Loading...

ปรัชญาการศึกษากับการเรียนรู้: พลังขับเคลื่อนสังคมสู่การเปลี่ยนแปลง

        ปรัชญาเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการตั้งคำถามและค้นหาคำตอบเกี่ยวกับความจริง ความรู้ และคุณค่าต่าง ๆ ในชีวิต นิยามของคำว่า “ปรัชญา” (Philosophy) มาจากรากศัพท์ภาษากรีกที่หมายถึง “ความรักในปัญญา” ซึ่งสะท้อนถึงการแสวงหาความเข้าใจในสิ่งที่ลึกซึ้งเกินกว่าความรู้พื้นฐานทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับการดำรงอยู่ (Ontology) ความรู้ (Epistemology) หรือแม้แต่เรื่องของศีลธรรมและความดีงาม (Ethics) นักปรัชญาอย่างเพลโตและอริสโตเติลเคยกล่าวไว้ว่า ปรัชญาคือเครื่องมือที่ช่วยให้มนุษย์ตระหนักถึงความหมายของชีวิตและหน้าที่ของตนเองในสังคม (Plato, The Republic; Aristotle, Nicomachean Ethics).

        เมื่อพูดถึง “ปรัชญาการศึกษา” (Philosophy of Education) เราจะพบว่ามีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของการเรียนรู้ ทั้งในระดับบุคคลและสังคม ปรัชญาการศึกษาไม่ใช่เพียงแค่กรอบความคิดในการพัฒนาหลักสูตรหรือกระบวนการสอน แต่ยังเป็นรากฐานที่ช่วยให้เราทบทวนเป้าหมายของการศึกษาในระยะยาว เช่น การพัฒนาปัจเจกบุคคลให้สามารถตระหนักรู้ในศักยภาพของตนเอง และมีบทบาทในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม แนวคิดเหล่านี้ได้รับการยอมรับในหลากหลายยุคสมัย โดยมีปรัชญาการศึกษาแบบพิพัฒนาการนิยม (Progressivism) และปฏิรูปนิยม (Reconstructionism) เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า การศึกษาคือพลังขับเคลื่อนสำคัญของสังคม

        วันนี้ LSEd Let’s Talk ชวนคุยในประเด็นความเชื่อมโยงระหว่างปรัชญาการศึกษากับการเรียนรู้และการขับเคลื่อนสังคม ผ่านบทสัมภาษณ์จาก รศ.ดร.สิทธิชัย วิชัยดิษฐ (อ.เปี๊ยก) อาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สนใจงานด้านการศึกษา การพัฒนาครูและการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

‘ปรัชญาการศึกษา’ กับการทำความเข้าใจและสร้างความหมายให้กับกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์

        “...ผมคิดว่าคนทำงานด้านการศึกษาและการเรียนรู้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคำนึงถึงการศึกษาในเชิงปรัชญา อย่างน้อยคุณต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า เราจะจัดการศึกษาไปเพื่ออะไรและจัดอย่างไร ไม่เช่นนั้นคุณจะลอยตามน้ำไปเรื่อยท่ามกลางคลื่นลมนโยบายและดราม่าในสังคม คุณอาจจัดการศึกษา หรือ สร้างการเรียนรู้ในแบบที่ทำตาม ๆ กันมา โดยไม่ได้ลองทบทวนเลยว่าสิ่งที่ทำอยู่มีความหมายอะไร ทำไปเพื่ออะไร” อ.เปี๊ยก กล่าว

        ปรัชญาเป็นเหมือนเครื่องมือที่ช่วยให้เราตั้งคำถามกับสิ่งที่เราทำอยู่ในชีวิตประจำวัน อ.เปี๊ยกเล่าถึงตอนหนึ่งในวรรณกรรม ‘เจ้าชายน้อย’ ที่ชอบมาก เป็นตอนที่เจ้าชายน้อยเดินทางไปยังดาวดวงหนึ่งและได้พบกับชายผู้จุดโคมไฟ เจ้าชายน้อยรู้สึกประทับใจทันที เพราะในสายตาของเขา งานนี้ดูเรียบง่ายแต่งดงามและมีความหมาย ชายผู้นี้จุดโคมไฟเพื่อส่องแสงให้ดวงดาวและดอกไม้ และเมื่อเขาดับโคมลง ดวงดาวและดอกไม้ก็ได้พัก

        แต่เมื่อได้พูดคุยกัน เจ้าชายน้อยก็พบว่า งานที่ดูมีความหมายนี้กลับกลายเป็นภาระที่หนักอึ้ง ชายผู้จุดโคมไฟต้องทำงานนี้ทุก ๆ นาที เพราะดาวดวงนี้หมุนเร็วขึ้น หนึ่งวันเต็มผ่านไปในเวลาเพียงหนึ่งนาที แม้เขาจะเคยพอใจกับงานของตัวเองในอดีต แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป คำสั่งที่ได้รับกลับไม่เปลี่ยนแปลง เขาจึงต้องจุดไฟและดับไฟอยู่ตลอดเวลา จนไม่มีเวลาพักผ่อน สิ่งที่เคยทำให้รู้สึกภูมิใจกลับกลายเป็นพันธนาการ แต่เขาไม่เคยตั้งคำถามว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นยังคงมีความหมายหรือไม่

        แม้ว่าเจ้าชายน้อยจะเสนอวิธีแก้ปัญหา แต่ชายผู้นั้นกลับไม่ยอมเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เขาทำกลายเป็นกรงที่ขังตัวเองโดยไม่รู้ตัว อ.เปี๊ยกสรุปว่า “สำหรับผม การตั้งคำถามในเชิงปรัชญากับสิ่งที่เราทำอยู่ คือหนทางเดียวที่จะช่วยให้เราออกจากกรงที่มองไม่เห็นนั้นได้”

        การตั้งคำถามกับสิ่งที่ทำ ไม่ใช่เพียงเพื่อหาคำตอบ แต่เพื่อให้เราตระหนักว่าความหมายของสิ่งเหล่านั้นสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา การเรียนรู้ที่จะตั้งคำถามจึงมีความสำคัญ เพราะไม่เพียงแค่ให้เราทำตามสิ่งที่เคยมีมา แต่ยังเปิดโอกาสให้เราปรับตัวและสร้างความหมายใหม่ที่สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน

ปรัชญาการศึกษามีส่วนช่วยขับเคลื่อนสังคมอย่างไร?

        อ.เปี๊ยกมองว่า ในระดับบุคคล ปรัชญาช่วยให้เราหมั่นทบทวนตัวเอง และทำหน้าที่เป็นเข็มทิศนำทางในสิ่งที่เราทำและเชื่อมั่น ซึ่งกระบวนการนี้เองคือจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคม งานวิจัยที่ อ.เปี๊ยก กำลังทำอยู่ชี้ให้เห็นว่า แรงผลักดันที่ทำให้ครูบางคนลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลง ไม่ได้มาจากกระแสสังคมหรือแรงกดดันภายนอก แต่มาจากแรงขับภายในของตัวเขาเองที่มองถึงเป้าหมายการศึกษาในระยะยาว ซึ่งสะท้อนถึงวิธีคิดในเชิงปรัชญาว่าการศึกษาควรมุ่งไปในทิศทางใดนั่นเอง

        ในระดับสังคม หากมองไปที่โครงสร้างหรือนโยบายการศึกษา อย่างใน พระราชบัญญัติการศึกษา หรือ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะพบว่าเนื้อหาหลายส่วนมีรากฐานมาจากปรัชญาการศึกษาแบบพิพัฒนาการนิยม (Progressivism) เช่น แนวคิด “ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” ที่พูดถึงการศึกษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียน แต่ในทางปฏิบัติจริง กลับพบว่ามีเพียงไม่กี่ครั้งที่การศึกษาในโรงเรียนสามารถเดินตามแนวคิดนี้ได้อย่างแท้จริง นี่เป็นตัวอย่างของความไม่สอดคล้องกันระหว่างปรัชญาการศึกษากับการปฏิบัติ

         อ.เปี๊ยกตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหานี้อาจเกิดจากการที่เราไม่เคยตั้งคำถามหรือพูดคุยกันในเชิงปรัชญาเกี่ยวกับเป้าหมายและวิธีการทางการศึกษาอย่างจริงจัง “ถ้าผมจะเสนออะไรได้ ผมอยากให้เราให้ความสำคัญกับการพูดคุยและถกเถียงในเชิงปรัชญาการศึกษากันมากขึ้น ก่อนจะลงมือกำหนดนโยบายหรือเปลี่ยนแปลงอะไร” อ.เปี๊ยกกล่าวปิดท้าย

จากปรัชญาสู่การปฏิบัติ: การสร้างแรงบันดาลใจผ่านการเรียนการสอน

        อ.เปี๊ยก กล่าวว่า จุดเริ่มต้นสำคัญคือการที่ผู้จัดการศึกษาตอบตัวเองให้ได้ว่า “การศึกษาคืออะไร?” “เราจัดการศึกษาเพื่ออะไร?” และ “การศึกษาที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร?” คำตอบเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานในการออกแบบการศึกษาที่สอดคล้องกับอุดมคติและความเชื่อของเรา

        ตัวอย่างเช่น หากเรายึดปรัชญาการศึกษาแบบพิพัฒนาการนิยม (Progressivism) ซึ่งเน้นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ การลงมือปฏิบัติ และการพัฒนาศักยภาพที่แตกต่างกันของผู้เรียน เราจะออกแบบกิจกรรมที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วม และตอบโจทย์ความหลากหลายของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การออกแบบเช่นนี้ไม่เพียงช่วยพัฒนาผู้เรียนแต่ละคนตามศักยภาพของตนเอง แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ และช่วยให้พวกเขาเห็นคุณค่าของการศึกษาในชีวิตจริงอีกด้วย

ปรัชญาการศึกษาในแบบฉบับของ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ.

        อ.เปี๊ยกมองว่าในคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ หลักสูตรและการเรียนการสอนสะท้อนแนวคิดปรัชญาการศึกษาแบบพิพัฒนาการนิยม (Progressivism) และปฏิรูปนิยม (Reconstructionism) อย่างชัดเจน

        ปรัชญาการศึกษาเหล่านี้ถูกนำมาปรับใช้ในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์จริงและการสะท้อนคิด (Reflection) นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่า การศึกษาควรมีบทบาทในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม ด้วยการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นพลเมืองที่มีจิตสำนึกทางสังคม พร้อมทั้ง ‘รู้ร้อนรู้หนาว’ รู้เท่าทันสิ่งรอบตัวและกระตือรือร้นในการแก้ปัญหาต่าง ๆ

        คณะฯ ให้ความสำคัญกับการศึกษาที่มุ่งสร้างความเป็นธรรมในสังคม ผ่านโครงการต่าง ๆ ของคณะ รวมถึงตัวอาจารย์เองก็ต้องคอยทบทวนตัวเองอยู่เสมอว่า สิ่งที่เราทำ ทั้งงานสอนและโครงการต่าง ๆ นั้น มีความหมายอย่างไร และยังคงสอดคล้องกับปรัชญาการศึกษาที่เราเชื่อหรือไม่ เพื่อให้เราไม่หลงทางหรือไหวเอนไปตามกระแสสังคม รวมถึงไม่ขังตัวเองไว้กับการปฏิบัติบางอย่าง ตกร่องในสิ่งที่เราคุ้นเคย

เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค