุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางใจ สุขภาวะทางสังคม ตลอดจนสุขภาวะทางจิตวิญญาณ”

        โครงการพัฒนาระบบพื้นที่เป็นมิตรสำหรับผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศกำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงผ่านกิจกรรมกระบวนการที่ช่วยเสริมพลัง และระบบสำรวจสุขภาวะออนไลน์ เพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถเข้าถึงชุมชนที่เข้าใจพวกเขา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และได้รับการสนับสนุนทั้งทางอารมณ์และสังคม เทคโนโลยีและกิจกรรมเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือในการลดความเหงาเท่านั้น แต่ยังเป็นสะพานที่เชื่อมโยงพวกเขาเข้ากับเครือข่ายของมิตรภาพและความเคารพซึ่งกันและกัน

        ความเหงาของผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศยังเป็นประเด็นที่สังคมไม่ควรมองข้าม และภาคส่วนต่าง ๆ จำเป็นต้องช่วยกันสร้างความตระหนักและให้ความใส่ใจต่อคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนสูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเติบโตภายใต้บริบทในชีวิตที่แตกต่างจากกลุ่มผู้สูงอายุทั่วไปที่มีลูกหลานคอยดูแล เพราะทุกคนล้วนสมควรได้รับการดูแล การยอมรับ และพื้นที่ที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่ามีคุณค่าและเป็นที่รัก ไม่ว่าพวกเขาจะมีอัตลักษณ์ทางเพศแบบใดก็ตาม