Loading...

เพื่อนมนุษย์ที่เราไม่ควรหลงลืม: กลุ่มคนไร้สัญชาติ

        ปัญหาความเหลื่อมล้ำ นับเป็นปัญหาที่ยังคงมีให้เห็นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล หรือความเหลื่อมล้ำทางเพศสภาพ จนทำให้ใครหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปัจจัยที่ทำให้สังคมไทยไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้อยู่หรือไม่ เพราะไม่ว่าจะในอดีตหรือในปัจจุบัน คนไทยก็ยังคงไม่ได้รับความเท่าเทียมทั้งจากการปฏิบัติในระดับบุคคล ระดับองค์กร และระดับการดูแลจากรัฐ คนที่มีเงินมากกว่าหรือมีทุนทรัพย์ที่สูงกว่าคนอื่นยังได้รับอภิสิทธิ์และการบริการที่มากกว่าและดีกว่า แต่ชาวบ้านสามัญชนคนธรรมดากลับถูกเพิกเฉยหรือได้รับการปฏิบัติที่แร้นแค้นกว่าคนอีกกลุ่มหนึ่ง

        ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่เกิดกับคนทั่วไปในสังคม แต่ยังมีกลุ่มคนเปราะบางอีกมากมายที่ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำในระดับที่รุนแรง ในที่นี้รวมไปถึงการถูกริดรอนสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เช่น สิทธิในการศึกษา สิทธิในการแสดงออก สิทธิความเป็นส่วนตัว สิทธิในการแต่งงาน และ สิทธิที่จะมีสัญชาติ

        ปัจจุบันได้มีการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานที่กลุ่มคนเปราะบางถูกพรากไปอย่างมากขึ้น สังคมเริ่มมีการเคลื่อนไหวในประเด็นที่จะช่วยสร้างความเท่าเทียมให้เกิดกับคนทุกคน แต่อีกประเด็นปัญหาที่สังคมไทยยังไม่ได้ถูกพูดถึงมากนัก คือ “กลุ่มคนไร้สัญชาติ”

        มีการประมาณการณ์ว่า มีผู้คนอย่างน้อย 10 ล้านคนทั่วโลกที่เป็นบุคคลไร้รัฐหรือไร้สัญชาติ คนเหล่านี้ไม่ได้รับการดูแลจากกฎหมายของรัฐ บ่อยครั้งกลุ่มคนไร้รัฐหรือไร้สัญชาติมักจะไม่อยู่ในความสนใจ และมักจะไม่มีใครได้ยินเสียงของพวกเขา บ่อยครั้งที่พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าโรงเรียน ไม่สามารถเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาล ไม่มีสิทธิในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย หรือแม้กระทั่งไม่สามารถจะแต่งงานได้อย่างถูกกฎหมาย การละเลยต่อสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อตัวบุคคลเท่านั้น แต่ยังส่งกระทบต่อสังคมโดยรวมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกีดกันประชากรกลุ่มหนึ่งออกไปจากสังคมนั้น ย่อมนำไปสู่ความตึงเครียดทางสังคม และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ (ข้อมูลจาก สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ: UNHCR)

        LSEd Social Change ชวนมาพูดคุยกับ อาจารย์ ดร.อันธิฌา แสงชัย หรือ อาจารย์อัน อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในประเด็นที่ยังไม่มีคนพูดถึงมากนักอย่าง “กลุ่มคนไร้สัญชาติ” รวมถึงในฐานะที่เราเป็นเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง เราจะมีวิธีการที่ช่วยเป็นกระบอกเสียงให้กับคนกลุ่มนี้อย่างไรได้บ้าง

         “ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตอนนี้มีกลุ่มคนไร้สัญชาติอยู่ร่วมกันกับเรา แต่เรามักจะมองไม่เห็นเขาหรอก เพราะว่าเขาก็จะไม่ได้ปรากฏตัว บางทีมันผิดกฎหมายด้วย มันก็จะไม่มีใครมาประกาศตัวเองว่าฉันไม่มีสัญชาติ แต่คนที่เขาตกอยู่ในสภาวะนี้จริง ๆ ก็มีอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดที่อยู่ตามเขตชายแดน”

         มุมมองต่อกลุ่มคนเปราะบางอย่าง “คนไร้สัญชาติ” สามารถมองได้ 2 ประเด็น อ.อัน อธิบายว่าประเด็นแรกคือ “การมองในมุมของมนุษยชน” ซึ่งหนึ่งในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนกล่าวถึง “สิทธิที่จะมีสัญชาติ” ดังนั้น ถ้ามนุษย์คนหนึ่งต้องตกอยู่ในสภาวะที่ไร้สัญชาติ ไร้ประเทศ ไร้สถานะพลเมือง ด้วยสาเหตุใดก็ตาม นับว่าเขาผู้นั้นกำลังถูกละเมิดสิทธิ และผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงในการดูแลกลุ่มคนเหล่านี้คือรัฐบาลของแต่ละประเทศ ส่วนใหญ่ปัญหาจะมาจากระบบกฎหมายหรือช่องทางการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมายที่ยังไม่ดีพอที่จะดูแลคนทั้งหมด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วรัฐบาลควรเข้ามาดูแลให้พวกเขาได้มีสิทธิอย่างเท่าเทียมกับคนอื่น ๆ ในส่วนนี้อาจมีข้อจำกัดในเชิงระบบ ข้อจำกัดในเชิงนโยบาย และข้อจำกัดในเชิงปฏิบัติ แต่ก็เป็นสิ่งที่สามารถแก้ไขได้

         ประเด็นต่อมาคือ “การมองในมุมของมนุษยธรรม” อ.อัน อธิบายเพิ่มเติมว่าระบบที่กล่าวไปข้างต้นอาจไม่สามารถแก้ไขได้ทันที และถ้ายิ่งอยู่ภายใต้การดูแลของผู้มีอำนาจที่ไม่ให้ความสำคัญกับกลุ่มคนเหล่านี้ก็อาจต้องใช้เวลาในการต่อสู้อยู่นาน แต่ถ้าหากเราปฏิเสธเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ในฐานะมนุษย์ หรือ ฐานะเพื่อนร่วมสังคม หลักสิทธิมนุษยชนมันก็ยังคงทำงานอยู่แล้วในเชิงระบบ “มนุษยธรรม” เป็นสิ่งที่ทุกคนมีอยู่ในตัวอยู่แล้ว อย่างน้อยถ้าเราไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐหรือคนที่มีอำนาจแก้ไขนโยบาย แต่ในเฉพาะหน้านั้นเราสามารถที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลเขาได้ในฐานะเพื่อนมนุษย์ ซึ่งเราอาจไม่ได้มีความใกล้ชิด ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว แต่เราสามารถที่จะพูดเรื่องนี้ เป็นปากเป็นเสียงแทนคนที่เขาไม่มีพื้นที่ในการพูดเรื่องนี้ได้ หรือเราสามารถช่วยเหลือโดยการระดมทุนสนับสนุนเขาก็ได้ หรือถ้าเราอยู่ร่วมชุมชนกับคนกลุ่มนี้ก็สามารถให้ความช่วยเหลือเขาได้เหมือนกัน

         “คิดว่าถ้าคนในชุมชนช่วยกัน มันอาจจะไม่ได้แก้ปัญหาได้ทันที แต่มันจะช่วยบรรเทาความรุนแรงของปัญหา บรรเทาความเดือดร้อนได้ทันที เรื่องปากท้อง เรื่องความปลอดภัย สถานพยาบาลต่าง ๆ ที่สามารถจะช่วยเขาได้ในยามที่เจ็บป่วย ซึ่งทุกวันนี้นอกจากจะไม่มีสิทธิแล้วการรับความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมก็ยังค่อนข้างลำบาก”

         อ.อัน อธิบายเพิ่มว่า ในการเป็นมนุษย์คนหนึ่ง คือควรมีการการันตีว่าถ้าป่วยก็จะต้องได้รับการรักษา แต่จะเห็นว่าในความเป็นจริงมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น คนไม่มีสัญชาติเขาก็ไม่มีสิทธิในการรักษาอะไรเลย และพบเจออยู่บ่อยครั้งคือโรงพยาบาลบางแห่งก็ปฏิเสธการรักษา แม้ว่าจะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ก็ยังคงมีเรื่องของการรักษาผลประโยชน์หรือการรักษาทรัพยากรอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

 

         “...คนไร้สัญชาติหลายคนเกิดในเมืองไทย พูดภาษาไทย กินอาหารไทย ดูทีวีไทย บางทีเขาไม่ได้ต่างอะไรจากเราเลย แต่เขาแค่เข้าไม่ถึงสิทธิบางอย่างทางกฎหมาย ไม่ได้สถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย มันก็คล้าย ๆ แง่มุมของคนชายขอบกลุ่มอื่น ๆ ด้วย” อ.อัน ยกตัวอย่างกลุ่ม LGBT+ ก็เป็นอีกกลุ่มที่ไม่ได้รับสิทธิทางกฎหมายที่เท่าเทียม เช่น สิทธิในการแต่งงาน การสมรสที่เท่าเทียมกับคู่ชาย-หญิง ซึ่งจริง ๆ แล้วเขาก็ไม่ได้ต่างอะไรจากคนทั่วไป เขาก็เป็นเพียงมนุษย์คู่หนึ่งที่ต้องการสร้างครอบครัวของตนเอง มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพียงแต่ไม่มีกฎหมายมารองรับ  ไม่มีการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แค่นั้นเอง กับอีกกลุ่มหนึ่งคือ ผู้อพยพ การเป็นผู้พลัดบ้านพลัดถิ่น ส่วนนี้ก็จะรู้สึกได้ถึงความต่างทางวัฒนธรรม แต่ว่าความเป็นมนุษย์เขาก็ไม่ได้ต่างจากเรา

 

 เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นกระบอกเสียงแทนคนที่ไม่มีพื้นที่ในการพูดเรื่องนี้ได้อย่างไร?

         อ.อัน กล่าวว่า เราต้องไม่ลืมว่ามีคนกลุ่มนี้อยู่ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องง่ายมากที่เขาจะถูกลืม เพราะทุกวันนี้เราทุกคนมีอะไรต้องทำเยอะแยะมากมาย รัฐบาลก็ยังไม่มี งานก็ต้องทำ เงินก็ต้องหา คือมันยังมีอีกหลายสิ่งที่เราต้องจัดการในชีวิต และหลายคนในชุมชน หลายคนในสังคม ที่เขามีความเปราะบางพร้อมที่จะถูกชุมชนหรือสังคมลืม ดังนั้นเราจะนึกไม่ถึงว่ามีคนที่เดือดร้อนอยู่ และเราจะรู้สึกห่อเหี่ยวทุกครั้งเวลาได้ยินข่าว อย่างข่าวเรือผู้อพยพล่ม ซึ่งสิ่งที่เราทำได้คือ “อย่าลืม” หรือถ้ามีอะไรที่สามารถที่จะทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้นได้ก็ควรทำ การลงมือทำบางครั้งมันง่ายแค่การโพสต์สเตตัส การแชร์ข่าว การร่วมลงชื่อในแคมเปญ หรือสิ่งที่ไม่ได้เรียกร้องทรัพยากร เงินทอง หรือเวลาจากเรา สิ่งเหล่านี้เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่แสดงถึงจุดยืน อ.อัน คิดว่าสิ่งเหล่านี้มันมีพลังมาก

         จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะเห็นว่าปัญหาคือ ผู้คนลืมหรือคิดไม่ถึง และ ถึงแม้จะนึกถึงว่ามีกลุ่มคนเหล่านี้ แต่ก็ไม่รู้ว่าตนเองจะช่วยอย่างไรได้บ้าง “...ดูปัญหามันใหญ่โตเกินตัวเราจังเลย เราคงทำอะไรไม่ได้หรอก” แต่ที่จริงแล้วเราทำได้ เราเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าเราจะทำอะไรเล็กน้อยแค่ไหน ที่สำคัญคืออย่าประมาทศักยภาพของตนเอง อย่างน้อยพอเราได้มีโอกาส ได้พูด อาจเป็นการเล่าให้เพื่อนฟัง การแชร์ข่าวสาร ก็เป็นการที่เราแสดงออกถึงการสนับสนุนเขา ในบางครั้งอาจมีโอกาสที่มากขึ้นในการเป็นหนึ่งในอาสาสมัครบางโครงการ หรือถ้าวันหนึ่งเราเติบโตขึ้น สามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น ก็สามารถทำได้มากขึ้นตามสัดส่วน

 “อย่าไปรู้สึกว่าเราทำอะไรไม่ได้เลย เพราะมันจะทำให้เราติดกับดักของการไม่เชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลง เพราะว่าเราก็ไม่สามารถทำอะไรได้ แต่จริง ๆ ไม่ใช่”

 

         “...ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าเราก็อยู่ไกล อยู่ในเมือง แต่ก็เคยมีโอกาสได้ทำงานในบางโครงการกับกลุ่มคนกลุ่มนี้อยู่บ้างเหมือนกัน เลยทำให้เรามีความตระหนักในเรื่องนี้” อ.อัน เคยทำงานร่วมกับเยาวชนที่ไร้สัญชาติ ทำให้มองเห็นปัญหาของเขาและทำให้ไม่ลืมว่ายังมีคนที่เจอปัญหาเหล่านี้อยู่ อ.อัน เล่าอีกว่ามีเพื่อนที่ทำงานดูแลผู้อพยพลี้ภัยการสู้รบ ทุกวันนี้ก็ยังเห็นเขาทำงานอยู่ เห็นว่ายังโพสต์ Facebook ว่าวันนี้มีการโจมตีที่นั่นที่นี่ คือมีการรับรู้ข่าวสารอยู่เสมอ และสนับสนุนตามที่เราสามารถทำได้ในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทุนทรัพย์ หรือการเป็นปากเป็นเสียง การพูดการแชร์ และสิ่งที่สำคัญมากคือ หน้างานของคนที่ทำงานกับคนกลุ่มนี้โดยตรงเป็นเรื่องที่หนักมาก มันไม่ใช่แค่เรื่องร่างกายในการลงพื้นที่ แต่อาจมีความหนักใจเกิดขึ้น เพราะเขาต้องไปเจอกับสถานการณ์หรือสภาพปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในเร็ววัน ทั้งความทุกข์ ความยาก ความลำบากของคน ซึ่งเมื่อเขาทำงานตรงนี้นาน ๆ ไป เราก็เห็นสภาวะของหลาย ๆ คนที่มีอาการ Burn Out สำหรับในส่วนนี้สิ่งที่ อ.อัน สามารถทำได้ คือการเป็นผู้รับฟัง เป็นผู้ดูแลสนับสนุนทางใจ เพื่อช่วยให้เขาได้คลี่คลายความรู้สึก หรือช่วยยืนยันคุณค่าในสิ่งที่เราทำว่าเป็นสิ่งที่มีพลังต่อสังคมมาก 

        สุดท้ายแล้วการเปลี่ยนแปลงทางสังคมคงไม่เกิดขึ้นหากทุกคนไม่ร่วมด้วยช่วยกัน ผ่านการแสดงจุดยืน การเป็นกระบอกเสียง การสนับสนุน หรือการให้ความช่วยเหลือ ไม่จำเป็นต้องเป็นการกระทำที่ยิ่งใหญ่ หรือใช้เงินจำนวนมหาศาล เพียงแต่การแสดงออกถึงการสนับสนุนเล็ก ๆ ของเรา อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้

เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค