Loading...

เรียน รู้ และเข้าใจ ความหลากหลายทางเพศผ่านสายตา “คนรุ่นใหม่”

        ในรั้วมหาวิทยาลัย ความรู้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในห้องเรียน หากยังรวมถึงการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นในโลกที่หลากหลาย หนึ่งในประเด็นสำคัญที่สะท้อนการเติบโตของสังคมคือ “ความเข้าใจในสังคมที่มีต่อความหลากหลายทางเพศ” ซึ่งยังต้องการพื้นที่ในการสื่อสาร และกลไกในการสร้างความเข้าใจ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในแวดวงการศึกษา ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานทางความคิดให้กับเยาวชนและพลเมืองรุ่นใหม่

        ในบทสัมภาษณ์นี้ LSEd Let’s Talk ชวนนักศึกษาสองท่าน ได้แก่ คุณญาดา มานาดี (แอม) และคุณสรวิชญ์ มากแสง (ตาต้าร์) นักศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในฐานะคนรุ่นใหม่ว่าพวกเขามองเห็นอะไรในสังคมปัจจุบัน ทั้งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ความท้าทายที่ยังคงอยู่ และความหวังต่ออนาคตของความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย ผ่านประสบการณ์ชีวิต การเรียนรู้ และการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยที่พวกเขากำลังเติบโตไปด้วยกันกับประเด็นนี้

        เมื่อพูดถึงความสำคัญของ “ความหลากหลายทางเพศ” ทั้ง แอม และ ตาต้าร์ ต่างก็สะท้อนให้เห็นว่าประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่หลายคนเคยเข้าใจ

        แอมเล่าว่า ในอดีตเธอไม่เคยรู้มาก่อนด้วยซ้ำว่าความหลากหลายทางเพศมีอยู่จริง จนเมื่อสังคมเริ่มเปิดกว้างมากขึ้น จึงได้เรียนรู้ว่ามนุษย์ไม่ได้มีแค่เพศชายหรือหญิง การไม่รู้หรือไม่เข้าใจเรื่องนี้อาจทำให้เรามีพฤติกรรมบางอย่างที่กระทบต่อความรู้สึกของคนอื่นโดยไม่รู้ตัว แม้แต่คนที่เป็นชายหรือหญิงตามกรอบเพศแบบเดิม ๆ ก็ยังต้องเผชิญกับการถูกตีตราทางเพศ เธอชี้ว่าเราถูกสอนให้เข้าใจว่าผู้หญิงควรเป็นแบบหนึ่ง ผู้ชายควรเป็นอีกแบบหนึ่ง ทั้งที่ในความจริงแล้วไม่มีใครจำเป็นต้องเป็นไปตามกรอบนั้นทุกคน “การเข้าใจว่าความหลากหลายมีอยู่จึงสำคัญ เพราะเราทุกคนอยู่ร่วมกัน และควรให้เกียรติกันในฐานะมนุษย์” แอมยังให้ความเห็นว่าเทศกาลไพรด์เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ไม่ใช่เพียงแค่การเฉลิมฉลอง แต่เป็นโอกาสให้สังคมได้คิด ทบทวน และตั้งคำถามว่ายังมีประเด็นใดบ้างที่เรายังละเลย หรือมีใครที่ยังถูกกดทับอยู่โดยที่เราไม่รู้ตัว

        ในขณะที่ตาต้าร์ บอกว่าตนเองเริ่มสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจังเมื่อตอนโตขึ้น เมื่อได้เห็นความหลากหลายมากขึ้นในสังคม และตระหนักว่านี่คือ “สิทธิมนุษยชนพื้นฐาน” ที่ทุกคนควรได้รับ เขาเน้นว่าแทนที่จะมองใครผ่านกรอบเพศ เราควรมองเขาในฐานะ “คนคนหนึ่ง” เพราะแม้แต่คำจำกัดความเรื่องเพศก็ยังไม่ตายตัว คนคนหนึ่งอาจเคยนิยามตนเองว่าเป็นเกย์ แต่วันหนึ่งอาจมองว่าตนเองเป็นเควียร์ หรือไม่ต้องการนิยามอะไรเลยก็ได้ ดังนั้น การเคารพในตัวตนของคนแต่ละคนย่อมสำคัญกว่าการจำกัดเขาด้วยคำว่า “เพศอะไร” สำหรับตาต้าร์ เทศกาลไพรด์ไม่ใช่แค่การแสดงออกถึงความภาคภูมิใจ แต่เป็นเวทีที่สำคัญในการ “ย้ำเตือนสังคม” ว่ายังมีประเด็นด้านความเท่าเทียมที่ต้องเรียกร้องต่อไป เช่น สมรสเท่าเทียม หรือสิทธิในการเลือกคำนำหน้าชื่อ เขายังเน้นว่า การขับเคลื่อนความหลากหลายทางเพศไม่ควรเป็นภาระของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่ควรเป็นเรื่องของทุกคน เพราะท้ายที่สุดแล้ว การเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลดีต่อทุกคนในสังคม แม้แต่คนที่เป็นรักต่างเพศ (Straight) ก็ได้รับผลกระทบจากประเด็นนี้เช่นกัน

การตั้งคำถามต่อเพศของผู้อื่น และการไม่ตัดสินผู้อื่น

        ทั้งแอมและตาต้าร์ต่างเคยมีประสบการณ์ที่ทำให้เริ่มตั้งคำถามและเรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศในแบบที่ลึกซึ้งและใกล้ตัวมากขึ้น แอมเล่าว่า ในช่วงมัธยมเคยมีเพื่อนที่มีเพศแตกต่าง แต่ตอนนั้นยังไม่เข้าใจนักว่าความหลากหลายทางเพศคืออะไร กระทั่งเข้ามหาวิทยาลัย ได้ยินเพื่อนพูดถึงเรื่องอย่าง “เกย์รุก” หรือ “เกย์รับ” แล้วเกิดความสงสัยว่าทำไมต้องแยกกันเช่นนั้น จึงลองถามเพื่อน และได้คำตอบว่าเป็นเรื่องของบทบาทหรือ “ฟังก์ชัน” ในความสัมพันธ์

        แอมสังเกตว่าหลายครั้งเรื่องแบบนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาในโซเชียลมีเดียหรือในบทสนทนาเพื่อความขบขัน โดยที่อาจลืมคิดไปว่าคนที่เป็นเกย์จริง ๆ จะรู้สึกอย่างไร เธอเคยเห็นเหตุการณ์ที่นักศึกษาแซวหรือล้อเล่นเรื่องเพศกับอาจารย์ จนรู้สึกว่าบางครั้งเราก็ทำให้เรื่องสำคัญกลายเป็นเรื่องตลกโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งอาจไม่เหมาะสมและกระทบความรู้สึกคนอื่นโดยไม่รู้ตัว

        สำหรับแอม ประเด็นสำคัญคือการไม่รีบจัดหมวดหมู่ ว่าเขาเป็นอะไร เพราะบางคนอาจไม่ต้องการให้นิยามตนเองตามกรอบที่สังคมตั้งไว้ “บางคนอาจไม่ได้อยากถูกเรียกว่าเกย์ สเตรท หรืออะไรเลยก็ได้” เธอกล่าว พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าอัตลักษณ์หรือรสนิยมทางเพศสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามช่วงเวลา และหากเรายังพยายามหากล่องมาใส่ใครสักคนอยู่เรื่อย ๆ ก็อาจทำให้เขารู้สึกเหนื่อยที่จะต้องอธิบาย ทั้งที่ความชอบเป็นเรื่องส่วนตัว และเราไม่จำเป็นต้องรู้หรือถามเสมอไป สิ่งที่สำคัญกว่าคือการเคารพและให้เกียรติกันในความเป็นมนุษย์

        ด้านตาต้าร์ก็เห็นพ้องในเรื่อง “การไม่จำกัดความ” ใครสักคนจากภายนอก เขาตั้งข้อสังเกตว่าบางครั้งเราอาจคิดเองว่าใครเป็นเพศใด แล้วใช้คำพูดหรือปฏิบัติกับเขาในแบบที่ไม่เหมาะสม เช่น เรียกเพื่อนว่า “เก้ง” “ชี” หรือใช้สรรพนามที่เขาไม่ได้เลือกเอง ทั้งที่จริงแล้ว สิ่งที่ควรทำคือเรียกเขาตามชื่อ หรือตามเพศสภาพที่เขานิยามตัวเอง โดยเฉพาะในกรณีของหญิงข้ามเพศ ตาต้าร์ย้ำว่า “เราก็ควรปฏิบัติกับเขาเหมือนกับผู้หญิงคนหนึ่ง ไม่ใช่ไปลดทอนความเป็นตัวเขาด้วยคำพูดหรือท่าที”

