Loading...

ปริญญาเอก LSEd: กุญแจสู่อนาคตและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ

        หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้ หรือ หลักสูตรปริญญาเอก จากคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหลักสูตรที่มีเป้าหมายชัดเจนในการผลิต และบ่มเพาะ “นักขับเคลื่อนการเรียนรู้” (Academic Change Agent) เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาและการเรียนรู้ของสังคมไทย

         ในปัจจุบันการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ได้ขยายขอบเขตออกไปในวงกว้างกว่าเดิม จากการเรียนรู้เพียงการศึกษาในระบบ ไม่ว่าจะเป็นในโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัยหรือนอกโรงเรียน เป็นการเรียนรู้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ ทุกบริบท และทุกช่วงเวลาของมนุษย์ ดังนั้น การได้รับองค์ความรู้ ทฤษฎี แนวคิด จากในห้องเรียนคงไม่เพียงพอต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอีกต่อไป

        หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้ มีความเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีของ มีทุนทางความรู้ ทักษะ ประสบการณ์การทำงาน ประสบการณ์ชีวิต ที่ติดตัวมา หลักสูตรฯ จึงมีหน้าที่ในการเปิดพื้นที่ให้ผู้เรียนได้นำเอาแนวคิด ทฤษฎีที่มีอยู่ มาประยุกต์ใช้ในเชิงปฏิบัติ แล้วสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่มีความหมายกับการเรียนรู้ของมนุษย์ ให้ได้เห็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคม จากการมองปรากฎการณ์ต่าง ๆ อย่างรอบด้านด้วยความเข้าใจ ผ่านหัวใจ และการลงมือปฏิบัติ

        การตัดสินใจศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกเป็นการเดินทางที่ท้าทายและเต็มไปด้วยความหวังในการพัฒนาตนเอง หลายคนอาจมองว่าการศึกษาขั้นสูงเช่นนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีความมุ่งมั่นในการทำงานวิชาการหรือการวิจัยเท่านั้น แต่ความจริงแล้วการศึกษาระดับปริญญาเอกในปัจจุบัน โดยเฉพาะในคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ (LSEd) ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่นั้น หลักสูตรนี้มีจุดเด่นที่เปิดกว้างสำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำงานด้านการศึกษา รวมถึงยังมีประโยชน์ต่อทุกอาชีพที่ต้องการพัฒนาตนเองหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับผู้คนและสังคม บทความนี้จะพาทุกคนร่วมสำรวจว่า เหตุใดหลักสูตรปริญญาเอก คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ และมีคุณค่าในยุคที่การศึกษาและการทำงานต้องปรับตัวให้ทันยุคสมัยและตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของสังคม

        ในวันนี้ LSEd Awesome ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณปารณีย์ พฤกษาชาติ (น้อยหน่า) และ คุณนุชวรา ปูรณัน (นุช) นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต รุ่น 2 ที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปีการศึกษา รวมทั้งความประทับใจและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อตนเองและสังคม

ทำความรู้จักกับนักศึกษาปริญญาเอกทั้ง 2 ท่าน

        ปารณีย์ พฤกษาชาติ หรือ น้อยหน่า นักศึกษาปริญญาเอก LSEd รุ่น 2 เล่าว่า ก่อนเข้ามาเรียนปริญญาเอก LSEd เธอเป็นอาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดปทุมธานี โดยภาระงานมีทั้งการสอน การพัฒนาและบริหารหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ และส่วนงานอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมายตามแนวทางของคณะฯ เมื่อตัดสินใจว่าจะเรียนปริญญาเอก จึงทำเรื่องขอลาศึกษาต่อ หลังจากนั้นมหาวิทยาลัยก็อนุญาตให้ลาศึกษาต่อ เป็นเวลา 3 ปี และสนับสนุนทุนการศึกษาตลอดหลักสูตร ทำให้เธอรู้สึกดีที่ทางมหาวิทยาลัยต้นสังกัดสนับสนุน และสามารถเรียนต่อได้โดยที่ไม่ต้องกังวลกับภาระงานที่มากนัก

         นุชวรา ปูรณัน (นุช) หรือ นุช นักศึกษาปริญญาเอก LSEd รุ่น 2 ปัจจุบันเป็นคุณครูในโรงเรียนหลักสูตรมอนเตสซอรี่แห่งหนึ่ง เล่าว่า ก่อนหน้านี้ เธอมีโอกาสได้รู้จักกับอาจารย์และคณะวิทยาการเรียนรู้ฯ จากการทำงานในโครงการบริการวิชาการต่าง ๆ ทำให้เชื่อมั่นว่าคณะนี้จะช่วยเปิดมุมมองให้กว้างขึ้น และสามารถนำความรู้มาปรับใช้กับการบริหารโรงเรียนในอนาคตได้อย่างหลากหลายและยืดหยุ่นในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังช่วยพัฒนาทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่นและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานกับตนเองได้อย่างดียิ่งขึ้น

อะไรที่ทำให้ ‘ปริญญาเอก LSEd’ แตกต่างจากที่อื่น

        “...เราเชื่อว่าคณะนี้เป็นคำตอบสำหรับทิศทางการศึกษาในอนาคต” นุช กล่าวอีกว่า การศึกษาในประเทศไทยในปัจจุบันยังคงวนเวียนอยู่กับมุมมองและวิธีการที่ล้าสมัย ซึ่งไม่เหมาะกับยุคสมัยปัจจุบันและการเปลี่ยนแปลงในอนาคต อีกทั้ง คณะยังคงนำเสนอมุมมองใหม่ที่ทันสมัย มีความเป็นทางเลือกและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ช่วยให้เกิดวิธีคิดที่แตกต่างและสามารถปรับตัวกับสถานการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

        น้อยหน่าเล่าถึงเงื่อนไขการเรียนต่อระดับปริญญาเอกว่า เธอต้องศึกษาในสาขาที่สัมพันธ์กับสายงาน หลังจากนั้นจึงเริ่มมองหาหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง จนมีโอกาสได้เห็นประกาศรับสมัครปริญญาเอก LSEd และได้ศึกษาข้อมูลหลักสูตร เธอเห็นแนวคิดการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนที่เปิดกว้าง มีกระบวนการทำงานและบรรยากาศการเรียนรู้ที่ตรงกับความต้องการ อีกทั้งการออกแบบรายวิชาที่สอดรับกับความต้องการของการศึกษาในปัจจุบัน จึงเชื่อว่าหลักสูตรนี้จะช่วยสร้างโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับการศึกษาในประเทศไทยและการทำงานของเธอ

หลักสูตรตอบโจทย์เราอย่างไร

        “หลักสูตรนี้ตอบโจทย์ในด้านความเปิดกว้าง สร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ไม่ยึดติดกับกรอบเดิม มีความยืดหยุ่นและเข้าใจสังคมและผู้คนอย่างลึกซึ้ง อีกทั้งยังมีเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ตัวอย่างเช่น ในประเด็นด้านการศึกษา บ่อยครั้งที่เราไม่เข้าใจปัญหาและความต้องการที่แท้จริง ทำให้หลายปัญหายังคงไม่ได้รับการแก้ไข แต่คณะนี้ทำให้เราเห็นว่า ปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาไทยกำลังได้รับการคลี่คลายและขับเคลื่อนด้วยความเข้าใจในเด็กและครูอย่างแท้จริง” น้อยหน่า กล่าว

        “ปริญญาเอก LSEd เปิดโอกาสให้เราได้เห็นมุมมองที่หลากหลาย ยืดหยุ่น และเหมาะสมสำหรับกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เราได้เรียนรู้ว่าการนำองค์กรให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและการมองภาพรวมอย่างรอบด้าน ซึ่งคณะนี้สามารถพาเราไปสู่การมีมุมมองที่ลึกซึ้งและก้าวหน้าในด้านนี้ได้” นุช กล่าว

จุดเด่นของหลักสูตร

        น้อยหน่า กล่าวถึงจุดเด่นของหลักสูตรว่า ทุกวิชาที่เรียนมักจะให้นักศึกษาได้ทบทวน ใคร่ครวญ และสะท้อนคิด ทำให้ได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนแนวคิดกับเพื่อนร่วมชั้น รวมถึงเข้าใจตัวเองและผู้อื่น เมื่อมีความเข้าใจตัวเองและผู้อื่นเป็นพื้นฐาน งานที่ออกมาจึงมีความหมาย รวมถึงวิชาที่เรียนมีความเชื่อมโยงและส่งผลต่อกันและกัน เราสามารถเห็นความเชื่อมโยงของการทำงานของสมอง สู่ความรู้สึก จิตใจ และพฤติกรรมทางกาย รวมไปถึงการวิเคราะห์การเรียนรู้ สิ่งเหล่านี้ช่วยให้เห็นภาพการเรียนรู้ของมนุษย์อย่างชัดเจน เข้าใจวิธีการวิเคราะห์และสื่อสารเพื่อให้ถึงเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

        น้อยหน่า สะท้อนอีกว่า การวางรายวิชาตามแผนการศึกษาของหลักสูตร ทำให้นึกถึง ทฤษฎีนั่งร้าน (Scaffolding) เพราะแต่ละวิชาถูกวางเป็นตัวช่วยให้นักศึกษาได้สร้างตึกของตัวเอง และรายวิชารวมทั้งเนื้อหาถูกวางไว้กลาง ๆ ระหว่างเรื่องง่ายกับเรื่องยาก ทำให้รู้สึกท้าทายในการเรียนรู้สิ่งใหม่และก้าวข้ามขีดจำกัดของตนเอง

        นุช กล่าวถึงจุดเด่นของหลักสูตรด้านความเป็น ‘สหวิทยาการ’ คือ ผู้เรียนจะได้เรียนกับอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลาย ทำให้การเรียนรู้ถูกมองในมุมมองและมิติที่หลากหลายและเปิดกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ หลักสูตรยังสร้างโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำมากกว่าการเรียนแบบทฤษฎีอย่างเดียว อย่างเช่น วิชาการโค้ชและการจัดกระบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลง ทำให้เห็นว่ามนุษย์เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตนเอง

        “...จากการสังเกตและทบทวนตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนแปลงจากภายใน” น้อยหน่า เล่าต่อว่า หลายวิชาชวนให้เราได้สำรวจความต้องการและตัวตนที่แท้จริง นำมาสู่วิธีการคิดและการกระทำที่ต่างไปจากเดิม รู้สึกเติบโตขึ้นในแง่ของความรู้สึกนึกคิด กระบวนการทำงาน และการอยู่ในสังคม ทำให้เป็นตัวเองในแบบที่ดีขึ้น อีกทั้ง เครื่องมือที่ได้จากการเรียน ทั้งการทบทวน ใคร่ครวญและสะท้อนคิด ยังเป็นเครื่องมือที่สามารถนำมาปรับใช้กับการแก้ปัญหาในชีวิตได้

         นุช สะท้อนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น 3 ประการ ประการแรกคือ การเปลี่ยนแปลงด้านมุมมอง หลายครั้งที่คณะชวนให้เราตั้งคำถามกับความเชื่อและความคิดของตนเอง เพื่อวิเคราะห์เบื้องหลังที่ทำให้เกิดค่านิยมหรือความคิดต่าง ๆ ในสังคม ทั้งในด้านการสร้างวัฒนธรรมและความเชื่อ ส่งผลให้เราตระหนักรู้และเข้าใจถึงความเชื่อและความคิดตนเองมากขึ้น ประการต่อมาคือ การเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรม จากการได้ทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมชั้นที่มาจากหลายอาชีพ ทั้ง สัตวแพทย์ นักธุรกิจ และนักการศึกษา หลายคนมีมุมมองและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม เราสามารถทำงานร่วมกันได้และเปิดรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประการสุดท้าย คือ การมีไฟในการทำงานเพื่อสังคม สิ่งที่คณะทำอยู่นั้นตอกย้ำถึงความสำคัญของการทำงานเพื่อสังคม และทำให้เราเห็นเป้าหมายร่วมกันอย่างชัดเจน เช่น การทำวิจัยที่ต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกและเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยสามารถกล่าวได้ว่าหลักสูตรนี้ทำให้ตนเองมีเป้าหมายในการทำเพื่อผู้อื่นอย่างชัดเจนและมีความหมายมากขึ้น

        นุช ทิ้งท้ายว่า หลักสูตรนี้เหมาะสำหรับทุกคน ไม่จำกัดเฉพาะผู้ที่ทำงานด้านการศึกษา และมีประโยชน์กับทุกอาชีพที่ต้องการพัฒนาตนเองหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับผู้คนและสังคม เนื้อหาที่สอนในหลักสูตรนี้สามารถนำไปใช้ได้จริง และสำหรับผู้ที่สนใจการศึกษาแนวใหม่หรือการเรียนรู้ที่สามารถประยุกต์ใช้ในอนาคต หลักสูตรนี้ก็ตอบโจทย์ได้อย่างดี โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบสิ่งใหม่ ๆ และการคิดนอกกรอบ คณะนี้ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

        น้อยหน่า กล่าวว่า เธอเข้าใจถึงความลังเลของหลาย ๆ คนที่กำลังตัดสินใจเรียนปริญญาเอก เพราะการเรียนในระดับนี้ต้องใช้ความพร้อมทั้งทุนทรัพย์ กาย และใจ แต่สำหรับเธอ การเลือกเรียนปริญญาเอก LSEd ไม่ทำให้รู้สึกผิดหวัง อาจารย์ทุกคนมีความน่ารักและเป็นกันเอง เวลาเรียนหรือทำงานที่คณะรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของคณะ ไม่ถูกกดดันหรือรู้สึกว่ามีใครมีอำนาจเหนือกว่า รู้สึกว่าทุกคนเท่าเทียมกัน และพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยกัน

        “การเลือกเรียนปริญญาเอก LSEd ถือว่าเป็น Highlight ของชีวิต เพราะเรียนแล้วเราเข้าถึงแก่นในชีวิตของตัวเอง เกิดการเติบโตจากภายในสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม นับเป็นการเรียนรู้ที่มีความหมายมาก”

📍ทำความรู้กับหลักสูตรปริญญาเอก และรายวิชา (Coursework) ของหลักสูตร ได้ที่

https://lsed.tu.ac.th/published-message-content-37

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้ (ปริญญาเอก)

เปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่ บัดนี้ – 1 กรกฎาคม 2567

รับสมัครปริญญาโททุกสาขา

เรียนวันเสาร์ - อาทิตย์

ข้อมูลการสมัคร

 

📃อ่านรายละเอียดประกาศ ได้ที่  Website : https://lsed.tu.ac.th/news-content-30

📖ข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตร ป.เอก (รายละเอียด และค่าใช้จ่ายในหลักสูตร) : https://lsed.tu.ac.th/phdprogram

💻ช่องทางการสมัครทางออนไลน์  : https://forms.gle/3pRE7j6hgknZX6kn7

 

สอบถามรายละเอียดหลักสูตร ป.เอก

 

📞 เบอร์โทรศัพท์ 02 696 6719  หรือ  084 073 0853

📧Email  : academic_phd@lsed.tu.ac.th

 

เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค