PACE for change การวิจัยทางการเรียนรู้ เพื่อขับเคลื่อนสังคม
คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. เปิดหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้ (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2565) (ปริญญาเอก) โดยได้รับเกียรติจาก ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิทยาการเรียนรู้ บรรยายพิเศษในหัวข้อ "PACE for change” การวิจัยทางการเรียนรู้ เพื่อขับเคลื่อนสังคม
ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช กล่าวว่า “การเรียนรู้และการศึกษา” เป็นตัวกำหนดคุณภาพของสังคม โดยต้องนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคม เริ่มตั้งแต่คุณภาพของผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน คุณภาพของโรงเรียน ครู สถาบันผลิตครู รวมถึงระบบการศึกษาต้องมีประสิทธิภาพสูงและมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง หัวใจของการศึกษาคือต้องการให้นักเรียนเกิดสมรรถนะเพื่อนำไปปฏิบัติได้ ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ คือ ค่านิยม (Value) เจตคติ (Attitude) ทักษะ เพื่อการทำมาหากิน และทักษะเพื่อชีวิตและความเป็นอยู่ (Skill) และความรู้ (Knowledge) ทั้งนี้ คุณค่า มีความหมายที่สุดของชีวิตมนุษย์ เพราะหากค่านิยมผิดพลาดไปชีวิตจะไปในทางเสี่ยง และในด้านความรู้ การศึกษาต้องไม่หยุดที่การให้ความรู้ แต่ต้องเน้นให้ผู้เรียนนำไปใช้ได้ และความรู้ต้องอยู่ร่วมหรือเชื่อมโยงกับทักษะและการให้คุณค่า การวิจัยทางการศึกษาต้องคำนึงถึงความเป็นองค์รวม (Holistic)
ดังนั้นการวิจัยต้องทำให้เกิดผลกระทบ (Impact) คือ 1) คุณภาพการเรียนรู้ (Learning outcome) ของนักเรียน 2) คุณภาพของโรงเรียน นิยามใหม่ของโรงเรียน เป็นที่เรียนของนักเรียน ครู คนในชุมชน พ่อแม่ ฯลฯ 3) นิยามใหม่ของครู ครูต้องเป็นผู้ก่อการและเป็นนักเรียนรู้ 4) คุณภาพของสถาบันผลิตครู 5) การเปลี่ยนระบบการศึกษา ทำให้เกิดการส่งมอบผลลัพธ์คุณภาพสูง มีประสิทธิภาพสูง นำไปสู่การเปลี่ยนระบบการศึกษา (Learning education system) ดังนั้น งานวิจัยจะทำให้ระบบการศึกษามีการเรียนรู้ต่อเนื่อง เป็นการวิจัยเชิงระบบ หรือ Systems research ซึ่งจะทำให้เกิดพลเมืองคุณภาพสูงได้
นอกจากนี้ วิจัยทางการเรียนรู้และการศึกษาจะนำไปสู่ New learning platform เปลี่ยนจากการเรียนแบบรับความรู้ หรือ Passive learning platform เป็นการเรียนรู้เชิงรุก หรือ Active learning platform และเปลี่ยนจากมุ่งเน้นความรู้ (Emphasis on knowledge) เป็นการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม (Holistic emphasis) นักเรียนเกิดการเรียนรู้แล้วนำความรู้ไปประยุกต์ในสถานการณ์ใหม่ที่ไม่คุ้นเคยได้
สำหรับ Active learning หรือการเรียนรู้เชิงรุกนั้นไม่มีรูปแบบตายตัว มีการเคลื่อนตัวตลอดเวลา เป็นการเรียนเพื่อให้ได้ทักษะโดยตกผลึกจากประสบการณ์ จนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ได้ในสถานการณ์ใหม่ที่ไม่คุ้นเคย เป็นทักษะในอนาคต นักเรียนเปลี่ยนจากการเรียนแบบรับถ่ายทอดเป็นการเรียนรู้เชิงรุก ดังนั้น การวิจัยเรื่องการเรียนรู้ต้องหนุนให้การเรียนรู้เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ จากการปฏิบัติโดยตรง หรือ Active learning ซึ่ง Kolb (1984) กล่าวว่า Active learning ที่ดีเริ่มจากการมีประสบการณ์ตรง ร่วมทำ สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้น (Reflective Observation) และสะท้อนความคิดจากการสังเกตไตร่ตรอง ทำความเข้าใจ และสะท้อนจากประสบการณ์ จนนำไปสู่ การเชื่อมโยง สร้างเป็นแนวคิด ครูจึงต้องตั้งคำถามให้เด็กคิดเชิงหลักการ ว่าสิ่งที่สังเกตเห็นสรุปเป็นหลักการ เป็นทฤษฎีได้อย่างไร กล้าสรุปความคิดเป็นหลักการของตนเอง (Abstract conceptualisation) ทำให้คิดได้ลึกซึ้ง เชื่อมโยงได้ ดังนั้นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ คือ ต้องนำไปสู่การคิดหลักการให้ได้
ขณะเดียวกันการเรียนรู้ที่ดีต้องมี Double Loop Learning เป็นการเรียนรู้ต่อยอดจากข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) ปรับวิธีการทำงาน และสะท้อนกลับไปยังต้นทาง ไปยังหลักการหรือทฤษฎี ว่าควรปรับอย่างไร ซึ่งจะทำให้การเรียนรู้มีความหมาย และทำให้ตัวเอง “เป็นผู้ก่อการ” ที่แท้จริง
วิจัยทางการศึกษาต้องนำไปสู่การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง
การทำวิจัยทางการเรียนรู้และการศึกษา ต้องตั้งคำถามต่อสภาพปัจจุบัน ต้องเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ที่นักเรียน ต้องหนุนให้ครูพัฒนาสภาพแวดล้อมหรือนิเวศการเรียนรู้ที่ช่วยให้นักเรียนพัฒนาได้ ต้องหนุนให้ โรงเรียน ครู และพันธมิตร เกิด Double loop learning ซึ่งครูต้องเป็นนักตั้งคำถามต่อตัวเอง ต่อนักเรียน และตั้งคำถามต่อระบบที่ซับซ้อน นอกจากนี้การวิจัยต้องนำไปสู่การเกิด Active learning และนำไปสู่การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางการศึกษาที่เข้าใจว่าการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กเกิด V-A-S-K ดังนั้น วิจัยการศึกษาที่นักศึกษาปริญญาเอกจะทำ ต้องไม่วิจัยเพียงเพื่อให้ได้ปริญญา ไม่ใช่เพื่อวิทยฐานะ แต่ต้อง มีผลกระทบ (Impact) จริงๆ
สิ่งสำคัญคือการวิจัยทางการเรียนรู้และการศึกษาในมุมมองใหม่ต้องมองการศึกษาในมุมมองใหม่ด้วย มองว่าการเรียนรู้เป็นเรื่องของทุกคน มีโจทย์วิจัยที่กว้างขวาง เป็นการวิจัยที่สร้างผลกระทบได้ การตั้งโจทย์วิจัยจึงต้องตั้งโจทย์วิจัยว่า “งานวิจัยนี้จะสร้างผลกระทบอย่างไร” ต้องเป็นการวิจัยที่สร้างการขับเคลื่อนสังคม วิธีวิทยาการวิจัยจึงต้องคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดผลกระทบกับสังคม
“การเรียนปริญญาเอกที่ดีและมีความหมายต่อชีวิตที่แท้จริงคือ “การทำงาน” คือการได้มีโอกาส ขลุกอยู่กับอาจารย์ที่มีความมุ่งมั่นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างจริงจัง ลงสนามด้วยกัน เผชิญโจทย์ยากๆ ด้วยกัน นั่นคือกระบวนการฝึกที่ทำเพื่อตอบโจทย์ จนกระทั่งเป็น Independent researcher ซึ่งประเทศไทยมีการ Abuse ปริญญาโทและปริญญาเอก ทั้งจากผู้เรียนและผู้สอนบางคนเยอะมาก เพราะเปิดเพื่อหาเงิน คนไปเรียนก็สมรู้ร่วมคิดกัน เป็นการทำลายคุณภาพอุดมศึกษา… ขณะที่การทำวิจัยการศึกษาต้องไม่ใช่การก้มหน้าก้มตาทำวิจัยแล้วได้รับใบปริญญาหรือวิทยฐานะ แต่เราทำเพื่ออยากให้เกิด Impact ในสังคม นอกจากนี้ข้อแนะนำหากจะทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ Social movement สิ่งที่ต้องระวังคือ Social movement ไม่ใช่กระบวนการต่อสู้รบราฆ่าฟัน แต่เป็นการทำงานเชิงวิชาการและสื่อสารสังคม รวมถึงการ สร้างเครือข่าย ซึ่งหลายครั้งเราจะไปถึงผู้ที่ทำงานเปลี่ยนแปลงระบบได้ ถือว่าเป็น Long term journey” ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช กล่าว
ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดี คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. กล่าวว่า การทำหลักสูตรปริญญาเอก คณะฯ เราเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราผลักดันในวงการวิชาการ ในการสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับบ้านเรา ปัญหาของเราคือความรู้ถูกผลิตซ้ำ ถูก Abuse ค่อนข้างเยอะ เป็นความรู้ที่ผลิตออกมาแล้วไม่ถูกใช้งาน แต่ใช้เพื่อการเรียนจบแล้วขึ้นหิ้ง เราอยากช่วยกันสร้างองค์ความรู้ที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยผ่านกระบวนการการทำงานวิจัย การใคร่ครวญ การพัฒนาตัวตนของนักวิจัยในการสร้างความรู้ที่ใช้ได้จริง สังคมไทยต้องการความรู้ทั้งในเชิงนโยบายและการกำหนด ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรการศึกษา การจัดการเรียนการสอน ซึ่งคณะฯ เราอยากเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว ซึ่งต้องอาศัยนักศึกษา อาจารย์ การสนับสนุนงบประมาณและเครือข่ายและผู้เชี่ยวชาญหลายๆ สาขา เป็นระบบสนับสนุนนักศึกษาเพื่อสร้างระบบสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ช่วยให้การวิจัยของนักศึกษาทำได้จริง และทำให้การวิจัยเป็นการเปิดประเด็นทางการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม เรามั่นใจว่าการร่วมทำงานร่วมกับเครือข่ายจะทำให้เกิดองค์ความรู้ การปฏิบัติ และจะทำให้เกิดดอกออกผลได้จริงสำหรับสังคมไทย”
ติดตามฟังย้อนหลัง : https://www.youtube.com/watch?v=rQx2ZK-Qb5w