        อีกประสบการณ์หนึ่งที่ทำให้ตาต้าร์ได้ตระหนักมากขึ้น คือ การดูภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องคู่รักชาย-ชายที่รับเด็กมาเลี้ยง ภาพยนตร์สะท้อนความกังวลของคนรอบข้างต่อเด็กที่เติบโตในครอบครัวเพศเดียวกัน เช่น อาจทำให้เด็กถูกล้อ หรือสับสนทางเพศ แต่ตาต้าร์เห็นต่างว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการเลี้ยงดูและการสร้างความเข้าใจ ไม่ใช่เพศของพ่อแม่ ตาต้าร์เล่า พร้อมเสริมว่าแม้จะมีความกังวลเรื่องการเข้าสังคมของลูก แต่ก็หวังว่าในอนาคต ครอบครัวหลากหลายทางเพศจะกลายเป็นเรื่องปกติ คู่รักเพศเดียวกันจะสามารถเลี้ยงดูเด็กได้โดยไม่มีข้อครหาทางสังคม เพราะ “การรับเลี้ยงเด็กคือการตัดสินใจที่เกิดจากความตั้งใจจริง ๆ ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ”

ช่องว่างระหว่างความก้าวหน้าในกฎหมาย และการเปิดใจของสังคม

        เมื่อพูดถึงความเท่าเทียมทางเพศในสังคมปัจจุบัน แอมมองว่า แม้คนรุ่นใหม่จะเติบโตขึ้นมาพร้อมกับการรับรู้ถึงความหลากหลายทางเพศมากขึ้น และแม้สื่อหรือกฎหมายบางอย่างจะสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก แต่ในความเป็นจริงยังคงมีช่องว่างอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในชีวิตประจำวัน “หนูยังเจอเด็กเล็ก ๆ ล้อกันเรื่องเพศอยู่เลย” แอมเล่า พร้อมย้ำว่าสิ่งนี้สะท้อนว่าสังคมยังไม่ได้เข้าใจและเคารพความหลากหลายอย่างแท้จริง

        ไม่เพียงแค่เด็ก แอมยังสังเกตว่าผู้ใหญ่บางคนก็ยังมีทัศนคติที่ไม่ได้เปิดรับอย่างแท้จริง เมื่อเห็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศในโทรทัศน์ เช่น ผู้ชายที่แต่งตัวในลักษณะไม่เป็นไปตามเพศกำเนิด ก็อาจพูดขึ้นมาว่า “ทำไมแต่งตัวแบบนี้” ด้วยน้ำเสียงตำหนิ หรือแฝงอคติโดยไม่รู้ตัว “บางคนอาจไม่ได้ตั้งใจ แต่อาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะพูดยังไงให้เหมาะสม” แอมกล่าว พร้อมชี้ว่า คำพูดที่อาจดูเหมือนล้อเล่นสำหรับบางคน อาจทำร้ายความรู้สึกของผู้อื่นได้โดยไม่รู้ตัว

        ในมุมของตาต้าร์ แม้ประเทศไทยจะมีการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว แต่เขากลับเห็นว่าการยอมรับในเชิงปฏิบัติยังไม่สมบูรณ์ “ประเทศเราอาจดูเปิดกว้าง แต่ยังไม่ได้เปิดใจจริง ๆ” เขากล่าว โดยยกตัวอย่างว่า คนที่มีความหลากหลายทางเพศยังคงถูกตั้งคำถามหรือมองว่าไม่เหมาะสมในบางบทบาทอาชีพ เช่น หากผู้อำนวยการโรงเรียนหรือครูเป็นกะเทย หรือถ้าตำรวจไว้ผมยาวและมีอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลาย สิ่งเหล่านี้แม้จะไม่ผิดกฎหมาย แต่กลับยังดูเป็นเรื่อง “แปลกตา” สำหรับคนในสังคม

        ตาต้าร์ยังสะท้อนว่า ในแวดวงวิชาชีพการศึกษา แม้จะมีครูหรืออาจารย์ที่มีความหลากหลายทางเพศจริง แต่ก็ยังไม่ค่อยเป็นที่เปิดเผยหรือมองเห็นได้ชัดเจน ผู้ปกครองบางคนก็ยังมีท่าทีลังเลหรือไม่ไว้วางใจ “แม้จะมีกฎหมายรองรับ แต่การยอมรับอย่างจริงใจยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร” ตาต้าร์กล่าว

พื้นที่ในรั้วมหาวิทยาลัยที่ส่งเสริมความเท่าเทียม

        แอม กล่าวว่า รู้สึกพอใจกับกฎระเบียบของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เปิดกว้างเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศอย่างชัดเจน นักศึกษาสามารถแต่งกายหรือไว้ทรงผมอย่างไรก็ได้ตามที่ตนต้องการ แม้แต่การเลือกใช้หรือไม่ใช้คำนำหน้าก็สามารถทำได้ ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างสภาพแวดล้อมในรั้วมหาวิทยาลัยให้น่าอยู่ขึ้น แต่ยังช่วยส่งผลต่อทัศนคติของสังคมภายนอกด้วย เมื่อธรรมศาสตร์เริ่มเปิดกว้าง สื่อก็เริ่มให้ความสนใจ มีการอธิบาย ทำความเข้าใจ และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ก็เริ่มหันมามองและปรับตัวตาม นำไปสู่การขยายแนวปฏิบัติที่เคารพในความหลากหลายในวงกว้าง

        ตาต้าร์เองก็สะท้อนว่า ธรรมศาสตร์เป็นพื้นที่ที่เอื้อให้พูดคุยเรื่องความหลากหลายทางเพศอย่างเปิดเผย มีกิจกรรมรองรับ มีนักศึกษาหลากหลายกลุ่มที่สามารถแสดงตัวตนได้อย่างเต็มที่ แตกต่างจากบางมหาวิทยาลัยที่ตนเคยอยู่ ซึ่งบรรยากาศอาจยังไม่เปิดรับเท่าไรนัก ตาต้าร์ยังเห็นถึงความก้าวหน้าในเชิงกายภาพ เช่น การมี “ห้องน้ำเสมอภาค” ที่คณะวิทยาการเรียนรู้ฯ และในอาคาร SC ซึ่งตอบสนองความต้องการของเพื่อน ๆ ที่มีเพศสภาพหลากหลาย อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่ควรปรับปรุง โดยเฉพาะเรื่อง “คำนำหน้าชื่อ” ที่ยังส่งผลต่อสิทธิในการเลือกที่พัก เช่น เพื่อนหญิงข้ามเพศของเขายังต้องพักในหอชายเพราะเอกสารระบุเป็น “นาย” ทั้งที่เธอมีอัตลักษณ์และการดำเนินชีวิตเป็นผู้หญิงอย่างเต็มตัว การแก้ไขเอกสารให้สอดคล้องกับเพศสภาพ จึงเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความปลอดภัยและการยอมรับที่แท้จริงในสังคมมหาวิทยาลัยและสังคมโดยรวมในประเทศด้วย

การเรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศในมหาวิทยาลัยยังจำเป็นอยู่หรือไม่ ?

        แอมมองว่า การเรียนรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศในระดับอุดมศึกษายังมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะแม้หลายคนจะเติบโตมาในสังคมที่เริ่มเปิดกว้างมากขึ้น แต่ยังมีหลายแง่มุมที่ยังเข้าใจผิดหรือไม่กล้าพูดถึง โดยเฉพาะในเรื่องอคติทางวัฒนธรรมและอคติทางเพศ ซึ่งเธอเองก็เคยมีโอกาสเข้าร่วมเวิร์คชอปเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ และพบว่าช่วยเปิดโลกทัศน์และความเข้าใจได้มากขึ้น การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมหรือชั้นเรียน ทำให้เราไม่ต้องกลัวที่จะตั้งคำถามหรือพูดผิด เพราะอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยและพร้อมจะเรียนรู้ร่วมกัน เธอยังได้เรียนรู้จากการเรียนในคณะวิทยาการเรียนรู้ฯ เกี่ยวกับปัญหาของการ “จับคนใส่กล่อง” ว่าบางครั้งเรามีแนวโน้มจะรีบด่วนสรุปว่าใครเป็นอะไร ทั้งที่การทำเช่นนั้นอาจทำให้เขาไม่สบายใจ หากเราเรียนรู้มากพอ เราอาจเลือกที่จะ “ช้าลง” เพื่อฟัง ทำความเข้าใจ และไม่ตัดสินผู้อื่น เธอยังเสนอว่าควรเรียนรู้เชิงจิตวิทยาและวิทยาศาสตร์ไปพร้อมกัน เพื่อเข้าใจว่าอคติไม่ได้เป็นสิ่งถาวร แต่มันสามารถเปลี่ยนแปลงและลดลงได้หากเรามีความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้น

        ตาต้าร์ก็เห็นพ้องว่าการเรียนรู้เรื่องเพศในระดับอุดมศึกษายังจำเป็น โดยยกตัวอย่างจากวิชา “การศึกษาและความเสมอภาค” ที่เขาเพิ่งได้เรียนมา ซึ่งมีการพูดถึงประเด็นเพศ เควียร์ และเฟมินิสม์ เขารู้สึกว่าถ้าได้เรียนสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่มัธยม การเปิดใจก็จะเกิดขึ้นได้เร็วกว่านี้มาก วิชานี้ไม่เพียงแค่ให้ความรู้ แต่ยังเปิดโอกาสให้พูดคุย แลกเปลี่ยน ถกเถียงในมุมมองที่หลากหลาย โดยไม่ตัดสินกัน เขาชื่นชอบการได้ฟังประสบการณ์ตรงจากเพื่อนที่มีความหลากหลาย ทำให้เข้าใจโลกและผู้คนรอบตัวมากขึ้น แม้ตัวเขาจะเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศเอง แต่ก็ยอมรับว่ามีหลายเรื่องที่ตนเคยเข้าใจแค่เพียงผิวเผิน การได้เรียนรู้ในระดับมหาวิทยาลัยจึงไม่ใช่แค่เรื่องจำเป็น แต่เป็นโอกาสที่จะทำให้เราทุกคนเติบโตทางความคิดและทัศนคติได้จริง ๆ

ความหวังต่อการขับเคลื่อนเรื่องเพศในสังคม

        แอมอยากเห็นสื่อมวลชนพูดถึงความหลากหลายทางเพศอย่างต่อเนื่อง ไม่จำกัดแค่ช่วงเดือนไพรด์ และนำเสนอประเด็นอคติทางเพศให้เข้าใจง่ายมากขึ้น เขาเชื่อว่าสื่อสามารถช่วยสร้างความเข้าใจและลดอคติในสังคมได้ หากสื่อสารอย่างเข้าถึงและจริงใจ

        ตาต้าร์มองว่าการศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ควรบูรณาการเรื่องเพศตั้งแต่ระดับมัธยม ไม่ใช่จำกัดแค่ในวิชาเฉพาะ พร้อมเสนอให้มีการปรับนโยบาย เช่น การเปลี่ยนคำนำหน้านามตามเพศสภาพ และมีกฎหมายคุ้มครองในที่ทำงาน เพราะในหลายอาชีพ คนหลากหลายทางเพศยังถูกมองว่าไม่น่าเชื่อถือ ทั้งที่มีความสามารถ เขาอยากให้ทุกคนได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่ต้องเก่งเป็นพิเศษจึงจะได้รับการยอมรับ

        สุดท้ายนี้ เสียงจากนักศึกษาทั้ง 2 คนสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยมีความก้าวหน้ามากขึ้นด้านการยอมรับความหลากหลายทางเพศในแง่กฎหมาย แต่ในอีกหลายมิติ โดยเฉพาะทัศนคติ การยอมรับในระดับปฏิบัติ และการคุ้มครองเชิงโครงสร้าง ยังต้องได้รับการผลักดันต่อไปอย่างจริงจัง การสร้างความเข้าใจตั้งแต่ระบบการศึกษา การสื่อสารผ่านสื่อมวลชน และการออกแบบนโยบายที่สอดคล้องกับชีวิตจริงของผู้คน จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสังคมที่เปิดกว้าง ปลอดภัย และเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของทุกคนอย่างแท้จริง

เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค

 บทความนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์