การศึกษาและวิจัยอย่างอิสระในหลักสูตรปริญญาเอก LSEd ด้วยการบูรณาการศาสตร์ที่หลากหลาย
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้ หรือ หลักสูตรปริญญาเอก จากคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหลักสูตรที่มีเป้าหมายชัดเจนในการผลิต และบ่มเพาะ “นักขับเคลื่อนการเรียนรู้” (Academic Change Agent) เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาและการเรียนรู้ของสังคมไทย
หลักสูตรนี้เกิดจากความตั้งใจของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ที่มุ่งบ่มเพาะนักวิทยาการเรียนรู้ พร้อมด้วยการทำโครงการบริการวิชาการกับเครือข่ายต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งคณะฯ จนถึงปัจจุบัน โดยคณะมีความพร้อมในเชิงบุคลากร มีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชาที่สั่งสมประสบการณ์การทำงานวิจัยและการขับเคลื่อนเชิงปฏิบัติแบบสหวิทยาการ รวมถึงมีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกับคณะอย่างเข้มแข็ง สิ่งเหล่านี้ช่วยสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลายและเข้มข้นให้แก่นักศึกษา
อีกหนึ่งเป้าหมายของหลักสูตรคือการบ่มเพาะ นักวิทยาการเรียนรู้สายพันธุ์ไฮบริด ที่ผสมผสานความเป็นนักวิจัยและนักปฏิบัติอย่างลงตัว หลักสูตรนี้จึงไม่มุ่งเน้นเพียงความเป็นวิชาการหรือการทำงานวิจัยของตนเอง แต่ชวนนักศึกษาออกไปเผชิญโลกจริง ตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่พบเห็น รู้สึก และสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้อย่างไร โดยใช้องค์ความรู้จากรายวิชาต่าง ๆ เป็นฐานในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ และเสนอแนะแนวทางที่เป็นไปได้ตามบริบทพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งเมื่อได้รับมุมมองและวิธีคิดจากหลากหลายศาสตร์ นักศึกษาจะสามารถเลือกใช้มุมมองที่เหมาะสมกับบริบทนั้น ๆ ได้
LSEd Awesome ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณรัฐพงศ์ วงค์เขื่อนแก้ว (แชมป์) นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต รุ่น 1 และ คุณคฑาวุธ สิทธิโชคสกุล (เต้) นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต รุ่น 2 ที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปีการศึกษา รวมทั้งความประทับใจและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อตนเองและสังคม
ทำความรู้จักกับนักศึกษาปริญญาเอกทั้ง 2 ท่าน
รัฐพงศ์ วงค์เขื่อนแก้ว หรือ แชมป์ นักศึกษาปริญญาเอก LSEd รุ่นที่ 1 กล่าวว่า ก่อนที่จะมาเป็นนักศึกษาปริญญาเอกที่ LSEd เขาเพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโททางด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะครุศาสตร์ สาขาวิชาเคมี อีกทั้งยังมีประสบการณ์การทำงานฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูในโรงเรียนแห่งหนึ่ง และเคยเป็นติวเตอร์วิชาวิทยาศาสตร์และเคมีในโรงเรียนกวดวิชาหลายแห่ง เรียกได้ว่า ประสบการณ์ด้านการศึกษาและการทำงานของเขา คือ การคลุกคลีอยู่ในวงการวิทยาศาสตร์ศึกษาโดยตลอด
แชมป์ เล่าถึงภูมิหลังของตนเองเพิ่มเติมว่า เขาเป็น “คนเมือง” ที่ “อู้กำเมือง” (พูดภาษาเหนือ) และใช้ชีวิตตามแบบคนเหนือทั่วไป นอกจากนี้ เขาเคยใช้ชีวิตทั้งในเมือง ชานเมือง ไปจนถึงบ้านนอกที่อยู่สุดเขตจังหวัด อีกทั้งในบางช่วงชีวิตยังได้อาศัยอยู่กับคุณปู่คุณย่าและญาติ ๆ ที่บ้านนอก ทำให้ชีวิตตั้งแต่เด็กจนจบมหาวิทยาลัยมีโอกาสได้พบผู้คนหลายแบบ หลายชาติพันธุ์ หลายความเชื่อและหลายความคิด ได้สัมผัสประสบการณ์ที่หลากหลาย ความพิเศษที่เกิดขึ้นในชีวิตเหล่านี้จึงกลายมาเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เขาสนใจประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ของผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย การทำความเข้าใจตนเองและผู้อื่น และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมพหุวัฒนธรรม
คฑาวุธ สิทธิโชคสกุล หรือ เต้ นักศึกษาปริญญาเอก LSEd รุ่นที่ 2 เล่าว่า เดิมเคยร่วมงานกับอาจารย์คณะฯ ในโครงการเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในโรงเรียน ในตอนแรกเขายังไม่รู้จักคณะนี้มากนัก แต่มีเพื่อนร่วมงานหลายคนที่จบปริญญาโทจากคณะนี้ ทำให้ได้เห็นถึงแนวความคิด รูปแบบ วิธีการสอนที่แปลกใหม่ และแนวคิดการบริหารจัดการชั้นเรียนที่แตกต่างจากทั่วไป เมื่อได้ทำงานร่วมกับคณาจารย์ LSEd เขาจึงเกิดความสนใจและอยากเข้ามาเรียนรู้ที่นี่ จนมีโอกาสสมัครเรียนในหลักสูตรปริญญาเอก รุ่นที่ 2
เต้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการบริหารการศึกษา แต่หลังจากที่ได้เริ่มทำงานจริง เขาตระหนักว่าการเรียนแค่ศึกษาศาสตร์อย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการจัดการศึกษาในอนาคต เพราะจำเป็นต้องบูรณาการศาสตร์หลาย ๆ แขนงร่วมกันเพื่อสร้างกรอบแนวคิดที่สามารถปรับใช้ได้กับการศึกษาในอนาคต เมื่อได้พบหลักสูตรของ LSEd ที่ไม่ได้จำกัดเพียงกรอบแนวคิดด้านการศึกษา แต่ขยายการเรียนรู้ไปสู่บริบทของชุมชนและสังคม และเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนสามารถเกิดการเรียนรู้ได้ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาตัดสินใจมาศึกษาที่คณะนี้
ทำไมต้อง ปริญญาเอก LSEd ?
แชมป์ เล่าว่า ตอนใกล้จบปริญญาโท ด้วยความที่ตนเองนั้นชอบเรียน จึงคิดว่า อยากเรียนต่อปริญญาเอก แต่ก็ต้องคิดต่อว่าจะเรียนอะไรดี เขาได้ไตร่ตรองกับตนเองว่า “เป้าหมายชีวิตหรือ Life mission ของเขาคืออะไร อยากขับเคลื่อนอะไร มีคำถามใดที่ยังค้างคาในใจบ้าง และหลังจากเรียนจบจะนำความรู้นั้นไปสานต่อเป้าหมายชีวิตได้อย่างไร” พร้อมกับพิจารณาว่า หลักสูตรและสถาบันใดที่จะช่วยสนับสนุนให้เขาได้สานต่อสิ่งที่ตั้งใจไว้
สิ่งที่แชมป์คิดถึงตลอดในช่วงนั้น คือ การทำความเข้าใจตัวตนของครูวิทยาศาสตร์ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ เขาอยากฟังเสียงของครูที่ถูกทำให้เป็นชายขอบ ซึ่งถูกมองไม่เห็นหรือไม่ได้รับความเอาใจใส่จากสังคมอย่างที่ควรจะเป็น ด้วยประสบการณ์ส่วนตัวที่ซับซ้อนและหลากหลาย ร่วมกับการได้รับฟังข้อมูลประเด็นทางการเมืองที่มีอยู่ตามสื่อต่าง ๆ ในช่วงนั้น แชมป์ จึงเริ่มตระหนักและตั้งคำถามเกี่ยวกับโครงสร้างอำนาจในสังคมมากขึ้นกว่าที่เคย แม้เขายังไม่เข้าใจว่า ตนเองสนใจศึกษาเรื่อง การสร้างและนำเสนออัตลักษณ์พันทาง (Hybrid Identity) ของครูวิทยาศาสตร์กลุ่มชายขอบในสังคมกึ่งอาณานิคมสมัยใหม่ แต่ความชัดเจนในหัวข้อนี้ได้เกิดขึ้นหลังจากที่เขาได้เรียนในหลักสูตรปริญญาเอกที่ LSEd และได้ทำงานกับอาจารย์ที่ปรึกษาหลักและอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมที่ให้การสนับสนุนทุกเรื่องเป็นอย่างดี
“ตอนนั้นผมกลุ้มใจมากว่า จะเอาไงดีกับเรื่องเรียนต่อ เพราะอยากทำสิ่งที่เป็น Life mission ของตัวเองจริง ๆ... ผมเคยได้ยินจากคนรู้จักว่า หลายคนต้องเปลี่ยนหัวข้อวิจัยบ่อย ๆ งานไม่ก้าวหน้า หรือได้ทำในหัวข้อที่ตัวเองไม่ได้สนใจ หรือไม่ก็ต้องเปลี่ยนไปตามที่ที่ปรึกษากำหนด และต้องทำงานอื่น ๆ นอกเหนือจากภารกิจของตัวเอง จนแทบไม่มีเวลาทำวิจัยดุษฎีนิพนธ์ หรือได้ Self-care ตัวเองเลย” แชมป์เห็นว่านี่ เป็นปัญหาสำคัญ เพราะงานดุษฎีนิพนธ์ควรเป็นงานที่สะท้อนความเป็นตัวเขา และเขียนด้วยจิตวิญญาณของเขาเอง
“มันจะมีความสุขไหมอะ ถ้าเราไม่ได้สานต่อ Life mission ของตัวเองในงานดุษฎีนิพนธ์ งานชิ้นพิเศษของเรา เขียนโดยจิตวิญญาณของเราและสะท้อนความเป็นตัวเราลงไปในนั้น มันแฟร์กับเราไหมที่ต้องเสียเวลา เงิน กำลังกายและใจจำนวนมหาศาลเพื่อแลกสิ่งที่เราอาจไม่ต้องการมัน” แชมป์ กล่าว
เขาใช้เวลาเกือบครึ่งปีในการศึกษาและค้นหาหลักสูตรที่อาจช่วยให้เขาได้เรียนในสิ่งที่ต้องการ หนึ่งในหลักสูตรที่เข้าตา คือ ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้และนวัตกรรมการศึกษา ของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ LSEd ซึ่งเขาพบเมื่อค้นหาคำว่า “เรียนปริญญาโท ปริญญาเอก ด้านการศึกษา + ความเป็นมนุษย์ + เคารพความหลากหลาย” และนั่นเป็นครั้งแรกที่เขาได้รู้จัก LSEd มากขึ้น ได้ติดตามเพจและข่าวสารของคณะ ได้เห็นการดำเนินโครงการก่อการครูและเริ่มสนใจในคณะนี้ แม้ว่าขณะนั้นยังไม่มีหลักสูตรปริญญาเอก แต่ถ้าเปิดหลักสูตรนี้เขาก็คงจะสมัครเรียนแน่นอน
เต้ กล่าวว่าหลักสูตรปริญญาเอก LSEd รับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทไม่จำกัดสาขาวิชา บางคนอาจไม่ได้เรียนจบศึกษาศาสตร์โดยตรง แต่คณะก็เปิดรับและโอบอุ้มอย่างดี เพราะคณะเชื่อว่าการเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกคน ดังนั้น ข้อแตกต่างของหลักสูตรนี้คือไม่จำกัดวุฒิการศึกษา และมีวิธีการเรียนการสอนที่แตกต่างจากที่อื่น
หลักสูตรฯ มีการเรียนการสอนแบบสหวิทยาการ (Multidisciplinary) ซึ่งหมายความว่าจะมีศาสตร์หนึ่งเป็นแก่น และมีการรวบรวมหลากหลายศาสตร์เข้ามาบูรณาการร่วมกัน ทำให้เราได้พัฒนาตนเองและแสวงหาความรู้จากศาสตร์อื่นนอกเหนือจากที่เราถนัดมากขึ้น รวมทั้งการเรียนกับอาจารย์หลายท่านพร้อมกัน หรือ Team Teaching เป็นการพูดคุยถึงปัญหาหรือหัวข้อที่เราสนใจร่วมกับอาจารย์หลายท่านที่มีความเชี่ยวชาญและมุมมองที่แตกต่างกัน ทำให้เราเห็นมุมมองที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
ในชั้นเรียนของเรามีความหลากหลายทางวิชาชีพ อย่างในรุ่นที่ 2 ของหลักสูตรปริญญาเอก บางคนเป็นผู้บริหารธุรกิจ เจ้าของโรงเรียน อาจารย์มหาวิทยาลัย หรือสัตวแพทย์ ทำให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการอภิปรายเกิดขึ้นจากหลากหลายมุมมองและครอบคลุมมากขึ้น “...เราได้เปิดโลกทัศน์ว่า นอกเหนือจากวิธีการจากศาสตร์ของเราแล้ว ยังมีศาสตร์อื่น ๆ ที่สามารถช่วยเติมเต็มความสมบูรณ์ในการแก้ไขปัญหาในแต่ละเรื่องได้เช่นเดียวกัน” เต้ กล่าว
เหตุผลที่สนใจ สมัครสอบ และเข้าเรียนในหลักสูตรนี้
“...การตอบคำถามนี้ ยากพอ ๆ กับคำถามของเจ๊พะยูน จากภาพยนตร์หอแต๋วแตก ภาค 2 ที่ถามเหล่าเจ๊ ๆ ว่า ‘รู้ไหม ใครฆ่าอารยา’ ฮาฮา (เสียงหัวเราะ)” แชมป์ เล่าว่า ในช่วงนั้นข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรยังมีน้อยมาก เพราะหลักสูตรเพิ่งเปิดเป็นปีแรก ข้อมูลเกี่ยวกับอาจารย์ในคณะก็อาจมีให้เห็นตามสื่อต่าง ๆ บ้าง แต่เขาไม่ได้รู้จักใครเป็นการส่วนตัวหรือเคยทำงานร่วมกันมาก่อนเลย แต่แล้วก็มีสำนึกหนึ่งที่ชัดขึ้นมาว่า “ถ้าไม่สมัคร ไม่ลองไปสอบกระบวนการ สอบสัมภาษณ์ จะรู้จักอาจารย์หรือคณะนี้ไหม และจะได้เริ่มเรียน ป.เอก กี่โมง” เขาจึงนั่งเขียน Concept paper ในเรื่องที่อยากทำตามความเข้าใจแล้วกดสมัครไป
จุดเปลี่ยนที่ช่วยให้ตัดสินใจเรียนปริญญาเอก LSEd คือ วันที่เห็นคณะในวันสอบ แชมป์เล่าต่อว่า ในวันนั้นเขารู้สึกตื่นเต้น แต่ไม่รู้สึกกังวลหรือกลัวว่าจะทำได้หรือไม่ สิ่งที่เขาสัมผัสได้ในวันนั้นคือ ‘พลังงานของคณะดีมาก ทั้งโอบรับ ทั้งเปิดกว้าง’ นอกจากบรรยากาศของคณะ ในวันนั้นแชมป์ค่อนข้างตื่นตากับวิธีการสอบ เพราะการสอบเหมือนการทดลองเรียนมากกว่า อาจารย์ทุกคนมีความเป็นกันเอง พูดคุยกันแบบบ้าน ๆ ง่าย ๆ ได้ ไม่ถือเนื้อถือตัว ดูมีชีวิตชีวา เป็นธรรมชาติและเป็นตัวของตัวเอง ในช่วงสอบเสียงในหัวเขาเริ่มดังขึ้นว่า “ความธรรมดาที่ไม่ธรรมดาแบบนี้แหละ ที่ ๆ อนุญาตให้เราเป็นเรา ที่ ๆ เปิดกว้างและโอบรับความหลากหลายแบบนี้แหละ นี่แหละที่ของเรา” สุดท้าย เมื่อถึงวันประกาศผลว่าได้เป็นนักศึกษาที่นี่ มันจึงเป็นวันที่แชมป์ตัดสินใจรายงานตัวอย่างง่ายดาย และรู้สึกพร้อมมากที่จะเริ่มต้นกับการเป็นนักศึกษาปริญญาเอก วิทยาการเรียนรู้ รุ่นที่ 1 ของ LSEd
เต้ กล่าวว่า ในแต่ละรายวิชาเปิดโอกาสให้ได้มีประสบการณ์การทำงานที่หลากหลาย รวมถึงกระบวนการเรียนรู้ที่นำปัญหามาเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ หรือการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem–based Learning) ที่ให้เราได้ทำงานในประเด็นที่สนใจจริง เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้นด้วยศาสตร์ต่าง ๆ ทำให้เรามั่นใจว่าเราสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้งานได้จริงอย่างอิสระ และการที่เพื่อนในรุ่นมีความแตกต่างหลากหลาย ทำให้บรรยากาศการเรียนเต็มไปด้วยความสนุกสนาน และเห็นมุมมองที่หลากหลายเช่นเดียวกัน
จุดเด่นของหลักสูตร
แชมป์ กล่าวว่า คณะเปิดโอกาสให้เขาได้มีประสบการณ์การทำงานจริง เช่นการดูแลประสานงานโครงการห้องเรียนวัฒนธรรม ซึ่งเป็นโอกาสที่สำคัญอย่างหนึ่งในชีวิต งานนี้ทำให้เขาได้รู้จักอาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิกว่า 30 คน ที่ทำงานขับเคลื่อนประเด็นความเข้าใจอคติที่เกิดขึ้นในสังคมผ่านมิติต่าง ๆ ทั้ง เพศ ชาติพันธุ์ พหุวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศาสนา ความเชื่อ วยาคติ และอื่น ๆ ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้เขากล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น เข้าใจมุมมองเชิงวิพากษ์มากขึ้น มีความคล่องตัวในการติดต่อประสานงาน และได้รู้จักเครือข่ายที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานตามหัวข้อดุษฎีนิพนธ์ที่สนใจได้เป็นอย่างดี
ในขณะเดียวกัน หลักสูตรยังช่วยให้เขาพบคำตอบในทุกคำถามที่สงสัย แชมป์ เล่าว่า ในด้านการทำความเข้าใจความซับซ้อนภายในของตัวเอง เขาได้ร่วมเรียนรู้เรื่องนี้ผ่านการเรียนการโค้ชและการจัดกระบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลง การสะท้อนคิด ฝึกอยู่กับปัจจุบันขณะ เรียนรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงภายในและพาทำงานกับความเปราะบางของตัวเอง ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้เขามีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น โอบรับความหลากหลายและเงาในตัวเองด้วยรักและสัตย์จริง และชะลอการตัดสินได้ดีขึ้นมาก อีกทั้ง ในด้านการทำความเข้าใจการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การอยากรู้เรื่องความหลากหลาย อยากรู้เรื่องการสร้างอัตลักษณ์ และการฝึกเก็บข้อมูลภาคสนาม หลักสูตรก็พาให้เขาได้ลงพื้นที่ทำงานและเรียนรู้จากพื้นที่วิจัยจริง
อาจกล่าวได้ว่า หลักสูตรช่วยให้เขาสามารถทำงานในหัวข้อที่สนใจอย่างลึกซึ้งจริง ๆ ได้ดำเนินการวิจัยในสิ่งที่เขาต้องการจริง ๆ ตัวตนของเขาจึงปรากฎในงานได้อย่างเต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น
“นี่จึงเป็นพื้นที่ปลอดภัยและพื้นที่สร้างสรรค์ที่ทำให้ผมทำงานได้อย่างเต็มที่” แชมป์ กล่าว
นอกเหนือจากความเป็นเลิศด้านวิชาการและการวิจัยแล้ว จุดเด่นของหลักสูตรปริญญาเอก LSEd สำหรับเต้ คือ การเน้นการฝึกผู้เรียนให้เป็นผู้ปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ ในแต่ละภาคการศึกษาจะมีการฝึกปฏิบัติภาคสนาม โดยในวิชานี้นักศึกษาจะนำความรู้ที่ได้เรียนรู้มาใช้ในการลงชุมชนหรือสนามงานตามที่อาจารย์หรือตนเองเสนอขึ้นมา เข้าไปปฏิบัติงานจริง นอกจากนี้ ผลงานวิจัยหรือความรู้ที่ได้รับก็ถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาให้กับชุมชนและสังคม ดังนั้น การเรียนในหลักสูตรนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงการเรียนเพื่อรู้เท่านั้น แต่เป็นการเรียนเพื่อสร้างองค์ความรู้หรือประโยชน์ให้กับสังคม ผ่านการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community Based Learning) ซึ่งเป็นวิธีการที่นำเสนอปัจจัยต่าง ๆ ในการคิดและคำนึงถึงปัญหาของสังคมและชุมชนอย่างเชี่ยวชาญ
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตนเอง
แชมป์ เล่าว่า นึกภาพตัวเองก่อนจะเข้ามาเรียนแทบไม่ออกแล้ว รู้สึกมาไกลมากจากตรงนั้น ทั้งความเข้าใจเรื่องอัตลักษณ์ การเข้าใจตัวตนของตัวเอง และเห็นภาพหัวข้อที่อยากทำชัดเจนขึ้น ปัจจุบันเมื่ออ่านข่าวหรือฟังเรื่องเล่าของคนอื่น เราจะมองเห็นโครงสร้างอำนาจ เห็นการนำเสนออำนาจ และเห็น ความเป็นพันทาง หรือ Hybridity ในสิ่งที่สังเกตได้แทบจะทันที จะเรียกว่า ‘เบิกเนตร’ ก็คงไม่ผิด “...ผมคิดว่านี่เป็นหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญของนักวิจัย โดยเฉพาะการศึกษาในประเด็นหลังอาณานิคมและการเป็นนักวิจัยที่อาศัยเรื่องเล่าและการเล่าเรื่องเป็นวิธีการในการศึกษาวิจัย”
เต้ กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงในมุมมองเรื่องการตัดสินใจของตนเอง โดยก่อนหน้านี้เคยมีแนวโน้มที่จะเลือกตัดสินใจโดยให้ความสำคัญกับผลกระทบที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรโดยไม่คำนึงถึงมิติอื่น แต่เมื่อได้มาเรียนปริญญาเอก LSEd เขาได้เริ่มมองเห็นความสำคัญของสังคม ชุมชน และผู้คน ทำให้ตระหนักว่าการตัดสินใจควรพิจารณาจากผู้ใช้งานหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผ่านการทำความเข้าอกเข้าใจปัญหาและบุคคล และต้องเกิดผลกระทบที่เป็นประโยชน์กับชุมชนและสังคม เต้ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้เคยใช้เพียงแค่ความรู้ด้านการบริหารการศึกษาในการแก้ไขปัญหา แต่เมื่อได้รู้จักเครื่องมือที่ใช้ในการเข้าใจปัญหาอย่างการ Empathize เขาสามารถเข้าใจคนมากขึ้น สื่อสารกับเจ้าของปัญหาได้มากขึ้น และสามารถแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การแก้ไขปัญหาไม่ใช่เรื่องของศาสตร์เดียว แต่อาจต้องมีการบูรณาการองค์ความรู้จากหลายศาสตร์ เช่น มนุษยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ การสื่อสาร และเทคโนโลยี ในการแก้ไขปัญหาให้เป็นประโยชน์แก่ชุมชนและสังคมอย่างมากที่สุด
หลักสูตรฯนี้ เป็นหลักสูตรที่ออกแบบมาสำหรับผู้ที่สนใจด้านการเรียนรู้ทุกคน เต้กล่าวต่อว่า หลักสูตรนี้ไม่เพียงเน้นเฉพาะเรื่องการศึกษาเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงการเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ โดยไม่จำกัดอยู่เพียงในบริบทโรงเรียนเท่านั้น เพราะทุกคนสามารถเกิดการเรียนรู้ได้ หลักสูตรนี้จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยบ่มเพาะให้เรานำความรู้ไปใช้ในบริบทที่กว้างขวางยิ่งขึ้น
สุดท้ายนี้ เต้ฝากถึงทุกคนที่สนใจว่า สำหรับผู้ที่ต้องการผลิตผลงานหรืองานวิจัยที่มีความหมายต่อชุมชนและสังคม และต้องการส่งเสริมการเรียนรู้ในสังคม หลักสูตรนี้ค่อนข้างเหมาะและตอบโจทย์ความต้องการนั้น นอกจากที่งานวิจัยจะช่วยผู้อื่นและสังคมแล้ว ยังช่วยพัฒนาตนเองได้ด้วย ทั้งในด้านการทำความเข้าใจตนเองและการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ที่หลากหลาย นับเป็นการเรียนรู้ที่ทั้งพัฒนาสังคมและพัฒนาตนเอง
“ถ้า มังกี้ ดี. ลูฟี่ ละทิ้งความฝัน การเป็นราชาโจรสลัดไป และไม่กล้าออกเดินทาง ป่านนี้คงยังอยู่ที่อีสต์บลู ไม่มีวันได้เข้าใกล้เกาะลาฟเทล ไม่มีวันเจอ One piece และไม่มีวันได้เป็นการ์ตูนที่ครองใจผู้คนมากมายอย่างทุกวันนี้” แชมป์ กล่าว
สุดท้ายนี้ แชมป์ฝากถึงผู้ที่กำลังสนใจหลักสูตรนี้ว่า ถ้าวางแผนเรื่องค่าเทอมและเวลาเรียนแล้ว คุณไม่ต้องลังเลและสงสัยในความสามารถของตัวเองแล้ว ขอให้พุ่งตัวมาเลย อย่ารอช้ากับความฝัน หรือหากยังไม่แน่ใจ แนะนำให้ยื่นใบสมัครและลองมาสอบดู อย่างน้อยที่สุด แชมป์เชื่อว่า ทุกคนจะได้พบเจอกับความแปลกอย่างที่กำลังตามหา รวมถึงความหวังและพลังในตัวเองที่จะสร้างการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงให้กับตัวเองและสังคมของเรา
“มา มา มา มาร่วมเรียนรู้และเดินทางไปด้วยกันในพื้นที่ที่โอบรับความหลากหลายแห่งนี้ครับ”
📍ทำความรู้กับหลักสูตรปริญญาเอก และรายวิชา (Coursework) ของหลักสูตร ได้ที่
https://lsed.tu.ac.th/published-message-content-37
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้ (ปริญญาเอก)
เปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่ บัดนี้ – 1 กรกฎาคม 2567
รับสมัครปริญญาโททุกสาขา
เรียนวันเสาร์ - อาทิตย์
ข้อมูลการสมัคร
📃อ่านรายละเอียดประกาศ ได้ที่ Website : https://lsed.tu.ac.th/news-content-30
📖ข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตร ป.เอก (รายละเอียด และค่าใช้จ่ายในหลักสูตร) : https://lsed.tu.ac.th/phdprogram
💻ช่องทางการสมัครทางออนไลน์ : https://forms.gle/3pRE7j6hgknZX6kn7
สอบถามรายละเอียดหลักสูตร ป.เอก
📞 เบอร์โทรศัพท์ 02 696 6719 หรือ 084 073 0853
📧Email : academic_phd@lsed.tu.ac.th
เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค