Loading...

ป.เอก LSEd หลักสูตรสร้าง Academic Change Agent เชื่อมโยงความรู้สู่การปฏิบัติจริง

        หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเป้าหมายชัดเจนในการผลิต และบ่มเพาะ “นักขับเคลื่อนการเรียนรู้” (Academic Change Agent) เพื่อสนับสนุนและสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาและการเรียนรู้ของสังคมไทย

        ในปัจจุบันการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ได้ขยายขอบเขตออกไปในวงกว้างกว่าเดิม จากการเรียนรู้เพียงการศึกษาในระบบ ไม่ว่าจะเป็นในโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัยหรือนอกโรงเรียน กลายเป็นว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ ทุกบริบท และทุกช่วงเวลาของมนุษย์ ดังนั้น การได้รับองค์ความรู้ ทฤษฎี แนวคิด จากในห้องเรียนคงไม่เพียงพอต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมอีกต่อไป

        หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้ มีความเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีของ มีทุนทางความรู้ ทักษะ ประสบการณ์การทำงาน ประสบการณ์ชีวิต ที่ติดตัวมา หลักสูตรฯ จึงมีหน้าที่ในการเปิดพื้นที่ให้ผู้เรียนได้นำเอาองค์ความรู้ ทฤษฎี ที่มีอยู่ มาประยุกต์ใช้ในเชิงปฏิบัติ เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่มีความหมายกับการเรียนรู้ของมนุษย์ ให้ได้เห็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคม จากการมองปรากฎการณ์ทางสังคมอย่างรอบด้านด้วยความเข้าใจ ผ่านหัวใจ และการลงมือปฏิบัติ

        “หลักสูตรเราจะไม่มุ่งเน้นไปที่ความเป็นวิชาการหรือการทำงานวิจัยของตนเองเพียงอย่างเดียว แต่เราจะชวนนักศึกษาออกไปเจอโลกจริง ๆ แล้วชวนตั้งคำถามว่าเราเห็นอะไรบ้าง รู้สึกอย่างไรบ้าง และทำอะไรได้บ้าง โดยใช้องค์ความรู้ที่ได้จากรายวิชาต่าง ๆ มาเป็นฐานในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ และเสนอแนะแนวทางที่เป็นไปได้ตามบริบทพื้นที่นั้น ๆ”

        หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิทยาการเรียนรู้ เกิดจากความตั้งใจว่าคณะฯ อยากต่อยอดนักวิทยาการเรียนรู้ จากที่เรามีหลักสูตรปริญญาโทที่เปิดมา 8 รุ่น หลักสูตรปริญญาตรีที่เปิดมาเป็นรุ่นที่ 7 แล้ว และมีการทำโครงการบริการวิชาการกับเครือข่ายต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งคณะฯ มันมาถึงจุดที่เรามีความพร้อมในเชิงบุคลากร มีอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญจากสาขาวิชาที่หลากหลาย อาจารย์เองได้สั่งสมประสบการณ์ทำงานวิจัยและงานขับเคลื่อนเชิงปฏิบัติแบบสหวิทยาการ และมีความพร้อมในการมีเครือข่ายที่ทำงานขับเคลื่อนการเรียนรู้ร่วมกับคณะฯ สิ่งเหล่านี้น่าจะสามารถทำให้นักศึกษาได้ประสบการณ์เรียนรู้ที่หลากหลายและเข้มข้น

        ผศ.ดร.ลินดา เยห์ (อ.หลิน) ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาเอก เล่าถึงภาพรวมหลักสูตรว่า ตอนที่คิดกันเรามองว่าคนที่น่าจะสนุกกับการเรียนรู้ร่วมกับเราน่าจะเป็นคนที่สนใจเรื่องการเรียนรู้ในบริบทต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีอาชีพครู อาจารย์ หรือบุคลากรทางการศึกษาก็ได้ แต่เป็นคนที่อาจจะทำงานเกี่ยวกับการพัฒนามนุษย์ในบริบทต่าง ๆ และเป็นคนที่เปิดรับการเรียนรู้แบบสหวิทยาการ (หรือแบบข้ามศาสตร์) เพราะในรายวิชาหนึ่ง จะได้เรียนกับทีมอาจารย์ที่แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ที่แตกต่างกัน และจะชวนผู้เรียนมองว่าในประเด็นหนึ่ง เราจะสามารถใช้ชุดความรู้ใดบ้างที่จะมาอธิบายปรากฏการณ์นั้นได้ นักศึกษาอาจจะได้เรียนอะไรที่ตัวเองมีความรู้ความเข้าใจน้อย แต่มั่นใจว่าด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นความเชื่อมโยงระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติจะทำให้เกิดความเข้าใจและประยุกต์ใช้ในการทำงานวิจัยและการทำงานได้

บ่มเพาะ “นักวิทยาการเรียนรู้” สายพันธุ์ไฮบริด

        อีกหนึ่งเป้าหมายของหลักสูตรคือการบ่มเพาะ “นักวิทยาการเรียนรู้” สายพันธุ์ไฮบริด คือ คนที่ผสมผสานความเป็นนักวิจัยและนักปฏิบัติอย่างลงตัว นั่นคือ ถ้ามองว่าตนเองเป็นนักวิจัย หรือนักวิชาการ ก็ต้องลงมือปฏิบัติได้ เชื่อมโยงกับสังคมได้ หรือถ้ามองว่าเป็นนักปฏิบัติ ก็ต้องมีองค์ความรู้และกระบวนการทำงานที่มีพื้นฐานจากการวิจัยและการคิดอย่างเป็นระบบ ดังนั้นหลักสูตรเราจะไม่มุ่งเน้นไปที่ความเป็นวิชาการหรือการทำงานวิจัยของตนเองเพียงอย่างเดียว แต่เราจะชวนนักศึกษาออกไปเจอโลกจริง ๆ แล้วจะชวนตั้งคำถามว่าเราเห็นอะไรบ้าง รู้สึกอย่างไรบ้าง และทำอะไรได้บ้าง โดยใช้องค์ความรู้ที่ได้จากรายวิชาต่าง ๆ มาเป็นฐานในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ และเสนอแนะแนวทางที่เป็นไปได้ตามบริบทพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งเมื่อนักศึกษาได้เรียนรู้มุมมองและวิธีคิดจากหลากหลายศาสตร์ก็จะสามารถเลือกหยิบใช้เลนส์ในการมองที่เหมาะสมกับบริบทนั้น ๆ ได้

        การเรียนปริญญาเอกในหลักสูตรนี้เราเน้นไปที่การให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการทำงานวิจัยของคณะร่วมกับอาจารย์ ดังนั้น นักศึกษาอาจจะรู้สึกเหมือนได้เปลี่ยนที่ทำงานใหม่ ได้ทำโครงการกับอาจารย์ซึ่งส่วนใหญ่เราทำงานขับเคลื่อนการเรียนรู้ที่ต้องลงไปทำงานกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ทำงานกับผู้คนในพื้นที่ ซึ่งเป็นเหตุผลที่หลักสูตรปริญญาเอกของเราเป็นหลักสูตรเต็มเวลา เรามองว่าการเรียนปริญญาเอกจะไม่ใช่แค่การเรียน Coursework จบแล้วก็ไปทำงานวิจัยของตนเองเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการบ่มเพาะนักวิทยาการเรียนรู้ที่มีความเชี่ยวชาญทั้งงานเชิงวิชาการและงานเชิงปฏิบัติ

        “คำว่า ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง หรือ Change Agent เป็นภาพฝันที่เรามีเมื่อพูดถึงบัณฑิตที่จบจากหลักสูตรปริญญาเอก หลักสูตรจึงใช้คำนี้เป็นหมุดหมายในการออกแบบและร้อยเรียงรายวิชาและชุดประสบการณ์ที่นักศึกษาจะได้รับจากหลักสูตร”

PACE สมรรถนะหลัก 4 ด้าน ของบัณฑิตหลักสูตรปริญญาเอก

        ถ้ามองในเชิง Concept หลักสูตรเรามีสมรรถนะหลัก 4 ด้านด้วยกัน ซึ่งเราใช้ตัวย่อว่า PACE แต่ละตัวอักษรมีความหมายสื่อถึงสมมรถนะที่เป็นเป้าหมาย ได้แก่

        P/ Practice หมายถึง ความสามารถในการประยุกต์ทฤษฎีจากศาสตร์ต่าง ๆ หลากหลายแขนง เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของมนุษย์และใช้องค์ความรู้นั้นในทางปฏิบัติได้

        A/ Analyze หมายถึง ความสามารถในการวิเคราะห์และใช้ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ และสามารถนำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์ วิพากษ์ และตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

        C/ Create หมายถึง ความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมรูปแบบต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ผ่านการประยุกต์ใช้ความรู้เชิงทฤษฎีจากศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของมนุษย์ โดยตระหนักถึงความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์

        E/ Empower หมายถึง ความสามารถในการออกแบบและนำการเปลี่ยนแปลง ผ่านการตระหนักรู้ในตนเอง รวมถึงสามารถสนับสนุนการเรียนรู้ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในระดับบุคคลและระดับสังคมได้

รายวิชา (Coursework) ของหลักสูตร

ครบทั้งความรู้ ทักษะวิชาการ และการปฏิบัติ

        หลักสูตรใช้ PACE เป็นกรอบในการออกแบบรายวิชา (Coursework) ที่นักศึกษาจะได้เรียนทั้งหมด 11 รายวิชา เพื่อเตรียมความพร้อมนักศึกษาทั้งในด้านความรู้และทักษะทางวิชาการและการปฏิบัติ ก่อนที่จะทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งประกอบไปด้วยชุดรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของมนุษย์จากหลากหลายศาสตร์ การนำและการสร้างการเปลี่ยนแปลง การออกแบบและผลิตนวัตกรรมการเรียนรู้ และองค์ความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและการวิจัย

        จะเห็นได้ว่า PACE เป็นสมรรถนะที่ให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยงระหว่างความรู้เชิงทฤษฎีและการนำไปปฏิบัติ นักศึกษาจะถูกท้าทายให้นำความรู้และทักษะเชิงวิชาการที่ได้รับจาก Coursework ไปประยุกต์ใช้กับโจทย์ที่ตนเองได้รับ เช่น เมื่อได้ลงทำงานในพื้นที่ปฏิบัติการ นักศึกษาจะสามารถนำองค์ความรู้จากด้านต่าง ๆ มาอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างไรบ้างทั้งในมิติวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ จะใช้ข้อมูลที่ได้รับในการวิเคราะห์สภาพการณ์ และนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาในเชิงปฏิบัติได้อย่างไร เห็นบทบาทของตนเองในฐานะ Change Agent กับโจทย์ที่ได้รับอย่างไร เป็นต้น ในช่วงแรกประเด็นเหล่านี้อาจจะเกิดจากการถามของอาจารย์ แต่เมื่อนักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติบ่อย ๆ และได้สะท้อนคิดอย่างต่อเนื่องก็จะเกิดการตระหนักรู้บทบาทอย่างเป็นธรรมชาติ

        “ในรายวิชา วรร.701 วิธีการเรียนรู้ทางสังคมและวัฒนธรรม เราจะมองการเรียนรู้ผ่านทางมิติของมานุษยวิทยาและสังคมศาสตร์ ด้วยความเฉพาะของการมองตามศาสตร์เหล่านี้ จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถมองเห็นความเป็นมนุษย์ที่ลุ่มลึกขึ้น”

1. วิชา วรร.701 วิธีการเรียนรู้ทางสังคมและวัฒนธรรม

        การมีความเข้าใจในเรื่องการสร้างสรรค์และกำหนดคุณค่าสิ่งต่าง ๆ รอบตัวของมนุษย์ จะช่วยทำให้เห็นอิทธิพลของโครงสร้างทางสังคมที่เรามองไม่เห็นแต่กลับส่งผลต่อการเรียนรู้ของมนุษย์เป็นอย่างมาก

        ดร.นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล (อ.นอตติ) เล่าถึงรายวิชา วรร.701 วิธีการเรียนรู้ทางสังคมและวัฒนธรรม ว่า น่าจะเป็นรายวิชาที่ช่วยทำให้ผู้เรียนมองเห็นการเรียนรู้จากหน่วยที่เล็กที่สุด อย่าง “มนุษย์” ไปจนถึงเครือข่ายสายสัมพันธ์ระดับใหญ่ที่สุด อย่าง “สังคม” ของนานาประเทศ อีกทั้ง อาจารย์ผู้สอน เป็นผู้มีความชำนาญและมีประสบการณ์ในการลงพื้นที่ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ผู้เรียนได้สัมผัสวัฒนธรรมที่หลากหลายมากขึ้น

        วรร.701 ให้ความสนใจไปที่การประยุกต์ใช้ทฤษฎีทางมานุษยวิทยาและสังคมศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจมนุษย์และสังคม ผ่านการเรียนรู้ทฤษฎีต่าง ๆ ที่จะนำพาให้ผู้เรียนเข้าใจถึงความหลากหลายของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมที่ไม่เคยหยุดนิ่ง รวมไปถึงมองเห็นว่าโลกแห่งความเป็นจริงยังคงมีปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนเกิดขึ้น มุมมองเหล่านี้น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้นักศึกษาของหลักสูตรฯ กลายเป็นผู้ที่สามารถนำความรู้ทางทฤษฎีของตนเองมาปรับใช้และเปลี่ยนแปลงสังคมในเชิงปฏิบัติได้ดีขึ้น

        หนึ่งในจุดเด่นของหลักสูตรฯ คือ การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เดินทางไปยังพื้นที่ชุมชน เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่จริง โครงสร้างทางสังคมของชุมชน คุณค่าที่คนในชุมชนมีร่วมกัน โดยบทบาทของรายวิชา วรร.701 นี้ จะเป็นการสนับสนุนให้ผู้เรียนได้ลองใช้ทฤษฎี แนวคิด หรือมุมมองทางมานุษยวิทยาและสังคมศาสตร์ ในการทำความเข้าใจพื้นที่ที่พวกเขาได้มาสัมผัส กระบวนการเรียนรู้ในรายวิชายังเปิดโอกาสในการพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อจำกัดหรือช่องว่างในการนำแนวคิด ทฤษฎีไปใช้งานในพื้นที่จริง องค์ประกอบใดบ้างที่จะช่วยให้นำเครื่องมือเหล่านี้มาปรับใช้ในพื้นที่จริงได้ดีขึ้น 

        รวมถึง ในชั้นเรียนของเราจะมีอาจารย์ที่คอยช่วยให้คำแนะนำ หรือแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับบทบาทของผู้ที่จะทำงานด้านการเรียนรู้ ว่าควรจะคำนึงถึงมิติทางสังคมอะไร และทำความเข้าใจพื้นที่นั้นอย่างไร เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีความเฉพาะและแตกต่างกัน ดังนั้น การตระหนักในประเด็นเหล่านี้จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้ที่ทำงานด้านการเรียนรู้สามารถทำหน้าที่ของตนเองให้บรรลุตามเป้าหมายได้

        “วิชาสมอง จิต กาย และการเรียนรู้ มีบทบาทในหลักสูตรนี้ในเรื่องการชวนมองปรากฎการณ์ต่าง ๆ ด้านการเรียนรู้ในสังคม โดยใช้เลนส์ด้านวิทยาศาสตร์และจิตวิทยา เป็นวิชาที่ชวนละเมียดละไมสถานการณ์ทางสังคมโดยทำความเข้าใจผ่านข้อค้นพบของนักประสาทวิทยาศาสตร์และนักจิตวิทยา”

2. วิชา วรร.702 สมอง จิต กาย และการเรียนรู้

        ผศ.ดร.อัครา เมธาสุข (อ.นอร์ท) เล่าถึงรายวิชา วรร.702 สมอง จิต กาย และการเรียนรู้ ว่า เนื้อหาที่เรียนจะมีการปูพื้นฐานกันก่อนว่าหลักคิดแบบประสาทวิทยาศาสตร์และจิตวิทยามีที่มาที่ไปอย่างไร ประสาทวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาที่คนทั่วไปรู้จักเป็นอย่างไร ข้อเท็จจริงเหล่านั้นเป็นจริงหรือไม่ ถ้าพูดถึงการเรียนรู้ในมุมมองประสาทวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาเราจะศึกษาหรือทำวิจัยด้านการเรียนรู้กันด้วยวิธีใดได้บ้าง และเราจะชวนไปมองแต่ละประเด็นที่ความรู้เหล่านั้นถูกนำใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์เกี่ยวกับการเรียนรู้ ตั้งแต่เรื่องสติปัญญา การรู้คิด ความทรงจำ อารมณ์ การเข้าใจตนเอง มายาคติ หรือความเข้าใจผิดต่าง ๆ เกี่ยวกับสมอง แล้วเสริมด้วยการเรียนรู้แบบองค์รวม ซึ่งผสานการทำความเข้าใจทางสังคมเข้ากับการจัดการสิ่งที่อยู่ในร่างกาย เพื่อให้มนุษย์คนหนึ่งสามารถนำพาการเรียนรู้ของตนเองไปได้ไกลสุดขอบเท่าที่จะเป็นได้

        การทำความเข้าใจปรากฏการณ์ในสังคมหลายครั้งเป็นการพยายามจะเข้าไปแก้ที่เรื่องระบบการจัดการหรือความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอย่างเดียว สุดท้ายปัญหานั้นก็ไม่ได้ถูกคลี่คลาย เช่นเดียวกับการวิจัย คือหากมองด้านเดียวหรือหาทางออกเพียงด้านเดียวย่อมไม่เพียงพอ บางครั้งปัญหามาจากเรื่องร่างกาย จิตใจ หรือลงไปที่ระดับเหตุการณ์ในสมอง  ก็ต้องแก้ให้ตรงจุดและศึกษาให้ตรงจุด วิชานี้ไม่ได้บอกว่าต้องแก้ที่สมอง แต่ให้มีสายตาที่มองเห็นได้มากขึ้นว่ามีปัจจัยต่าง ๆ ที่สามารถส่งผลกระทบถึงกันได้ เชื่อมโยงความสัมพันธ์ตั้งแต่ระดับอวัยวะและระดับบุคคล ไปจนถึงระดับสังคม ให้เห็นว่าเรื่องเหล่านี้มีความละเอียดอ่อนในด้านการทำงานของสมอง จิตใจ และร่างกายที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทางสังคมอย่างไรบ้าง

        วิชานี้เน้นหนักในด้าน A - Analyze คือให้สามารถใช้ข้อค้นพบทางประสาทวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาในการวิเคราะห์เหตุการณ์ด้านการเรียนรู้ในสังคมได้ ในขณะเดียวกันถ้าผู้เรียนมีฐานในด้านการเป็นนักปฏิบัติอยู่แล้ว เราก็มั่นใจว่าจะสามารถตอบโจทย์เรื่อง P - Practice หรือการนำทฤษฎีและข้อค้นพบทางประสาทวิทยาศาสตร์และจิตวิทยามาใช้ในการหาทางออกของปัญหาและสนับสนุนการเรียนรู้ในระดับบุคคลหรือในระดับสังคมได้

        อ.นอร์ท ยังเล่าอีกว่า วิชานี้ออกนอกสถานที่กันบ่อยมาก ๆ นับจำนวนครั้งที่ผู้เรียนต้องมาเรียนที่อาคารของคณะยังน้อยกว่าเลย เพราะการเรียนรู้ของวิชานี้ต้องมีการสังเกตร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ของตนเอง ซึ่งการได้พบกับประสบการณ์ตรงจะมีพลังที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านนี้ได้มากกว่า ครั้งหนึ่งเราพาผู้เรียนไปเรียนกันที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ก็ได้เห็นมุมมองว่าคนไทยมองความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นอย่างไร มีอะไรที่ขาดหายไปในความเข้าใจบ้าง มันไม่ใช่แค่การเข้าไปเรียนรู้ว่า “วิทยาศาสตร์มีเรื่องอะไรที่คิดว่าน่าสนใจ” แต่การไปเรียนในที่ที่สามารถสังเกตสิ่งแวดล้อมและคนในสถานที่จริงจะทำให้เราได้เห็นพฤติกรรมของคนกลุ่มต่าง ๆ ที่มีต่อความรู้ ได้เห็นของจริงว่าระบบการจัดการความรู้ที่มีอยู่เป็นอย่างไร ได้วกกลับมาเห็นความคิดของตัวเองว่าเราเชื่ออะไร คิดอะไร ทำอะไร เราคุยกันไปถึงเรื่องการจัดการของรัฐและการจัดสรรงบประมาณด้านการเรียนรู้ด้วย เรื่องเหล่านี้ขึ้นอยู่กับผู้เรียนเลยว่าเขามองเห็นอะไร อาจารย์ก็จะช่วยขยายประเด็นหรือพาลงรายละเอียดในเรื่องที่ผู้เรียนสนใจได้อีก วิชานี้เน้นพาไปพบกับประสบการณ์แล้วเราก็เอาประสบการณ์มาคุยกัน ดังนั้นประสบการณ์ของผู้เรียนจึงสำคัญมาก บทสนทนาในแต่ละครั้งจึงอาจจะวนกลับมาเรื่องเดิมหรือเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยได้เปิดใจคุยที่ไหนมาก่อน เรื่องราวต้นทางที่ใช้คุยในวิชานี้จึงมักเริ่มจากผู้เรียนที่เป็นคนเปิดประเด็น แล้วอาจารย์ก็คอยพาเนื้อหาต่าง ๆ ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับการทำงานของสมอง การทำงานของร่างกาย และการทำงานของจิตใจ ได้ค่อย ๆ ทยอยเผยตัวออกมาตามเวลาที่เหมาะสม แต่การเรียนรู้และเนื้อหาจำนวนมากก็ไม่ได้มาจากอาจารย์ฝ่ายเดียว ผู้เรียนแต่ละคนจะมีงานวิจัยที่ตัวเองเคยอ่านและที่ตัวเองสนใจมาเล่าสู่กันฟังด้วย ซึ่งก็จะช่วยให้เขาค่อย ๆ ซึมซับความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีวิจัยไปพร้อมกับการได้เห็นว่าความรู้ในงานวิจัยสามารถเชื่อมโยงเข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในโลกรอบตัวอย่างไรบ้าง

        “วิชานี้เป็นวิชาที่จะช่วยขยายความให้เห็นมิติของเทคโนโลยีและนวัตกรรมว่าคืออะไร ทั้งนิยาม องค์ประกอบ การเกิดขึ้น การคงอยู่ และการหายไปของนวัตกรรมหรือเทคโนโลยี”

3. วิชา วรร.711 นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเรียนรู้

        หลายคนจะตีความว่าเทคโนโลยีคืออะไรก็ตามที่เสียบปลั๊ก ใช้ไฟฟ้า หรือเป็นพวกที่ต้องต่ออินเทอร์เน็ต ส่วนนั้นก็ไม่ได้ผิดทั้งหมด แต่จริง ๆ นวัตกรรมและเทคโนโลยีมันกว้างกว่านั้น

        ผศ.ดร. เสมอกาญจน์ โสภณหิรัญรักษ์ (อ.ตูน) เล่าถึงรายวิชา วรร.711 นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเรียนรู้ ว่า เรามีแนวคิดที่อยากให้ผู้เรียนมีมุมมองต่อเรื่องเทคโนโลยีที่ลึกขึ้น ให้เห็นว่านวัตกรรมสามารถเป็นไปได้หมด ทั้งกระบวนการและสิ่งของ ดังนั้นเนื้อหาในรายวิชาจึงมีทั้งทำความเข้าใจความหมาย องค์ประกอบของนวัตกรรมและเทคโนโลยี ผ่านการให้คำนิยามของนักวิชาการ งานวิจัย กระบวนการปรับใช้ในการพัฒนาการเรียนรู้ รวมทั้งกรณีศึกษาในปัจุบัน

        การทำความเข้าใจมุมมองด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเรียนรู้ ถือเป็นพื้นฐานที่จะประยุกต์เอาความรู้เรื่องอื่น ๆ มาพัฒนาการเรียนรู้ในฐานะของนวัตกรการเรียนรู้หรือคนที่จะไปขับเคลื่อนด้านการเรียนรู้ในอนาคต หากเราไม่เข้าใจว่านวัตกรรมคืออะไร เทคโนโลยีคืออะไร เราอาจหยิบจับหลายอย่างมาผสมหรือคลุกใช้ แทนที่จะแก้ปัญหา อาจจะสร้างปัญหาให้มากขึ้น กลายเป็นปมเชือกที่ของเก่ายังไม่แก้ ไปมัดของใหม่เพิ่มเข้าไป ดังนั้นเมื่อเราเข้าใจว่านวัตกรรมคืออะไร มีกระบวนการนำมาปรับใช้อย่างไรบ้าง เราจะสามารถเลือกหรือสร้างนวัตกรรมที่ช่วยตอบโจทย์และแก้ปัญหาได้จริง เพราะการใช้หรือสร้างนวัตกรรมไม่ได้เกิดจากการสร้างด้วยความอยากสร้าง อยากใช้ เห็นว่าสวย เห็นว่าของมันใหม่ แต่ต้องมาจากการที่เห็นปัญหา วิเคราะห์รากฐานของปัญหา วิเคราะห์สิ่งที่มาสนับสนุนได้ว่าตอบโจทย์หรือไม่ แล้วมาปรับให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย บริบทแวดล้อม และเนื้อหานั้นอีกครั้ง นั่นแปลว่านวัตกรรมที่สร้างสรรค์ออกมาแต่ละครั้งอาจแตกต่างกัน

        วิชา วรร.711 นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเรียนรู้ จึงให้นักศึกษาได้ศึกษาค้นคว้าองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ทั้งทางวิชาการและกระแส (Trends) ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ในเชิงกระบวนการ (Strategies) และสื่อใหม่ (New Media) ประกอบกับการให้ความรู้พื้นฐานทางจิตวิทยา ทั้งพฤติกรรมนิยมและปัญญานิยม เพื่อเข้าใจมนุษย์ การทำความเข้าใจ แรงจูงใจ การเสริมแรง ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จะปรับสื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายที่ลงไปทำงานด้วย

        ทักษะที่เราสร้างให้กับผู้เรียนภายใต้รายวิชานี้ มีทั้ง 1) ความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ (Media and Information Literacy) เพื่อให้การเข้าถึงข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ที่ถูกต้อง มีหลักฐานมาสนับสนุนแนวคิดหรือกระบวนการที่สร้างใหม่ 2) ความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) เพื่อริเริ่มกระบวนการหรือสื่อที่ตอบโจทย์ 3) ความสามารถในการเผยแพร่นวัตกรรม ซึ่งรวมเนื้อหา คุณลักษณะของนวัตกรรม องค์ประกอบที่ส่งผลให้คนยอมรับนวัตกรรม และ 4) ความเข้าใจเรื่องรูปแบบการสร้างสรรค์นวัตกรรม ทั้งโมเดลขั้นตอน ADDIE หรือ Design Thinking ซึ่งรูปแบบการสร้างสรรค์ดังกล่าวนี้ จะเน้นให้นักศึกษาได้ฝึกทำจากโจทย์จริงที่อยากพัฒนานวัตกรรม ได้ฝึกคิดวิเคราะห์ สำรวจที่มาของปัญหา จากการสืบค้นข้อมูลทุติยภูมิ และรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิ รวมทั้งการสังเคราะห์ข้อเท็จจริงที่ได้มาเป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ด้วย

        จากการเรียนรู้ทั้งรายวิชาและสังเคราะห์ความรู้ทั้งหมดจนสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมของรายวิชาได้นั้น ผลผลิตแรกของรายวิชา คือ การประยุกต์เอา Metaverse ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นและได้รับการพูดถึงตลอดปี 2022 มาใช้เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ทางวิชาชีพวิทยาศาสตร์ การสร้างสรรค์ไอเดียเชิงนวัตกรรมนี้ขึ้นมาได้นั้น เกิดจากการที่นักศึกษาได้เรียนรู้แนวคิด ทฤษฎี ลองเข้าไปสัมผัสกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ รวมทั้งร่วมกันวิเคราะห์วิพากษ์งานวิจัยหรืองานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนั้น ๆ ทั้งพื้นฐานจิตวิทยา การเสริมแรง พัฒนาการของมนุษย์ เทคโนโลยีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน อย่างบทเรียนออนไลน์แบบเปิด (MOOCs) หรือนวัตกรรมในขณะนั้นคือ Metaverse เมื่อได้สัมผัสและเข้าใจจริง ๆ แล้วว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ทำงานอย่างไร มีคุณประโยชน์หรือข้อบกพร่องอะไร ผนวกกับองค์ความรู้ความเข้าใจพื้นฐานทางด้านจิตวิทยาและพัฒนาการของมนุษย์ที่เรียนรู้ในรายวิชานี้และจากรายวิชาแวดล้อม จึงสรรค์สร้างเป็นไอเดียที่จะเอานวัตกรรมมาช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของมนุษย์ต่อไป

        “ เรียนรู้ด้วยหัวใจ ปฏิบัติด้วยปัญญา” อาจเป็นวลีที่ดูจะสอดรับกับวิชานี้ ที่เป็นเสมือนตัวเชื่อมร้อยทฤษฎี ประสบการณ์ ทักษะ องค์ความรู้ของผู้เรียน สู่การปฏิบัติจริง” 

4. วิชา วรร.741 และ 742 การฝึกปฏิบัติภาคสนาม 1 และ 2

        รศ.ดร. ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล (อ.แต้ว) เล่าถึงรายวิชา วรร.741 และ 742 การฝึกปฏิบัติภาคสนาม 1 และ 2 ว่า การทำงานภาคสนามจริง ได้เห็นชีวิตมนุษย์จริง ๆ จะช่วยลดภาพการเป็นนักวิชาการที่นั่งอยู่บนหอคอย มองดูความเป็นไปจากข้างบน สู่การเป็นนักวิชาการเพื่อรับใช้สังคม ที่เห็นความเป็นไปของสังคม เข้าใจความเป็นมนุษย์ที่มีความแตกต่างหลากหลาย อันเป็นรากฐานของการพัฒนาการเรียนรู้ การศึกษา และสังคมต่อไป

        เนื่องด้วยหลักสูตร ป.เอก ของคณะฯ มุ่งสร้าง Academic Change Agent ที่ประกอบด้วยสมรรถนะ

        P - Practice ความสามารถในการนำทฤษฎีมาปรับใช้ในเชิงปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่ทางออก ความเข้าใจ หรือคำอธิบายที่สามารถใช้ได้จริง

        A - Analyze ความสามารถในการวิเคราะห์ พิจารณา และใช้ข้อมูลในเชิงปริมาณและคุณภาพ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

        C - Create ความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมหรือกระบวนการการเรียนรู้เพื่อตอบโจทย์สังคมที่หลากหลาย

        E- Empower ความสามารถในการเข้าใจและเปลี่ยนแปลงภายในตนเอง เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนกลุ่มคนในวงกว้าง

        กระบวนการหนึ่งที่เรามองว่าจำเป็นในการสร้าง Academic Change Agent ที่มีสมรรถนะ PACE ข้างต้น คือ การสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ของนักศึกษาปริญญาเอก ให้เป็นเสมือนเพื่อนร่วมงานของอาจารย์ประจำคณะ ซึ่งบทบาทหนึ่งของอาจารย์ คือการทำโครงการขับเคลื่อนสังคมภายใต้เป้าหมายของคณะ ภายใต้การทำงานร่วมกันนี้จะช่วยบ่มเพาะสมรรถนะทั้ง 4 ด้าน อย่างผสมผสานออกมาเป็นเนื้อเดียวกัน ภายใต้วิชานี้ มีบทบาทหลัก 2 ส่วน คือ

        1) ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ด้วยการลงพื้นที่ภาคสนาม / พื้นที่ปฏิบัติการเรียนรู้ ร่วมกับนักศึกษาภายใต้การดำเนินงานของหลักสูตรอื่น ๆ ในคณะ

        2) ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ด้วยการลงพื้นที่ปฏิบัติงาน ร่วมดำเนินโครงการฯ กับอาจารย์ประจำคณะ

        บทบาททั้ง 2 ส่วน ในแต่ละเทอมจะแตกต่างกันไป โดยในเทอม 1 น้ำหนักจะเน้นที่การให้ผู้เรียนได้ลงไปเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ด้วยการลงพื้นที่ภาคสนาม พื้นที่ปฏิบัติการเรียนรู้ ร่วมกับนักศึกษาภายใต้การดำเนินงานของหลักสูตรปริญญาตรี (ภาคสนาม 7 วัน) และปริญญาโท (ภาคสนาม 4 วัน) และเชื่อมโยงทฤษฎีที่เรียนในวิชาอื่น ๆ มาใช้ในการถอดบทเรียนและสะท้อนการเรียนรู้

        ในขณะที่ เทอม 2 ผู้เรียนจะเริ่มเข้าสู่การทำงานภายใต้โครงการขับเคลื่อนสังคม ร่วมกับอาจารย์ประจำคณะ น้ำหนักจึงอยู่ที่การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ด้วยการลงพื้นที่ปฏิบัติงาน ร่วมดำเนินโครงการฯ กับอาจารย์ประจำคณะเป็นหลัก สำหรับปีการศึกษาที่ผ่านมา โครงการที่นักศึกษาปริญญาเอกมีบทบาทเป็นผู้ช่วยวิจัย คือ โครงการ “ห้องเรียนวัฒนธรรม” ที่เป็นโครงการขับเคลื่อนสังคมของคณะ โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

        ภายใต้รายวิชานี้ ในท้ายเทอมของทั้ง 2 เทอม ผู้เรียนจะต้องประมวลทั้งองค์ความรู้และประสบการณ์ สังเคราะห์เป็นบทความวิชาการ 1 เรื่อง เพื่อเตรียมพร้อมเผยแพร่สู่สังคมต่อไป

        “รายวิชานี้เน้นให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์ตรงกับการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับการได้ถอยออกมามองสะท้อนกระบวนการเรียนรู้ของตนเอง”

5. วิชา วรร.721 การโค้ชและการจัดกระบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลง

        ผศ.ดร. ปวีณา แช่มช้อย (อ.จ๊อย) เล่าถึงรายวิชา วรร.721 การโค้ชและการจัดกระบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลง ว่า วิชานี้เป็นวิชาที่ชวนผู้เรียนทำความเข้าใจในเชิงลึกเกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์ในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น มิติทางด้านประสบการณ์ทางกาย การคิด อารมณ์ความรู้สึก ตลอดจนมิติด้านสังคมและจิตวิญญาณ  เพื่อให้สามารถเห็นความเชื่อมโยงของทฤษฎีจากศาสตร์ในแขนงต่าง ๆ ว่ามีความเชื่อมโยงอย่างไรกับกระบวนการที่ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกโดยเน้นให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ตรงกับการเรียนรู้เครื่องมือสองชนิด ซึ่งสามารถใช้ในสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับ

        บุคคล ระดับกลุ่ม ชุมชนและสังคม คือ การออกแบบและการจัดกระบวนการเรียนรู้ (Learning Facilitation) และทักษะการโค้ช (Coaching Skills)  ไปพร้อม ๆ กับการได้ถอยออกมามองสะท้อนกระบวนการเรียนรู้ของตนเอง ถอดรหัสจากประสบการณ์จนสามารถสังเคราะห์องค์ความรู้ใหม่มาทดลองประยุกต์ใช้

        ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เรียนได้มีทั้งคุณสมบัติของการเป็น “นักปฏิบัติ” และ “นักวิชาการ” ที่สามารถสร้างการเรียนรู้ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง โดยใช้สิ่งที่อยู่ภายในเนื้อตัวของตนเองคือ ปัญญาภายใน ธรรมชาติความเป็นมนุษย์ ความเข้าอกเข้าใจ ความสนใจใคร่รู้ ความไว้วางใจในศักยภาพของตนเองและผู้อื่น มาผสานกับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดทฤษฎีสหวิทยาการที่อยู่เบื้องหลังกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนได้เป็นผู้สร้างการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลง ที่มีความรอบด้าน มีทักษะปฏิบัติ มีความรู้ที่ลึกซึ้ง เข้าใจตนเองและบริบทรอบตัว

        หากพิจาณาจากสมรรถนะของหลักสูตร (PACE) จะพบว่า การเรียนการสอนในวิชานี้ตอบโจทย์ในทุกตัวอักษร ไม่ว่าจะเป็นการพยายามเชื่อมร้อยทฤษฎีให้มาอยู่ในเนื้อในตัวไม่แยกออกจากการปฏิบัติ การกระตุ้นให้มีการคิด ประมวล วิเคราะห์ ใช้ข้อมูลในการออกแบบและสร้างกระบวนการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลง การสร้างสรรค์เพื่อตอบโจทย์สังคมที่หลากหลาย และการขับเคลื่อนผ่านการเสริมพลังภายใน โดยเฉพาะ C - Creating ที่ช่วยให้ผู้เรียนได้ใช้ความสร้างสรรค์ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกได้ โดยที่มีฐานบนความเข้าใจมนุษย์ ทั้งคุณภาพภายในและบริบทแวดล้อม ซึ่งลักษณะการเรียนการสอนของวิชานี้ เน้นที่การเรียนรู้ในมิติความเป็นมนุษย์ของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นมิติด้านอารมณ์ความรู้สึก มิติด้านความคิดและสติปัญญา มิติด้านสภาพแวดล้อมสังคมวัฒนธรรม ทำให้ผู้เรียนมองเห็นทรัพยากรภายในของผู้คนที่เข้าไปเรียนรู้ด้วย และเกิดการสะท้อนกลับมาที่การมองทรัพยากรภายในของตนเอง ว่าจะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไรบ้าง ด้วยลักษณะเช่นนี้ การเรียนการสอนที่ชวนให้ใคร่ครวญสะท้อนคิดอยู่เสมอ จะมีส่วนให้ผู้เรียนมีความตระหนักรู้ เข้าใจตนเอง จนเกิดการเสริมพลัง (E - Empower) ให้สร้างการเปลี่ยนแปลงในตนเองและผู้อื่นได้

        วิชานี้ให้ความใส่ใจกับการเรียนรู้ในลักษณะองค์รวม คือทั้งด้านคุณภาพภายใน (Being) ด้านการลงมือปฏิบัติ (Practice) และ ด้านความรู้ (Knowledge) กระบวนการเรียนรู้ในวิชานี้จึงหลากหลายมาก ทั้งฝึกปฏิบัติ ทั้งพูดคุยอภิปรายกับเพื่อนร่วมชั้นและผู้สอน ทั้งใคร่ครวญสะท้อนคิดแลกเปลี่ยนในชั้นเรียนและในงานเขียน ผู้เรียนจะไม่ได้อยู่เฉย ๆ จะได้ทั้งขยับร่างกาย ถูกกระตุ้นให้คิด ให้ตั้งคำถาม ให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่น ปัญญาหรือความรู้ที่ได้จากการเรียนวิชานี้ จึงไม่ได้มาจากผู้สอนหรือในตำราเป็นหลัก แต่จะงอกงามเติบโตผ่านกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าว

        ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนไม่ใช่แค่เพียงเป็นนักวิชาการหรือนักปฏิบัติเพียงอย่างเดียว แต่ให้ฝึกวางใจในศักยภาพของมนุษย์ทั้งในตนเองและผู้อื่น ซึ่งถือเป็นหัวใจของการทำงานสร้างการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงได้เห็นพลังการเรียนรู้จากปัญญาร่วมที่มาจากผู้คนที่แวดล้อมอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ การได้ฝึกฝนผ่านการลงมือทั้งในชั้นเรียนและการเก็บชั่วโมงปฏิบัติ ช่วยให้ผู้เรียนได้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ว่าการสร้างการเปลี่ยนแปลงสามารถทำได้อย่างไรบ้าง นอกจากประสบการณ์เชิงปฏิบัติ วิชานี้ยังพาไปเรียนรู้เกี่ยวกับทัศนะและแนวทางปฏิบัติของผู้ที่ทํางานเกี่ยวกับการสร้างความเปลี่ยนแปลงในบริบทต่าง ๆ เช่น กระบวนกร โค้ช ครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้เห็นภาพกว้างและบริบทจริงในสังคม

        “สิ่งที่วิชาวิจัยให้ความสำคัญคือการบ่มเพาะทักษะนักวิจัยที่สามารถสร้างวิจัยที่มีผลกระทบทางสังคม หรือ Impact” 

6.วิชา วรร.731 การวิจัยทางวิทยาการเรียนรู้

        ผศ.ภญ.ดร. ฝน นิลเขต (อ.ฝน) เล่าถึงรายวิชา วรร.731 การวิจัยทางวิทยาการเรียนรู้ ว่า เป็นวิชาที่บ่มเพาะทักษะนักวิจัยให้กับผู้เรียน เนื้อหาในวิชาเกี่ยวข้องกับแนวคิด ทฤษฎีในการทำวิจัย กระตุ้นให้ผู้เรียนสามารถออกแบบวิธีการวิจัยด้วยตนเองเพื่อทำความเข้าใจโจทย์ปัญหาที่หลากหลายในสังคม ทักษะที่วิชาวิจัยให้ความสำคัญได้แก่การวิเคราะห์ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ (Data Analysis) เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่ศึกษา ผู้เรียนสามารถประเมินความน่าเชื่อถือของงานวิจัย (Critical Appraisal) เพื่อออกแบบงานวิจัยที่มีคุณภาพ นอกจากทักษะและองค์ความรู้ทางวิชาการ วิชานี้ยังให้ความสำคัญกับการบ่มเพาะจริยธรรมของนักวิจัย ซึ่งเป็นคุณลักษณะพื้นฐานของการเป็นนักวิจัยที่มีคุณภาพ

        “การทำวิจัย” นอกจากการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ยังสร้าง Impact ทางสังคม เช่น นำไปสู่การแก้ปัญหา และพัฒนาชุมชนและองค์กร ทักษะที่วิชาวิจัยบ่มเพาะผ่านกระบวนการเรียนรู้ ได้แก่ ทักษะในการทำความเข้าใจปัญหาในเชิงลึก การรวบรวมหลักฐานวิชาการ หรืองานวิจัยก่อนหน้าอย่างเป็นระบบ (Evidence Based Research) สิ่งที่วิชาวิจัยให้ความสำคัญคือการบ่มเพาะทักษะนักวิจัยที่สามารถสร้างวิจัยที่มีผลกระทบทางสังคม หรือ Impact ซึ่งทักษะเหล่านั้นเริ่มตั้งแต่การตั้งคำถาม การแสวงหาคำตอบอย่างมีระบบ ใช้องค์ความรู้เป็นฐานในการทำงาน

        ในการจัดการเรียนการสอน ผู้เรียนมีบทบาทสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ในชั้นเรียน ลักษณะของห้องเรียนวิจัยจะมีอาจารย์ซึ่งมีทั้งอาจารย์ที่ทำงานวิจัยเชิงปริมาณและคุณภาพสอนด้วยกัน เพื่อให้ผู้เรียนได้เห็นมุมมองในการทำวิจัยอย่างหลากหลาย การสอนเป็นลักษณะของ Team Teaching และนักศึกษาเองก็มีบทบาทร่วมกันในการอภิปรายหัวข้อแต่ละสัปดาห์ ผ่านตัวอย่างงานวิจัยที่หลากหลาย ผู้เรียนจะถูกกระตุ้นให้เตรียมตัวมาก่อนเรียน เพื่อสามารถแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกันได้

        “การรวบรวมข้อมูลได้อย่างเหมาะสม จะทำให้สามารถปรับแนวทางการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียนได้ทันท่วงที นำไปสู่การจัดการเรียนรู้ที่ประสบผลสำเร็จ โดยใช้เวลาและทรัพยากรน้อยลง”

7. วิชา วรร.732 การวิเคราะห์การเรียนรู้

        ผศ.ดร. สุรวิทย์ อัสสพันธุ์ (อ.เฮ้าส์) เล่าถึงรายวิชา วรร.732 การวิเคราะห์การเรียนรู้ ว่า ทั้งในภาพรวมและรายบุคคล จริง ๆ แล้วในระหว่างกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ เราสามารถเก็บข้อมูลได้หลากหลายมาก ไม่เฉพาะผลการเรียน แต่รวมไปถึงข้อมูลสำคัญอื่น ๆ เช่น พฤติกรรมผู้เรียน การเลือกและใช้สื่อ ความสนใจ สีหน้าของนักเรียน ฯลฯ ซึ่งหากเรารวบรวมข้อมูลเหล่านี้มาได้อย่างเหมาะสม จะสามารถบอกได้ว่าปัจจัยใดที่ทำให้นักเรียนเรียนได้ดี สื่อชุดไหนใช้ได้ผล กิจกรรมไหนที่เป็นประโยชน์ ซึ่งเป็นข้อมูลสำหรับการออกแบบกิจกรรมต่อไปได้ รวมไปถึงยังสามารถคาดเดาได้ว่าผู้เรียนจะประสบผลสำเร็จในการเรียนหรือไม่ ตั้งแต่ก่อนที่การเรียนรู้จะจบลง ซึ่งทำให้ครูสามารถปรับแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียนได้ทันท่วงที นำไปสู่การจัดการเรียนรู้ที่ประสบผลสำเร็จ โดยใช้เวลาและทรัพยากรน้อยลง

        รายวิชานี้เราศึกษาผ่าน Case Study และการออกแบบแนวการนำระบบ Learning Analytics ให้นักศึกษาไปใช้กับบริบทที่ตัวเองสนใจ ในช่วงแรกอาจจะกล่าวถึงแนวคิด ทฤษฎี และแนวทางปฏิบัติที่เป็นไปได้ ในการเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการพัฒนาการเรียนรู้ รวมถึงจริยธรรมในการเก็บและใช้ข้อมูล ต่อมาจะได้ทำการศึกษาจากกรณีศึกษาที่มีการพัฒนาระบบ Learning Analytics ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ การทำระบบการเรียนรู้แบบปรับเหมาะ (Adaptive Learning) และการนำเสนอสารสนเทศ จากข้อมูลที่รวบรวมมา เช่นการทำ Data Visualization จากนั้นนักศึกษาจะได้ทดลองเข้าไปศึกษาเพื่อสร้างกรอบแนวคิดสำหรับการทำ Learning Analytics ในบริบทที่นักศึกษาสนใจ เช่น โรงเรียน องค์กร MOOC สำนักงาน ฯลฯ

        ดังนั้นนักศึกษาจะได้ฝึกการวิเคราะห์ข้อมูล และสร้างสรรค์ออกแบบกรอบสำหรับการพัฒนานวัตกรรม ที่ขยายการเรียนรู้ของบุคคลให้เต็มศักยภาพของเขาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

___________________________________________________________________________________________________________

มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับการศึกษาไทย 

ผ่านการบ่มเพาะทักษะการเป็นนักขับเคลื่อนการเรียนรู้

📢 หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ประจำปีการศึกษา 2566 แล้ว 

📌กำหนดเปิดรับสมัคร : ตั้งแต่บัดนี้ - 3 กรกฎาคม 2566

🟣อ่านรายละเอียดประกาศรับสมัครได้ทาง Link : https://lsed.tu.ac.th/news-content-26

🟠ดูรายละเอียดหลักสูตรปริญญาเอก ได้ทาง Link : https://lsed.tu.ac.th/phdprogram

📄 ส่งเอกสารสมัครทางออนไลน์ : https://forms.gle/3pRE7j6hgknZX6kn7

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :

- ☎️ เบอร์โทรศัพท์ 02 564 4440-72 ต่อ 6719  หรือ  084 073 0853 

- 📧 อีเมล academic_phd@lsed.tu.ac.th