Loading...

ถอดบทเรียนการเตรียมตัวลงชุมชน ปี 2: การเรียนรู้ที่เชื่อมประสานกับวิถีของชุมชน

        การเรียนรู้ จำเป็นต้องอยู่แค่ในห้องเรียนจริงหรือ?

        การจัดการเรียนการสอนในปัจจุบันถูกพัฒนาเพื่อให้ตอบโจทย์กับผู้เรียนมากขึ้น ผ่านการนำ Active Learning เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบรายวิชาและกิจกรรม รวมทั้งยังมีการบูรณาการศาสตร์ความรู้จากหลายแขนงเข้ามาประกอบในการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนได้เห็นมุมมองที่หลากหลาย

        การเรียนรู้แบบ Active Learning คือ การเรียนการสอนที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมเป็นสำคัญ เน้นการกระตุ้นผู้เรียนให้มีการสำรวจ วิเคราะห์ และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งไม่ใช่การรับความรู้จากผู้สอนเพียงอย่างเดียว แต่เน้นการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพและน่าสนใจ การจัดการเรียนรู้เช่นนี้จึงเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา และพัฒนาทักษะที่เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ที่มีความหมายและสร้างความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากขึ้น

        คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์เองก็มีความโดดเด่นในด้านการนำกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งการจัดการศึกษาของหลักสูตรฯ ให้ความสำคัญกับกระบวนการพัฒนาผู้เรียนอย่างรอบด้าน ทั้งในด้านองค์ความรู้ ทักษะ ความสามารถในวิชาชีพ รวมทั้งคุณสมบัติด้านความเป็นมนุษย์ที่เคารพความคิดตนเองและความคิดผู้อื่น เข้าใจเพื่อนมนุษย์ เข้าใจตวามแตกต่างหลากหลาย เข้าใจข้อจำกัดของบริบทการเรียนรู้และการศึกษา

        ในชั้นปีที่ 2 จึงเป็นหน่วยการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงจากการทำงานพื้นที่จริง อย่างรายวิชา วรศ. 201 ชุมชนและการเรียนรู้ (LSE201 Community and Learning) ที่ถือเป็นอีกหนึ่ง Highlight ของการเรียนชั้นปีที่ 2 ที่ให้ผู้เรียนได้ศึกษาและทำความเข้าใจชุมชน เพื่อเป็นวัตถุดิบในการเชื่อมโยงประสบการณ์ของตนเองกับทฤษฎีต่าง ๆ ที่จะได้เรียนรู้ในชั้นปีต่อไป มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะแบบสหวิทยาการที่จำเป็นในการขับเคลื่อนการเรียนรู้ เช่น การสื่อสาร การออกแบบนวัตกรรม การอำนวยการเรียนรู้ และการทำความเข้าใจชุมชน

        LSEd Awesome ชวนทุกคนมาเรียนรู้จากบทเรียนในการเตรียมตัวลงชุมชน สำหรับวิชาชุมชนและการเรียนรู้ในชั้นปีที่ 2 หรือที่เรียกกันคุ้นหูว่า “วิชาลงชุมชน” วิชานี้มีความน่าสนใจอย่างไร ผู้เรียนจะได้เรียนรู้อะไร รวมถึงควรเตรียมความพร้อมก่อนการลงชุมชนอย่างไรบ้าง ร่วมหาคำตอบไปด้วยกันผ่านบทสัมภาษณ์จาก ผศ.ดร.ไอยเรศ บุญฤทธิ์ (อ.ช้าง) อาจารย์ประจำรายวิชา วรศ. 201 ชุมชนและการเรียนรู้ ธนภัทร รอดไธสง (ไอซ์) นักศึกษาชั้นปีที่ 2 และ พัชรภรณ์ ราชนาทิพย์ (น้องแณณ) บัณฑิต LSEd รุ่นที่ 3

ที่มาที่ไปและผลผลิตสำคัญของวิชานี้ที่อยากให้เกิดขึ้นต่อนักศึกษาคณะวิทยาการเรียนรู้ฯ

        คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ของเรามุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนที่สร้างการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง หรือการลงมือทำ โดยยึดแนวคิด ‘ทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์’ หรือ Experiential Learning Theory (ELT) อ.ช้าง เล่าว่าการออกแบบวิชาชุมชนและการเรียนรู้ในชั้นปีที่ 2 จึงเป็นวิชาที่พาผู้เรียนไปสัมผัสกับพื้นที่จริง วิถีชีวิต และผู้คนในชุมชน

        ด้วย Concept นี้ การจัดการเรียนการสอนจึงเริ่มที่ภาคปฏิบัติก่อน หลังจากนั้นจึงนำปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมาเชื่อมโยงกับแนวคิดทฤษฎี ซึ่งการที่ผู้เรียนเริ่มจากการลงพื้นที่นั้นเราจะไม่ได้ให้แนวคิดทฤษฎีอย่างจริงจัง แต่เป็นการให้ “เครื่องมือ” ในการเข้าไปทำความเข้าใจชุมชนและผู้คน ทั้งในแง่ของแนวคิด วิธีการมองผู้คน และวิธีการมองบทบาทของตนเอง โดยแนวคิดหลักที่สำคัญคือ แนวคิดเรื่องวัฒนธรรมสัมพัทธ์ (Cultural Relativism) ของ ฟรานซ์ โบแอส (Franz Boas) นักมานุษยวิทยาคนสำคัญ ที่มองว่าวัฒนธรรมของแต่ละสังคมมีลักษณะเฉพาะตัว มองเห็นถึงความแตกต่างของแต่ละวัฒนธรรม และไม่ตัดสินว่าวัฒนธรรมใดสูง-ต่ำกว่ากัน ดังนั้น เมื่อถึงเวลาที่ผู้เรียนต้องลงพื้นที่จริงเขาจะไม่ตัดสินว่าวิถีชีวิตหรือความเป็นอยู่ของคนในชุมชนนั้นดีหรือแย่กว่าประสบการณ์ที่เขาเคยเจอ ทำให้เขาไม่ปิดกั้นการเรียนรู้และพร้อมที่จะทำความเข้าใจว่า “ความแตกต่าง” ที่กล่าวมานั้นเป็นอย่างไรผ่านการตั้งคำถามชวนคิด

‘การทำความเข้าใจชุมชนผ่านประสบการณ์จริง’ ‘การเจอพื้นที่การเรียนรู้ใหม่’ และ ‘การรู้ร้อนรู้หนาว’ คือเป้าหมายสำคัญของวิชาลงชุมชน

        การพาผู้เรียนออกมาเรียนรู้นอกห้องเรียนถือเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ และเปลี่ยนพื้นที่การเรียนรู้ให้พวกเขา ซึ่งพื้นที่ที่ทีมอาจารย์เตรียมไว้ให้จะเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้มีความซับซ้อนและไม่ได้เข้าใจง่ายจนเกินไป ดังนั้นชุมชนที่นักศึกษาจะลงภาคสนามจึงต้องอาศัยการพูดคุย การมองเห็นวิถีชีวิต มุมมอง หรือการให้คุณค่าของผู้คนในพื้นที่ เพื่อให้เข้าใจองค์ประกอบต่าง ๆ ของชุมชน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมวิชานี้ต้องลงพื้นที่นานถึง 7 วัน

        การลงชุมชนจะทำให้ผู้เรียนได้เจอกับสิ่งที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยสัมผัส ทั้งในแง่ความแปลกใหม่ของบ้านเรือน ผู้คน นิสัย และวิถีชีวิตประจำวันที่แตกต่าง รวมถึงภาวะทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวของผู้เรียนเอง ด้วยความที่พื้นที่นั้นอาจไม่ได้มีความเป็นเมืองมากนัก อาจไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก จนบางครั้งนำพาไปสู่ความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจที่ไม่ได้เกิดจากตัวผู้เรียน แต่เกิดจากสถานการณ์โดยรอบที่ไม่เท่าเทียม ซึ่งในฐานะของการเป็นนักวิทยาการเรียนรู้ฯ และมองเห็นประเด็นความไม่เท่าเทียม อาจเป็นไอเดียที่ช่วยต่อยอดให้ผู้เรียนได้โจทย์ในการแก้ปัญหาสังคมที่ใหญ่ขึ้นในอนาคตได้ เพราะฉะนั้น การลงชุมชนจึงไม่ใช่แค่เรื่องของการใช้เครื่องมือในการเก็บข้อมูล แต่เกี่ยวข้องกับภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว และสามารถนำไปสู่เรื่องของการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างเต็มที่ได้

‘วิชานี้ต้องการให้ผู้เรียนรู้ร้อนรู้หนาวกับสภาพสังคมในปัจจุบัน นำไปสู่การเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้’

อุปสรรคที่ทำให้คนในสังคมไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับชุมชน

        อ.ช้าง มองว่าวิถีชีวิตในปัจจุบันมีการแบ่งแยกผู้คนออกจากกันโดยอัตโนมัติ หากพูดถึงมิติด้านสังคม ‘ชนชั้น’ จึงเป็นอีกประเด็นที่ทำให้เกิดการแบ่งแยก ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุทางเศรษฐสถานะ วิถีชีวิต เชื้อสาย หรือแม้แต่พื้นที่อยู่อาศัย เช่น คนเมือง คนชนบท เมื่อมีการเรียกแทนกันว่า ‘พวกเขา’ ‘พวกเรา’ ต่างคนต่างมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน การแบ่งพรรคแบ่งพวกกันจึงเกิดขึ้น ส่งผลให้ผู้คนไม่เห็นความแตกต่าง เห็นเพียงความสูง-ต่ำ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กลุ่มคนหลาย ๆ กลุ่มไม่สามารถรวมตัวและเรียนรู้ปัญหาร่วมกัน เราจึงจำเป็นต้องนำ ‘แนวคิดวัฒนธรรมสัมพัทธ์’ มาเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ชุมชน เพื่อบ่มเพาะให้ผู้เรียนมองเห็นความแตกต่าง เปิดใจยอมรับ และต่อยอดไปสู่อนาคตที่เขาต้องไปสร้างการเรียนรู้ให้กับสังคม

มุมมองของนักศึกษาและบัณฑิต LSEd

        สำหรับ ไอซ์ มองว่าการไม่เข้าใจกัน ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ ค่านิยม หรืออุดมการณ์ทางการเมือง ล้วนเป็นสิ่งที่แต่ละคนถูกปลูกฝังมาไม่เหมือนกัน สิ่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องการที่คนภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมภายในชุมชน แม้แต่ภายใต้ชุมชนเดียวกันยังเกิดการไม่เข้าใจกัน และเจ้าตัวเล่าอีกว่า “ผู้นำชุมชนที่ได้ไปลงพื้นที่เล่าว่า คนในชุมชนจะไม่พูดคุยเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองกันเลย เพราะจะเกิดความขัดแย้งกัน ทำให้ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนแย่ลง” จึงคิดว่าการไม่เข้าใจในความแตกต่างหลากหลาย คืออุปสรรคที่ทำให้ผู้คนไม่สามารถมีส่วนร่วมกับชุมชน

        ส่วนของ น้องแณณ ให้ความคิดเห็นว่า พื้นที่ หรือ เขตที่อยู่ มีผลต่อการมีส่วนร่วมเป็นอย่างมาก การที่เราอยู่ในสังคมที่มีการแข่งขันสูงก็อาจทำให้ผู้คนเกิดความเหนื่อยล้า จนอาจส่งผลให้ไม่มีเวลาหรือพละกำลังในการเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมภายในชุมชน หรืออาจเกิดจากมุมมองของบางคนที่มองว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งสำคัญต่อชีวิตเขา จึงทำให้เขาเลือกที่จะไม่สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนที่ตนอยู่อาศัย

กระบวนการเรียนรู้ในช่วงการลงชุมชนเป็นอย่างไร

        อ.ช้าง เล่าว่า การเรียนรู้ตลอดทั้ง 7 วัน จะชวนให้ผู้เรียนได้มองเห็นหน่วยย่อย หรือองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกันเป็นชุมชนสังคม เราจึงนำทฤษฎีโครงสร้าง - หน้าที่ (Structural and Functionalism) มาเป็นจุดเริ่มต้นในการช่วยอธิบายโครงสร้างทางสังคมของชุมชน ให้เห็นว่าโครงสร้างในชุมชนประกอบด้วยอะไรบ้าง แต่ละหน่วยย่อยมีหน้าที่เฉพาะอย่างไร และองค์ประกอบเหล่านั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ดังนั้น ทฤษฎีโครงสร้าง - หน้าที่ จึงเป็นเสมือนทฤษฎีแม่บทของการเรียนรู้ในวิชานี้ ซึ่งหลังจากเข้าใจโครงสร้างของชุมชนแล้วเราก็จะนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ผ่านแนวคิดทฤษฎีต่าง ๆ เช่น ทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง (Iceberg Theory) ที่อธิบายว่าบนยอดภูเขาน้ำแข็งเปรียบเหมือนปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เราจะชวนวิเคราะห์ต่อว่าอะไรคือสิ่งที่เป็นเบื้องหลังที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์เหล่านั้น และ การวิเคราะห์ SWOT (SWOT Analysis) ที่ช่วยวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย โอกาสและอุปสรรคของชุมชน รวมถึง เครื่องมือ 7 ชิ้น คือ เครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูลชุมชนที่พัฒนาโดยคุณหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านมานุษยวิทยา ซึ่งเมื่อนำเครื่องมือ 7 ชิ้นมาเชื่อมโยงกับคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์แล้ว ทางทีมอาจารย์ประจำรายวิชาเล็งเห็นว่าควรพัฒนาเครื่องมือนี้เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาชุมชน จึงได้ข้อสรุปว่าจะพัฒนาเป็น “เครื่องมือ 7 + 1 ชิ้น” หรือ แผนผังการเรียนรู้ในชุมชน ซึ่งชิ้นที่ 8 คือการประมวลข้อมูลทั้งหมด แต่จะมุ่งเน้นที่การเรียนรู้ของผู้คนในชุมชนและระบบการเรียนรู้ในชุมชน

นักศึกษาได้เรียนรู้อะไรบ้าง

        ลักษณะการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นคือ การระดมสมอง การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการสะท้อนคิดกับเพื่อน ๆ และคนในชุมชน ไอซ์ เล่าอีกว่าการลงชุมชนทำให้เขามีมุมมองต่อ “ชุมชน” ที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เคยเข้าใจว่าการลงชุมชน คือการไปที่ที่มีความทุรกันดาร เมื่อได้ลงพื้นที่จริงก็เห็นว่าชุมชนก็คือพื้นที่ทางสังคมทั่วไป รวมถึงได้ตระหนักรู้ว่าไม่ควรดูถูกความเชื่อหรือศรัทธาของคนในชุมชน ถึงแม้บางอย่างจะมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มารองรับ แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่เขาเชื่อหรือยึดเหนี่ยวจิตใจของเขา บางทีเหมือนเป็นแสงสว่างนำทางชีวิตเขาเลยก็ได้ สุดท้ายคือได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับคนในสังคมทั้งการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงาน

        การเรียนรู้ที่เกิดจากการลงชุมชนมีหลายอย่างมาก น้องแณณสะท้อนการเรียนรู้ 3 ข้อ คือ 1) อย่านำสิ่งที่เราคิดหรือเห็นว่าเป็นปัญหาไปยัดเยียดให้ชุมชน เพราะสิ่งที่เราเห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เขามองว่าเป็นปัญหา สิ่งสำคัญคือเราควรค้นคว้าหาข้อมูลจากเอกสาร หนังสือราชการ หรือสัมภาษณ์คนในชุมชน เพื่อให้ข้อมูลที่ได้รับถูกต้องและมาจากหลายแหล่งข้อมูล  2) อยู่ให้เป็น การเก็บข้อมูลในแต่ละครั้งเราจะพบเจอคนหลายรูปแบบและไม่สามารถคาดเดาได้ ดังนั้น เราต้องอยู่ให้เป็น อย่ามัวแต่หาข้อมูลจนไม่ได้สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คน เพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้เก็บข้อมูลและผู้ให้ข้อมูลก็สำคัญไม่น้อย และ 3) ควรมีการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นของชุมชนหรือสิ่งที่ตนเองสนใจ เพราะจะช่วยให้การทำงานกับชุมชนมีกรอบและทิศทางในการพูดคุย

การลงชุมชนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านทัศนคติ ความคิดความเชื่อ คุณค่า ทักษะ และความรู้ของนักศึกษาอย่างไร

        ไอซ์ เล่าว่าตนเองมีมุมมองต่อชุมชนที่เปลี่ยนแปลงไป ได้เห็นว่าแต่ละชุมชนต่างมีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง และได้เห็นคุณค่าของงานศิลปะท้องถิ่น เพราะประสบการณ์จากการลงชุมชนทำให้เห็นขั้นตอนในการสร้างสรรค์ผลงานแต่ละชิ้น รวมถึงได้เสริมทักษะการสัมภาษณ์ การพูด และการทำงานเป็นกลุ่ม

        น้องแณณ สะท้อนว่าชุมชนไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงด้านความคิดและความเชื่อของตนมากนัก แต่การลงชุมชนช่วยเสริมสร้างความรู้ใหม่ ด้วยความที่ตนก็เป็นคนต่างจังหวัดจึงทำให้ชุดข้อมูล ความเชื่อ หรือความคิดบางอย่างมีความใกล้เคียงกับชุมชนที่ไปลงพื้นที่ และรู้สึกสนุกทุกครั้งที่ได้รับความรู้และประสบการณ์ใหม่ ๆ

การเตรียมความพร้อมก่อนการลงชุมชน

เตรียมใจ เตรียมพร้อมที่จะรับฟัง และเตรียมสถานะทางความคิดของตนเองให้พร้อม

        อ.ช้าง อธิบายเพิ่มเติมว่า การเตรียมใจ คือ เตรียมที่จะพบกับความแตกต่างจากสิ่งที่ตนเองเคยสัมผัสหรือมีประสบการณ์มา เช่น ความแตกต่างด้านความสะดวกสบาย ความแตกต่างของผู้คน หรือ ความแตกต่างด้านกลุ่มเพื่อนที่จะต้องทำงานและใช้ชีวิตร่วมกัน ซึ่งนักศึกษาสามารถชิมลางก่อนลงชุมชนจริงผ่านการพูดคุยกับรุ่นพี่ หรือหาความรู้เบื้องต้นในการเตรียมตัวลงภาคสนามได้

        ส่วนการเตรียมพร้อมที่จะรับฟังรับรู้ คือ พร้อมที่จะรับฟังความคิดของผู้อื่น แม้ว่าสิ่งนั้นจะต่างจากความคิดหรือความเชื่อของเราเอง เพราะบางครั้งการที่เราได้พูดคุยสัมภาษณ์กับคนในพื้นที่แล้วเราไม่พร้อมที่จะรับฟังเขาจริง ๆ มันจะกลายเป็นเสียเวลาและเสียโอกาส  หากเราไม่เตรียมใจให้พร้อม เราก็จะปฏิเสธความคิดหรือสิ่งที่คนอื่นต้องการสื่อสารกับเราทันที กลายเป็นการปิดกั้นทางความรู้ ซึ่งในฐานะการเป็นผู้เข้าไปเรียนรู้ชุมชน สิ่งสำคัญในการลงชุมชน คือเราต้องเตรียมสถานะทางความคิดของตนเองให้พร้อม ครุ่นคิดถึงบทบาทของตนเองว่าเป็นนักศึกษาหรือผู้ที่ต้องการจะเรียนรู้ เติมเต็มความรู้ให้เต็มเปี่ยมเพื่อสร้างประโยชน์แก่ประชาชนและสังคมต่อไป ซึ่งเปรียบเปรยดั่งคำกล่าวของ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ที่ว่า “...มหาวิทยาลัยย่อมอุปมา ประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาส ที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักเสรีภาพของการศึกษา...”

ทริคการเตรียมความพร้อมจาก นักศึกษาและบัณฑิต LSEd

        สิ่งแรกที่ ไอซ์ กล่าวถึงคือ การเตรียมร่างกายให้พร้อม ดูแลรักษาตนเองอย่าให้ป่วยหรือบาดเจ็บ เพราะอาจเป็นอุปสรรคระหว่างการลงชุมชน และเตรียมความพร้อมในด้านอุปกรณ์ของใช้ไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ พยายามจัดสรรของใช้ส่วนตัวให้พอดี นำไปแต่ของที่จำเป็น และสุดท้ายคือ การเตรียมใจให้พร้อม เพราะการลงชุมชนอาจมีหลายอย่างที่อยู่นอกเหนือการควบคุม เช่น ที่พัก ผู้คน อาหาร และวัฒนธรรม ในส่วนของ น้องแณณ แชร์ในด้านการเตรียมกายเตรียมใจให้พร้อม ถ้าระหว่างการลงชุมชนรู้สึกไม่ดีหรือเป็นอะไรให้รีบแจ้งอาจารย์หรือเจ้าหน้าที่ทันที และปล่อยตัวปล่อยใจรอเจอประสบการณ์ใหม่ ๆที่ไม่ได้หาได้ง่ายจากที่อื่น “...กายพร้อมใจพร้อม เราจอยได้ไม่เกินจริง”

        จากการบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์ของทั้ง อ.ช้าง ไอซ์ และน้องแณณ วิชาชุมชนและการเรียนรู้น่าจะเป็นวิชาที่สร้างสมประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ท้าทาย และแฝงไปด้วยความรู้ วิธีการมองชุมชนและสังคมอย่างเข้าใจ ซึ่งการได้บ่มเพาะทักษะเหล่านี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็น “นักวิทยาการเรียนรู้” ที่ออกไปทำงานพัฒนาสังคม และสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สนองความต้องการที่แท้จริงของชุมชนและองค์กรในสังคม

เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค