Loading...

การเรียนรู้สิ่งแวดล้อม: ปลูกหัวใจที่เชื่อมโยงชีวิตและธรรมชาติ

        สิ่งแวดล้อมไม่ใช่เพียงฉากหลังของการดำรงชีวิต แต่คือระบบที่มนุษย์และสรรพสิ่งเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้งตั้งแต่ลมหายใจแรกจนถึงวาระสุดท้าย การศึกษาสิ่งแวดล้อมจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว หากเป็นการเรียนรู้ที่ช่วยให้เราตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ มองเห็นผลกระทบของการกระทำในชีวิตประจำวัน และสร้างแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ทั้งในระดับบุคคล ชุมชน และโลกใบนี้

        ในบทความนี้ LSEd Let’s Talk ขอชวนทุกคนมาร่วมสำรวจประเด็นการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านบทสัมภาษณ์จาก ผศ.ดร.ชลิดา จูงพันธ์ หรือ อ.แท็ป อาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้มีความเชี่ยวชาญและสนใจในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ การเรียนรู้สิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน วิทยาศาสตร์ศึกษา และการสอนธรรมชาติวิทยา ร่วมกันค้นหาคำตอบว่า เราจะทำอย่างไรให้การเรียนรู้สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัว และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงได้

        อ.แท็ป กล่าวถึงบทบาทสำคัญของสิ่งแวดล้อมศึกษาในปัจจุบันว่า “การสร้างความตระหนักรู้” ยังคงเป็นหัวใจหลักของงานด้านนี้มาโดยตลอด สิ่งแวดล้อมศึกษาไม่ใช่เพียงศาสตร์ที่ให้ข้อมูลหรือความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการทำความเข้าใจปัญหาสิ่งแวดล้อมและการจัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างเป็นระบบ

        อาจารย์เน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญของสิ่งแวดล้อมศึกษาคือการทำให้ผู้เรียนตระหนักว่า ตนเองเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ ไม่ใช่เพียงผู้สังเกตการณ์จากระยะไกล เพราะในความเป็นจริง การดำเนินชีวิตของเราล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งทางตรงและทางอ้อม การเข้าใจประเด็นนี้จะช่วยเสริมสร้างความรู้สึกผูกพัน และนำไปสู่ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

        นอกจากนี้ อ.แท็ป ยังกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่า ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งในระดับบุคคลและในระดับที่มีการลงมือทำจริงในภาคการศึกษา ความเคลื่อนไหวนี้นับเป็นพลังสำคัญที่ช่วยเสริมให้บทบาทของสิ่งแวดล้อมศึกษามีความชัดเจนยิ่งขึ้น ในการปลุกจิตสำนึกและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

พัฒนาการของ ‘แนวทางการเรียนรู้’ และ ‘การสอนด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา’ ในปัจจุบัน

        อ.แท็ป ให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษาว่า แม้จะไม่สามารถสรุปภาพรวมทั้งหมดได้ชัดเจนนัก แต่จากประสบการณ์และสิ่งที่สังเกตเห็นด้วยตนเอง พบว่าการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากเดิมที่เน้นการนำเสนอข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ตัวเลข สถิติ และผลกระทบเชิงลบ เป็นการเรียนรู้ที่มีลักษณะเป็นองค์รวมมากขึ้น

        การเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษาในปัจจุบันไม่ได้มุ่งชี้โทษว่ามนุษย์เป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม หรือเพียงแค่มองหาวิธีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ แต่เป็นการเรียนรู้ที่ทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยงใกล้ชิดระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติในระดับจิตวิญญาณ ธรรมชาติไม่ใช่เพียงทรัพยากรที่มนุษย์ใช้ประโยชน์ แต่ยังเป็นแหล่งพลังใจ เป็นที่พึ่งพิง และเป็นผู้ปกป้องดูแลมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดนี้ทำให้มนุษย์เกิดความเคารพและสัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างลึกซึ้งมากขึ้น

        วิธีการเรียนรู้แบบองค์รวม ยังเปิดพื้นที่ให้ผสมผสานศาสตร์แขนงอื่น ๆ เข้ามาสู่พื้นที่ของสิ่งแวดล้อมศึกษา เช่น ศิลปะ สตรีศึกษา และความเชื่อเชิงจิตวิญญาณ ส่งผลให้แนวทางการสอนมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ การนำพิธีกรรมมาเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับธรรมชาติ หรือการใช้มุมมองทางสังคมศาสตร์ในการวิพากษ์ปรากฏการณ์สิ่งแวดล้อม

        การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่เพียงทำให้ผู้เรียนมีช่องทางที่หลากหลายในการเข้าถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม แต่ยังทำให้กลุ่มคนที่เข้ามาทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษามีความหลากหลายยิ่งขึ้น ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในกลุ่มนักชีววิทยาหรือนักสิ่งแวดล้อมเท่านั้น

        จึงอาจกล่าวได้ว่า ปัจจุบันสิ่งแวดล้อมศึกษามีรูปแบบที่หลากหลายและเข้าถึงง่ายมากขึ้น ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้คนหลากหลายกลุ่มสามารถเข้ามาเรียนรู้และมีส่วนร่วมได้อย่างกว้างขวาง

ความท้าทายสำคัญในการปลูกฝังจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมในคนรุ่นใหม่ และแนวทางในการขับเคลื่อน

        อ.แท็ป กล่าวว่า แม้ในปัจจุบันคนรุ่นใหม่จะมีความตระหนักและให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เห็นได้จากการที่คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยเติบโตมาพร้อมกับแนวคิดเรื่อง “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” และเมื่อเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้น ก็มักแสดงออกและเป็นกระบอกเสียงผ่านพื้นที่โซเชียลมีเดียของตนเอง อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่สำคัญไม่ได้อยู่ที่การสร้างการตระหนักรู้เพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่การผลักดันให้คนรุ่นใหม่ก้าวไปสู่บทบาทของ “ผู้ลงมือแก้ไข” ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การที่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่เริ่มคิดตั้งแต่ต้นทางว่าจะผลิตสินค้าหรือดำเนินธุรกิจอย่างไรให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

        อ.แท็ป กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนจากความตระหนักรู้ไปสู่การลงมือปฏิบัตินั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม รวมถึงการสนับสนุนเชิงนโยบายที่จะเอื้อให้การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นได้จริง และในด้านการเรียนการสอนเอง ก็จำเป็นต้องก้าวไปอีกขั้น นอกจากการเชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติแล้ว ยังต้องสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้ผู้เรียนรู้สึกอยากมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง

       ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่เข้ามาทำงานด้านสิ่งแวดล้อมยังจำเป็นต้องเข้าใจด้วยว่า ทรัพยากรธรรมชาติเกี่ยวข้องกับคนหลายกลุ่มทั้งคนในพื้นที่ และคนภายนอก เราไม่สามารถเข้าไปทำงานด้านสิ่งแวดล้อมด้วยเลนส์ของคนดีที่อยากเข้าไปแก้ไขเท่านั้นแต่ต้องพยายามเข้าใจคนในพื้นที่ และจำเป็นต้องมีศิลปะในการประสานความร่วมมือคนทุกกลุ่มเข้าด้วยกัน พึงระมัดระวังเสมอว่าทันทีที่เราเข้าไปในพื้นที่อื่นเราเองก็เหมือนสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่อาจจะเข้าไปกวนระบบนิเวศให้เสียสมดุลด้วยเช่นกัน ดังนั้น ต้องพยายามเข้าใจพื้นที่ให้มากจึงจะสามารถทำให้การขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมให้สำเร็จได้อย่างแท้จริง

ตัวอย่างโครงการและแนวปฏิบัติที่ส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม

        “ปัจจุบันมีพื้นที่การเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาจำนวนมากที่เปิดกว้างและเข้าถึงได้ง่าย แม้แต่ในพื้นที่เมืองซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติอย่างจำกัด ก็ยังมีผู้คนจำนวนมากที่สนใจและขับเคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง” อ.แท็ป กล่าว

        สำหรับโครงการที่คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ได้มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้ร่วมด้วย คือ โครงการก่อการครูกาฬสินธุ์ พื้นที่เรียนรู้ดงระแนงวิทยา ซึ่งเป็นความร่วมมือของเครือข่ายก่อการครูกาฬสินธุ์ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาอย่างต่อเนื่องและจริงจังมาหลายปี โครงการนี้มีแนวคิดที่เน้นการบูรณาการระหว่างการเรียนรู้ในห้องเรียนและการเรียนรู้จากบริบทจริงในชุมชน รูปแบบการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ของโครงการสามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลายตามบริบทของแต่ละพื้นที่ อ.แท็ป จึงเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจลองศึกษาแนวทางของโครงการนี้เพิ่มเติม เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป

การเชื่อมโยงการศึกษาสิ่งแวดล้อมกับชีวิตประจำวัน เพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน

        อ.แท็ป อธิบายว่า หลายคนยังเข้าใจผิดว่า “สิ่งแวดล้อมศึกษา” เป็นเรื่องไกลตัว หรือเป็นเรื่องเฉพาะของป่าไม้ ภูเขา หรือสัตว์หายากเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริง มนุษย์ทุกคนล้วนอยู่ในระบบสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่มีช่วงเวลาใดเลยที่เราแยกตัวออกจากธรรมชาติได้

        ด้วยเหตุนี้ การเชื่อมโยงการศึกษาสิ่งแวดล้อมกับชีวิตประจำวันจึงอาจเรียกได้ว่า “ง่าย” เพราะสิ่งแวดล้อมอยู่รอบตัวเราเสมอ ตั้งแต่การกิน การใช้ทรัพยากร ไปจนถึงการจัดการขยะ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็นับว่า “ยาก” เช่นกัน เพราะสังคมในอดีตได้ปลูกฝังให้เรามองว่ามนุษย์อยู่เหนือธรรมชาติ สามารถควบคุมและบริหารจัดการธรรมชาติได้อย่างเบ็ดเสร็จ จนเราหลงลืมความเชื่อมโยงที่แท้จริงไป

        ดังนั้น หากต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน อาจต้องเริ่มจากการ “เปลี่ยนมุมมอง” ให้เห็นว่าสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องของผู้เชี่ยวชาญกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของชีวิตทุกคน การเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมจึงไม่ใช่เรื่องภายนอก แต่เป็นการทำความเข้าใจตัวเราเองด้วย และเมื่อเรามองเห็นความเชื่อมโยงนี้ได้ การเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนก็จะเป็นไปได้จริง

เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค