Loading...

เมื่อการเรียนรู้ขับเคลื่อนด้วย “ความยืดหยุ่น” “ความเป็นมนุษย์” และ “ความเปิดกว้าง”

        หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้ หรือ หลักสูตรปริญญาเอก จากคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหลักสูตรที่มีเป้าหมายชัดเจนในการผลิต และบ่มเพาะ “นักขับเคลื่อนการเรียนรู้” (Academic Change Agent) เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาและการเรียนรู้ของสังคมไทย

        การจัดการศึกษาแบบพหุวิทยาการ ถือเป็นรูปแบบการจัดการศึกษาที่ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงด้านการเรียนรู้ของมนุษย์ โดยทั่วไปหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษามุ่งเน้นการสร้างนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งเมื่ออยู่ในบริบทสังคมจริงแล้วความรู้ที่แยกส่วนออกจากกันอาจทำให้มีข้อจำกัดในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ เนื่องจากมองข้ามความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยและกลไกต่าง ๆ ที่ยึดโยงกันเป็นเครือข่าย โดยเฉพาะในบริบทยุคปัจจุบันที่กระแสโลกาภิวัตน์ทำให้การเปลี่ยนแปลงของสังคมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในวงกว้าง

        หลักสูตรดุษฎีบัณฑิตของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ จึงถูกออกแบบให้เห็นว่าการทำความเข้าใจการเรียนรู้ของมนุษย์ต้องอาศัยศาสตร์หลากหลายแขนงที่ทำงานร่วมกัน โดยที่ผู้เรียนสามารถมองเห็นการเรียนรู้ของมนุษย์จากรอบด้าน ผ่านพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ลงพื้นที่ศึกษาวิจัยตามประเด็นที่ตนสนใจอย่างอิสระ โดยมีคณาจารย์ที่มาจากหลากหลายสาขาวิชา และมีความเชี่ยวชาญที่หลากหลายคอยให้คำปรึกษาและส่งเสริมการเรียนรู้อย่างใกล้ชิด

        วันนี้ LSEd Awesome มีโอกาสได้พูดคุยกับนักศึกษาปริญญาเอกทั้ง 2 ท่าน ได้แก่ คุณอัมพล จรรโลงศิริชัย (อู๊ด) และ คุณชุติมา ชยะตังวัฒนะ (เชอรี่) นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต รุ่น 2 ที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปีการศึกษา รวมทั้งความประทับใจและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อตนเองและสังคม

ทำความรู้จักกับนักศึกษาปริญญาเอกทั้ง 2 ท่าน

        อัมพล จรรโลงศิริชัย หรือ อู๊ด นักศึกษาปริญญาเอก LSEd รุ่น 2 ปัจจุบันประกอบอาชีพนักธุรกิจ ตำแหน่งผู้บริหารในบริษัทแห่งหนึ่ง อู๊ด เล่าว่า ก่อนหน้านี้ได้เข้ามาเรียนหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (ปริญญาโทออนไลน์ มธ.)  และมีโอกาสได้รู้จักกับอาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ (LSEd) ท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของตน หลังจากได้พูดคุยและทำงานร่วมกันก็รู้สึกประทับใจใน ความเป็นมนุษย์ ของอาจารย์ ทั้งความเป็นมิตร การให้เกียรติ และความเข้าอกเข้าใจที่อาจารย์มีต่อนักศึกษา จึงสนใจอยากเข้ามาเรียนที่คณะนี้

        ชุติมา ชยะตังวัฒนะ หรือ เชอรี่ นักศึกษาปริญญาเอก LSEd รุ่น 2 ปัจจุบันประกอบอาชีพสัตวแพทย์ เธอเรียนจบด้านสัตวแพทย์โดยตรงทั้งในปริญญาตรีและปริญญาโท เชอรี่ เล่าว่า ตนเองอยากเรียนต่อปริญญาเอก แต่ยังคงลังเลว่าจะเลือกเรียนอะไร ระหว่างเรียนต่อด้านมะเร็งในสัตว์ หรือ เรียนต่อด้านการศึกษาหรือการเรียนรู้ของมนุษย์ตามความสนใจของตน จนสุดท้ายตัดสินใจเลือกเรียนเกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์ที่นำมาใช้กับ Veterinarian Education (การศึกษาทางสัตวแพทย์) ได้ เพื่อนำมาต่อยอดกับสิ่งที่ตนเรียนมา

เหตุผลที่ทำให้เลือกเรียนปริญญาเอกที่ LSEd

        “จากการหาข้อมูลและพูดคุยกับคนรอบตัวเกี่ยวกับการเรียนปริญญาเอกในไทยแล้ว ส่วนใหญ่พูดถึงการทำงานร่วมกับอาจารย์บางท่านที่อาจทำให้เกิดความไม่สบายใจ เช่น ช่องว่างที่มีระหว่างผู้เรียนและอาจารย์ หรือการที่อาจารย์ไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือการเรียนรู้ของเรามากนัก ดังนั้น สิ่งที่ทำให้เลือกเรียนคณะนี้ เป็นเพราะความเข้าอกเข้าใจของอาจารย์ การที่อาจารย์รับฟังและเปิดพื้นที่ให้เราได้ค้นคว้าตามความสนใจอย่างอิสระ และได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ อีกทั้งชอบวิชาเรียนและรูปแบบการเรียนการสอนของที่นี่” อู๊ด กล่าว

        “จากการที่เราสนใจอยากเรียนเกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์ เราเลยหาข้อมูลจากหลายสถาบัน เห็นว่าส่วนใหญ่เน้นที่ศึกษาศาสตร์เป็นหลัก ทั้งการศึกษาในระบบ หลักสูตรการสอน หรือการประเมินผล จนมาเจอหลักสูตรของ LSEd ที่เน้นเรื่องการเรียนรู้ และชื่อคณะ ‘วิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์’ เป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจของเรามากกว่าคณะศึกษาศาสตร์ทั่วไป รวมถึงได้ดูวิดีทัศน์แนะนำคณะ ทำให้เห็นว่าหลักสูตรเป็นการเรียนรู้แบบสหวิทยาการ ครอบคลุมศาสตร์ด้านการเรียนรู้ของมนุษย์ในหลากหลายบริบท จึงตัดสินใจเลือกเรียนคณะนี้” เชอรี่ กล่าว

หลักสูตรตอบโจทย์เราอย่างไร

        “...ผมได้ใช้ทุกวิชาที่เรียนเลย ทุกเครื่องมือ ทุกทฤษฎีที่อาจายร์สอน ได้นำไปใช้ในการทำงานและใช้ในชีวิตประจำวันทั้งหมดเลย” อู๊ด กล่าวอีกว่า ด้วยความที่ตนเป็นผู้บริหารจึงพยายามทำความเข้าใจในมนุษย์ พยายามหาวิธีการสื่อสารอย่างสันติและตรงไปตรงมา หลักสูตรนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ช่วยให้ได้เรียนรู้การเป็นมนุษย์ที่มีความเข้าอกเข้าใจ ยอมรับความคิดที่แตกต่าง เพื่อพูดคุยสื่อสารกับผู้อื่นอย่างตรงประเด็นและมีเมตตา ซึ่งการมีความเข้าใจต่อเพื่อนมนุษย์นั้นเป็นเรื่องสำคัญในการทำงานบริหาร

        เชอรี่ เล่าว่าการลงพื้นที่ช่วงเทอม 2 เป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนทางความคิดของตน ตลอดเส้นทางการเรียนรู้ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงภายในของตนเอง และสัมผัสได้ว่าตัวตนภายในของเธอเปลี่ยนแปลงและเติบโตขึ้นจากการได้เรียนหลักสูตรนี้ อู๊ด กล่าวเสริมว่าการเดินทางภายในของตนชัดเจนขึ้น รู้สึกว่าตัวตนเติบโตขึ้น ความเข้าใจในตนเองมีสูงขึ้น ลุ่มลึกมากขึ้น

จุดเด่นของหลักสูตร

        เชอรี่ กล่าวว่า การมีเพื่อนร่วมชั้นที่มาจากหลากหลายสายงานและการมีภูมิหลังที่ต่างกัน ทำให้บรรยากาศการเรียนเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ในการอภิปรายหรือพูดคุยประเด็นต่าง ๆ ร่วมกันมักจะทำให้ได้เห็นมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย ทำให้โลกทัศน์ของตนเปิดกว้างขึ้น รวมถึงการที่หลักสูตรนี้บ่มเพาะผู้เรียนให้เป็นนักวิจัยที่ได้เรียนรู้การเป็นมนุษย์ที่มีความเข้าใจตนเองและผู้อื่น จนทำให้เราเติบโตไปอีกขั้น ไม่เพียงแค่การทำวิจัยเท่านั้น และ คำพูดของอาจารย์ท่านหนึ่งที่เคยกล่าวไว้ว่า “เราสามารถหาพื้นที่ของตนเองในคณะนี้ได้ ไม่ว่าเราจะมี Background แบบใด” เป็นประโยคที่แสดงให้เห็นแล้วว่าเราจะเจอพื้นที่ของเราจริง ๆ เพราะอาจารย์แต่ละท่านมีความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย ไม่ว่าเราจะมีขอบเขตงานวิจัยเรื่องใด ก็จะมีอาจารย์ที่คอยให้คำปรึกษาเราเสมอ

        อู๊ด กล่าวถึงจุดเด่นของหลักสูตร 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือ การที่คณาจารย์มาจากหลากหลายสาขาวิชา และหลากหลายความเชี่ยวชาญ ตอนเรียนเราจะเห็นนักบรรพชีวินวิทยา นักประสาทวิทยา นักประชากรศาสตร์ หรือจิตวิทยาทำงานร่วมกัน ทำให้เรารู้ว่าเราสามารถเรียนรู้อะไรก็ได้ และทุกคำถามมีคำตอบที่แตกต่างกันได้ ประเด็นต่อมาคือ อาจารย์มีความเป็นมนุษย์สูง เรียกได้ว่าอาจารย์ทุกท่านพร้อมรับฟังอย่างไม่ตัดสิน และพร้อมที่จะสนับสนุนการเรียนรู้ของทุกคนอย่างแท้จริง

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตนเอง

        “การเรียนหลักสูตรนี้ทำให้เรารู้สึกรักตัวเองและเข้าใจตัวเองมากขึ้น มีความสุขกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวง่ายขึ้น ยอมรับความขาวความดำของตนเองได้ เมื่อเราเข้าใจตนเองก็ส่งผลให้เข้าใจผู้อื่นมากขึ้น เราเจอเพื่อนที่หลากหลายและยอมรับคนอื่นได้ง่ายขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมากในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่น หรือการทำงานร่วมกันคนอื่นต่อไป” เชอรี่ กล่าว

        อู๊ด สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงว่า “เราเห็นเครื่องมือที่จะช่วยดึงศักยภาพของมนุษย์ออกมาได้ดีขึ้น เห็นเครื่องมือที่ช่วยลดความขัดแย้งระหว่างมนุษย์ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ซึ่งผมได้นำเครื่องมือเหล่านี้มาใช้ในการทำงานจริงแล้ว ผมสามารถนำคนเก่งมาทำงานร่วมกัน และลดความขัดแย้งของทีมได้อย่างเป็นรูปธรรมด้วยวิธีการที่ถูกต้อง”

        สุดท้ายนี้ อู๊ด และ เชอรี่ ฝากถึงเพื่อน ๆ ที่สนใจเข้ามาเรียนปริญญาเอกที่ LSEd ว่า ถ้าอยากเรียนรู้และพัฒนาตนเองไปในเวลาเดียวกัน หลักสูตรนี้จะเปิดโอกาสให้ได้ทำในสิ่งที่สนใจ โดยมีทีมอาจารย์ที่เชี่ยวชาญอย่างหลากหลายคอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเอง หลักสูตรนี้จะช่วยสร้างพื้นที่ให้เราได้เติบโตอย่างซื่อสัตย์ต่อตนเอง

“มาเถอะ...ที่นี่แหละดีที่สุด”

📍ทำความรู้กับหลักสูตรปริญญาเอก และรายวิชา (Coursework) ของหลักสูตร ได้ที่

https://lsed.tu.ac.th/published-message-content-37

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้ (ปริญญาเอก) 

เปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่ บัดนี้ – 1 กรกฎาคม 2567

รับสมัครปริญญาโททุกสาขา

เรียนวันเสาร์ - อาทิตย์

ข้อมูลการสมัคร

📃อ่านรายละเอียดประกาศ ได้ที่  Website : https://lsed.tu.ac.th/news-content-30

📖ข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตร ป.เอก (รายละเอียด และค่าใช้จ่ายในหลักสูตร) : https://lsed.tu.ac.th/phdprogram

💻ช่องทางการสมัครทางออนไลน์  : https://forms.gle/3pRE7j6hgknZX6kn7

สอบถามรายละเอียดหลักสูตร ป.เอก

📞 เบอร์โทรศัพท์ 02 696 6719  หรือ  084 073 0853

📧Email  : academic_phd@lsed.tu.ac.th

 เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค